Hyperlapse And Slow motion Techniques for The interest and Excotic with Zero cut Technique in The Natural and Environmental Television Documentary Production
จัดทำโดย บุญฤทธิ์ เวชชัยโย;ปณิธาน สมกุล;วรวิทย์ คันหาดี และ ศุภกิตติ์ การะเกษ
สาขา เทคโนโลยีการโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียง
ปีการศึกษา 2559
บทคัดย่อ (ABSTRACT)
ปริญญานิพนธ์เล่มนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อการศึกษาการใช้เทคนิคบันทึกภาพแบบไฮเปอร์แลปส์ การลดความเร็วภาพ และการซ่อนรอยตัดต่อสำหรับผลิตสารคดีธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
การใช้เทคนิคบันทึกภาพแบบไฮเปอร์แลปส์ และลดความเร็วภาพเพื่อความน่าสนใจ พร้อมสร้างความแปลกใหม่ทางภาพด้วยการซ่อนรอยตัดต่อสำหรับผลิตสารคดีธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีวิธีการศึกษาคือ ทำการผลิตรายการสารคดีธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติเขาสก ในชื่อ “Natural Wonder” ความยาว 11 นาที ถ่ายทำโดยใช้กล้องจำนวน 2 ตัว คือ Sony A7S และ Canon EOS 5D Mark III จากนั้นนำมาทดสอบเพื่อประเมินผลกับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นบุคคลทั่วไป จำนวน 100 คน ซึ่งได้มาจากการสุ่มตัวอย่างแบบบังเอิญ โดยการทำแบบประเมิน และทำการประเมินเชิงคุณภาพ โดยการสัมภาษณ์แบบเจาะลึกจากผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อสารมวลชน จำนวน 3 ท่าน ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญด้านบทสารคดีธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้เชี่ยวชาญด้านภาพในงานสารคดี และผู้เชี่ยวชาญด้านการลำดับภาพ พร้อมวิเคราะห์ร่วมกับแนวทฤษฏีที่ใช้ในการศึกษา เพื่อสรุปผลและอภิปรายผลในการศึกษา
ผลการศึกษาสรุปได้ว่า การใช้เทคนิคบันทึกภาพแบบไฮเปอร์แลปส์ การลดความเร็วภาพ และการซ่อนรอยตัดต่อสำหรับผลิตสารคดีธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้น สามารถสร้างความแปลกใหม่ทางภาพ และเพิ่มอรรถรสในการรับชมให้กับสารคดีชิ้นนี้ได้ โดยเป็นไปตามแนวคิด และทฤษฎีที่กล่าวไว้ในบทที่ 2 และจากการที่ผู้เชี่ยวชาญทั้ง 3 ด้าน ได้ทำการอธิบาย ซึ่งตรงกับผลประเมินที่ทำการประเมินจากกลุ่มตัวอย่าง
วัตถุประสงค์ของการศึกษา
เพื่อเพิ่มอรรถรส และความแปลกใหม่ทางภาพในสารคดีธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วยการบันทึกภาพแบบย่นระยะเวลา การลดความเร็วภาพ และการซ่อนรอยตัดต่อ
ขอบเขตการศึกษา
เทคนิคการบันทึกภาพแบบไฮเปอร์แลปส์ และลดความเร็วภาพเพื่อความน่าสนใจ พร้อมสร้างความแปลกใหม่ทางภาพด้วยเทคนิคซ่อนรอยตัดต่อสำหรับการผลิตสารคดีธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยใช้รูปแบบการบรรยายแนะนำธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่รู้จักกันในนาม กุ้ยหลินเมืองไทย คือ ดอกบัวผุด น้ำตกธารสวรรค์ เขื่อนรัชชประภา และถ้ำปะการัง ที่อยู่ภายในบริเวณอุทยานแห่งชาติเขาสก ตำบลคลองสก อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพราะอุทยานแห่งชาติเขาสกมีความสมบูรณ์ทางธรรมชาติ ความยาวสารคดีประมาณ 10 นาที บันทึกภาพด้วยกล้อง DSLR Canon 5D Mark III และ Sony a7s หลักการทำเทคนิคภาพแบบไฮเปอร์แลปส์ ทำการบันทึกภาพเป็นภาพนิ่งบนอุปกรณ์รองรับกล้อง Manfrotto Tripod HDV504 โดยคิดคำนวณตามเวลาที่ต้องการถ่ายทำ สำหรับเทคนิคการลดความเร็วภาพ ทำการตั้งค่า shutter speed ที่ 50, 100 ภาพต่อวินาทีในขั้นตอนการผลิต ส่วนภาพที่ต้องการซ่อนรอยตัดต่อโดยการใช้วัตถุเป็นตัวเชื่อมจากภาพหนึ่งไปอีกภาพหนึ่ง ยึดตามทฤษฎีที่กล่าวว่า การเคลื่อนกล้องของทั้งสองภาพต้องมีความเร็ว และขนาดของภาพเท่ากัน มุมภาพต้องเหมือนกัน จากนั้นนำมาตัดต่อโดยใช้โปรแกรม Adobe Premiere Pro CS6 แล้วนำผลงานที่ได้ มาทดสอบกับกลุ่มตัวอย่าง รับชมผ่านจอคอมพิวเตอร์พกพา แบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 2 กลุ่ม 2 วิธีการศึกษา ได้แก่ วิธีที่ 1 สุ่มจากบุคคลทั่วไปจำนวน 100 คน และทำการตอบแบบสอบถามตามข้อที่กำหนด วิธีที่ 2 สัมภาษณ์แยกคำถามแต่ละด้านแบบเจาะลึก จำนวน 3 คน ได้แก่ ผู้มีความรู้ด้านบทสารคดีธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านภาพในงานสารคดี ด้านการลำดับภาพ จากนั้นนำข้อมูลมาประเมินผลหาค่าเฉลี่ยร้อยละ และค่ากลางเลขคณิต และนำมาแปลความ พร้อมกับวิเคราะห์ร่วมกับแนวทฤษฎีที่ได้ใช้ในการศึกษาเพื่ออภิปราย และสรุปผลการศึกษา
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
มีความเข้าใจเทคนิคบันทึกภาพแบบไฮเปอร์แลปส์ การลดความเร็วภาพ การซ่อนรอยตัดต่อ และนำไปปรับใช้กับลักษณะของงานโทรทัศน์ในรูปแบบรายการประเภทอื่น ๆ ได้
นิยามศัพท์เฉพาะ
- Hyperlapse เป็นการย่นระยะเวลา ที่จะเน้นเรื่องการเคลื่อนที่ของกล้องที่มีระยะทางไกล ๆ ให้มีความสม่ำเสมอ ซึ่งต่างจาก Time lapse ที่จะเน้นเกี่ยวกับเรื่องเวลามากกว่า
- การลดความเร็วภาพ เป็นการถ่ายภาพด้วยความเร็วสูงพอที่จะหยุดวัตถุที่มีความเร็วมากกว่าที่ตาคนมองเห็น เพื่อแสดงช่วงเสี้ยววินาทีนั้นให้ช้าพอที่ตาของคนเรามองทัน
- การซ่อนรอยตัดต่อ การเชื่อมช็อต 2 ช็อตที่มีความแตกต่างกัน แต่มีความสัมพันธ์ในเรื่องของขนาดภาพ มุมภาพ หรือวัตถุบางอย่างในภาพที่ทำให้เวลานำมาตัดต่อด้วยกัน และเหมือนไม่มีการตัดต่อ
สรุปและอภิปรายจากกลุ่มบุคคลทั่วไป
- ด้านเนื้อหาของรายการ
- รูปแบบของรายการสารคดีธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ท่านได้รับชมมีความแตกต่างจากรูปแบบการนำเสนอรายการสารคดีอื่นที่ท่านได้รับชมมา ทำให้เกิดความรู้สึกน่าติดตามมากน้อยเพียงใด คิดค่าเฉลี่ยกลางได้ 4.23 อยู่ในระดับ มาก ซึ่งอธิบายได้จากแนวคิดของ ธัญญา สังขพันธานนท์ (2548 : 152) กล่าวไว้ว่า การเขียนสารคดีเกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีกระบวนการ และขั้นตอนที่ไม่แตกต่างจากการเขียนสารคดีประเภทอื่น ๆ กล่าวคือ เริ่มจากการที่ผู้เขียนจะต้องเลือก ประเด็นหรือหัวข้อที่จะเขียน จากนั้นมีการสำรวจข้อมูล และเก็บข้อมูลเบื้องต้นเพื่อนำมากำหนดจุดเน้น แก่นเรื่อง และโครงเรื่อง และเขียนบทสารคดีในขั้นตอนต่อไป ซึ่งสามารถทำได้ในระดับที่แสดงให้เห็นจากค่าเฉลี่ยกลางในการประเมิน จึงเป็นไปตามแนวคิดที่กล่าวมาข้างต้น
- บทของรายการ Natural Wonder นั้นมีความสมบูรณ์ในด้านเนื้อหา รายละเอียดต่าง ๆ ทั้งด้านภาพและบทบรรยาย พร้อมทั้งอธิบายรายละเอียดได้ครบองค์ประกอบของรายการสารคดี คิดค่าเฉลี่ยกลางได้ 4.39 อยู่ในระดับ มาก ซึ่งอธิบายได้จากแนวคิดของ ดวงพร ทรัพยลักษณ์ (2549 : 7-8) กล่าวไว้ว่า ในทางปฏิบัติ การผลิตรายการสารคดีมีจุดมุ่งหมายที่สำคัญที่สุด คือ มุ่งเน้นเพื่อเสริมสร้างความรู้เป็นหัวใจสำคัญ สารคดีต้องให้ความรู้แก่ผู้ชม ดูแล้วเกิดความคิดต่อยอด การคิดต่อยอดจากการดูรายการสารคดี คือ การทำให้ผู้ชมได้รับความรู้เพิ่มขึ้นจนกระทั่งนำไปเสาะแสวงหาข้อมูลหลักฐานความจริงที่มาสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ต่อไปได้เสมอ ทุกเรื่องราวที่นำเสนอที่ผ่านสายตาโดยเฉพาะเป็นเรื่องราวใกล้ตัวคนส่วนใหญ่ที่บุคคลเหล่านั้นอาจจะมองข้ามไป อย่างกรณีเช่น การนำเสนอสารคดีเรื่องแม่น้ำ ผู้คนที่อาศัยอยู่ริมน้ำอาจจะไม่เคยคิดว่าเรื่องราวของแม่น้ำมีแง่มุมแบบนี้ด้วยหรือ ทำไมพวกเขาถึงได้มองข้ามกันไป รายการสารคดีจึงต้องทำให้เห็นว่าเรื่องราวของแม่น้ำที่พวกเขาคุ้นเคยยังมีแง่มุมอะไรอื่น ๆ ที่ต้องรู้อีกมากมาย การที่รายการสารคดีนำเสนอไปแล้วส่งผลให้ผู้ชมได้เรียนรู้มากขึ้น เสมือนว่า รายการสารคดีเป็นกระบวนการเสริมสร้างการเรียนรู้ของมนุษย์ โดยมีองค์ประกอบด้านภาพและเสียงเข้ามาช่วย แต่สององค์ประกอบนี้ขึ้นอยู่กับที่กระบวนการสร้างสรรค์ว่า จะทำอย่างไรเพื่อทำให้รายการสารคดีนั้นติดตา และน่าติดตามได้ตลอดเวลา จึงต้องอาศัยกระบวนการที่สร้างสรรค์ เพราะถ้าไม่ผ่านกระบวนการสร้างสรรค์ เป้าหมายจะทำให้ผู้ชมติดตามจนจบก็จะไม่เกิดขึ้น จากผลงานชิ้นนี้ผู้ศึกษาได้เขียนบทในรูปแบบที่อ้างอิงถึงข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง ผสมกับการใส่อารมณ์ร่วมลงไปในบทหรือข้อมูล เพื่อสร้างความเข้าใจในเนื้อหาของรายการแก่ผู้ชม ซึ่งสามารถทำได้ในระดับที่แสดงให้เห็นจากค่าเฉลี่ยกลางในการประเมิน จึงเป็นไปตามแนวคิดที่กล่าวมาข้างต้น
- รายการมีความเหมาะสมที่จะเป็นรายการสารคดีธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสามารถเล่าถึงประวัติ และที่ท่องเที่ยวภายในอุทยานแห่งชาติเขาสก มีความเข้าใจด้านข้อมูลและความสมบูรณ์ของรายการ คิดค่าเฉลี่ยกลางได้ 4.48 อยู่ในระดับ มาก ซึ่งอธิบายได้จากแนวคิดของ บริษัทพาโนราม่า เวิลด์ไวด์ (2549 : 11-12) อ้างถึงใน ศศิธร หนูสม และคณะ (2556) กล่าวไว้ว่า สารคดีธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นสารคดีที่พูดถึงเรื่องราวของธรรมชาติอาจจะรวมถึง คน สัตว์ ที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยส่วนใหญ่สารคดีประเภทนี้จะพูดถึงความงดงามของธรรมชาติ ชีวิต และพฤติกรรมของสัตว์ ทั้งสัตว์ป่าและสัตว์ทะเล ชีวิตคนเกี่ยวข้องกับธรรมชาติ การทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับมนุษย์และสัตว์
- รายการสารคดี เมื่อนำเทคนิคการลดความเร็วภาพ การบันทึกภาพแบบย่นระยะเวลาและ การซ่อนรอยตัดต่อมาใช้ในรายการแล้ว ช่วยเพิ่มความแปลกใหม่สำหรับการรับชมทางด้านภาพมากน้อยเพียงใด คิดค่าเฉลี่ยกลางได้ 4.54 อยู่ในระดับ มากที่สุด ซึ่งอธิบายได้จากแนวคิดของ สมาน งามสนิท (2532 : 834-835) กล่าวไว้ว่า การถ่ายภาพย่นเวลาหรือไทม์แลปส์ เป็นการถ่ายภาพเหตุการณ์ที่ใช้เวลานานกว่าจะเกิดขึ้นจนครบวงจร เช่น ภาพการสร้างตึกสูง ๆ อาจใช้เวลา 1 ปีจึงสร้างเสร็จ แต่การถ่ายภาพแบบย่นเวลาสามารถเห็นตึกค่อย ๆ ขึ้นจากที่ดินว่างเปล่าจนเป็นตึกได้ในเวลา 1 นาที หรือย่อเวลาจากชั่วโมงจากวันให้เป็นนาที ซึ่งเป็นภาพที่ให้ผลพิเศษ จากผลงานชิ้นนี้ผู้ศึกษาได้ทำการบันทึกภาพแบบย่นระยะเวลา เพื่อสร้างความน่าสนใจจากการที่ผู้ชมสามารถมองเห็นการย่นระยะจากเวลาจริงที่นานมาแสดงให้ได้เห็นในระยะเวลาที่สั้น เช่น ฉากที่ถ่ายจากทางเข้าไปยังป้ายเขื่อนรัชชประภา เป็นต้น
- รายการสารคดี ทำให้ตระหนักถึงความสำคัญของธรรมชาติส่งผลให้เกิดความรู้สึกอนุรักษ์แหล่งท่องเที่ยวให้สวยงามตลอดไปในสถานที่ที่รายการนำเสนอ (อุทยานแห่งชาติเขาสก) อยู่ที่ระดับใด คิดค่าเฉลี่ยกลางได้ 4.48 อยู่ในระดับ มาก ซึ่งอธิบายได้จากแนวคิดของ ธัญญา สังขพันธานนท์ (2548 : 152) กล่าวไว้ว่า การเขียนสารคดีประเภทนี้ จึงเป็นงานเขียนที่ค่อนข้างมีจุดมุ่งหมายโดยเฉพาะ นอกเหนือจากมุ่งให้สาระความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแก่ผู้อ่านแล้ว บางครั้งผู้เขียนอาจมีเจตนาที่จะกระตุ้นให้ผู้อ่านได้ตระหนักในความสำคัญของธรรมชาติและเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรง เพื่อก่อให้เกิดความเข้าใจ และจิตสำนึกในการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากผลงานชิ้นนี้ผู้ศึกษาได้เขียนบทในรูปแบบที่อ้างอิงถึงข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง ผสมกับการใส่อารมณ์ร่วมลงไปในบทหรือข้อมูล เพื่อสร้างความเข้าใจในเนื้อหา การอนุรักษ์ และตระหนักถึงความสำคัญธรรมชาติของรายการให้แก่ผู้ชม
- ด้านเทคนิคการบันทึกภาพแบบย่นระยะเวลา
- เทคนิคการบันทึกภาพแบบย่นระยะเวลา ในรายการสารคดี Natural Wonder สามารถทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงสถานที่ สร้างให้เกิดความรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงของเวลาในสถานที่ดังกล่าวของรายการสารคดีมากน้อยเพียงใด คิดค่าเฉลี่ยกลางได้ 4.50 อยู่ในระดับ มาก ซึ่งอธิบายได้จากแนวคิดของ ศุภนิต อารีหทัยรัตน์ (2540 : 103) กล่าวว่า วิธีที่ใช้การถ่ายเร่งหรือย่นระยะเวลา (Time Lapse) เป็นวิธีการถ่ายที่ต้องการให้เห็นถึงช่วงเวลาที่เกิดขึ้นนานมาก ต้องใช้เวลาเฝ้าคอย และอาจจะไม่เห็นอาการที่เคลื่อนไหว เป็นอาการเคลื่อนไหวช้าหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงช้า ดังนั้น การถ่ายลักษณะเร่งหรือย่นระยะเวลาให้เร็วขึ้นสามารถกระทำได้โดยวิธีถ่ายระยะหนึ่งแล้วหยุดระยะหนึ่ง ทำการถ่ายเช่นนี้ไป จนเหตุการณ์สิ้นสุด จากผลงานชิ้นนี้ผู้ศึกษาได้ทำการบันทึกภาพแบบย่นระยะเวลา เพื่อสร้างความน่าสนใจจากการที่ผู้ชมสามารถมองเห็นการย่นระยะจากเวลาจริงที่นานมาแสดงให้ได้เห็นในระยะเวลาที่สั้น อาทิเช่น ฉากที่ถ่ายจากทางเข้าไปยังป้ายเขื่อนรัชชประภา เป็นต้น
- คิดว่า เทคนิคการบันทึกภาพแบบย่นระยะเวลา ในรายการสารคดี Natural Wonder สามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงของเวลาได้มากน้อยเพียงใด คิดค่าเฉลี่ยกลางได้ 4.45 อยู่ในระดับ มาก ซึ่งอธิบายได้จากแนวคิดของ ปิยกุล เลาวัณย์ศิริ (2537 : 961) กล่าวว่า การใช้เทคนิค Time Lapse ทำให้สามารถเร่งการเคลื่อนไหวหรือการเปลี่ยนแปลงของสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ ให้ปรากฏบนจอภาพยนตร์อย่างรวดเร็ว จากผลงานชิ้นนี้ผู้ศึกษาได้ทำการบันทึกภาพแบบย่นระยะเวลา ที่มีการเปลี่ยนแปลงของเวลาที่ช้า มาไว้ในระยะเวลาอันสั้น อาทิ ฉากที่ถ่ายตรงหัวเรือแล้วเรือกำลังแล่นเข้าไปภายในเขื่อนรัชชประภา โดยทำให้ภาพมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของเวลา
- ด้านเทคนิคการลดความเร็วภาพ
- คิดว่า เทคนิคการลดความเร็วภาพ ในรายการสารคดี Natural Wonder ทำให้การชมสารคดีมีความรู้สึกเกิดการเปลี่ยนแปลงของภาพในความเร็วของวัตถุในแง่ของความรู้สึกอยู่ที่ระดับใด คิดค่าเฉลี่ยกลางได้ 4.60 อยู่ในระดับ มากที่สุด ซึ่งอธิบายได้จากแนวคิดของ สมาน งามสนิท (2544 : 832-834) กล่าวว่า การลดความเร็วภาพ ถ้าต้องการให้ภาพเคลื่อนไหวบนจอให้มีการเคลื่อนไหวช้า ๆ เพื่อดูรายละเอียดของการเคลื่อนไหวเวลาถ่ายภาพ ให้เปลี่ยนความเร็วของกล้องจากความเร็วจากความเร็วปกติ 24 ภาพต่อวินาที เป็น 48 ภาพต่อวินาทีหรือ 96 ภาพต่อวินาที หรือมากกว่า ใช้สำหรับฉากที่ต้องการดูรายละเอียดของการเคลื่อนไหว อาทิ วิถีกระสุน การเหวี่ยงหมัดของนักมวย การแตกหักของแก้วหรือกระจก แม้แต่ผู้แสดงถูกยิงที่มีเลือดและชิ้นส่วนกระเด็นออกมา
- หลังจากที่ได้รับชมรายการสารคดี Natural Wonder แล้วเทคนิคการลดความเร็วภาพทำให้มีความรู้สึกว่า ภาพมีความนุ่มนวล รับชมแล้วไม่รู้สึกติดขัด มากน้อยเพียงใด คิดค่าเฉลี่ยกลางได้ 4.57 อยู่ในระดับ มากที่สุด ซึ่งอธิบายได้จากแนวคิดของ ประพันธ์ หวังพัฒนศิริกุล (สัมภาษณ์, 21 มีนาคม 2556) อ้างถึงใน นีรนุช อุบล และคณะ (2556) กล่าวไว้ว่า โดยปกติคนทั่วไปจะมองเห็นกันใน 25 เฟรม อะไรที่เร็วกว่า 25 เฟรม จะมองไม่ทัน มองไม่เห็น ถ้ากรณีจะรินน้ำลงแก้วทำยังไงให้น้ำแก้วนี้น่ากินขึ้น การถ่ายด้วยกล้องถ่ายภาพความเร็วสูง (High Speed) มีส่วนช่วยมาก ทำให้ความรู้สึกเปลี่ยนไป จะเห็นน้ำเป็นสิ่งมีชีวิตสิ่งหนึ่งที่ค่อย ๆ ไหล เท กระแทกลงมาเป็นคลื่นใหญ่ ม้วนตัว จนกระทั่งอาจจะยกตัวขึ้นมาเป็นรูปมงกุฎแบบที่ชอบเห็นในงานโฆษณาหรือหนังสวยงามก็จะมีผลที่ต่างกัน ซึ่งจากผลงานชิ้นนี้ผู้ศึกษาได้ทำการนำภาพของน้ำตก นักท่องเที่ยวกระโดดน้ำ มาใช้ในเทคนิคนี้ เพื่อทำให้ภาพเกิดความมีมิติขึ้น
- ด้านเทคนิคการซ่อนรอยตัดต่อ
- คิดว่า เทคนิคการซ่อนรอยตัดต่อ ในรายการสารคดี Natural Wonder มีความต่อเนื่องและความลื่นไหลของการเปลี่ยนภาพในเรื่องของสถานที่มากน้อยเพียงใด คิดค่าเฉลี่ยกลางได้ 4.40 อยู่ในระดับ มาก ซึ่งอธิบายได้จากแนวคิดของ ชัยรัตน์ พิริยะวัฒนะกุล (สัมภาษณ์, 29 มกราคม 2559) อ้างถึงใน สุรกิจ นาโถ และคณะ (2558) กล่าวไว้ว่า การใช้เทคนิคการซ่อนรอยตัดต่อ เป็นการเชื่อมระหว่างช็อตสองช็อตเพื่อให้มีความต่อเนื่องกันโดยที่เกิดความลื่นไหลของภาพที่เกิดขึ้น และไม่ทำให้ผู้ชมรู้สึกถึงการตัดต่อ
- เทคนิคการซ่อนรอยตัดต่อ ในรายการสารคดี Natural Wonder ทำให้เกิดความรู้สึกเกิดการเปลี่ยนภาพโดยไหลลื่น อาทิเช่น ฉากที่เชื่อมสถานที่จากน้ำตกไปที่เขื่อนรัชชประภา คิดค่าเฉลี่ยกลางได้ 4.33 อยู่ในระดับมาก ซึ่งอธิบายได้จากแนวคิดของ วรรณี สำราญเวทย์ (2546 : 81) กล่าวว่า สวิชแพน เป็นการเคลื่อนไหวกล้องถ่ายภาพยนตร์ในลักษณะเดียวกับการแพน แต่จะมีความเร็วมากกว่าจนทำให้เกิดภาพพร่ามัว ไม่ชัดเจน ที่เรียกกันว่าภาพเบลอนั่นเอง สวิชแพนไม่ใช้ในการติดตามความเคลื่อนไหวของซับเจค แต่นิยมใช้เป็นเครื่องเปลี่ยนแปลงเวลา และสถานที่ในภาพยนตร์
- การนำเทคนิคซ่อนรอยตัดต่อ มาใช้กับงานสารคดีเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของภาพ มีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใด คิดค่าเฉลี่ยกลางได้ 4.48 อยู่ในระดับ มาก ซึ่งอธิบายได้จากแนวคิดของ รักศานต์ วิวัฒน์สินอุดม (2546 : 224) กล่าวว่า การแพนอย่างรวดเร็ว (Swish Pan) ทำให้ภาพพร่ามัว ไม่คมชัด ให้ความหมายของการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของการเวลา เช่น จากกลางวันเป็นกลางคืน โดยใช้เวลาเพียง 3 วินาที แตกต่างกับเวลาในโลกแห่งความเป็นจริง
- ด้านเสียงและบทบรรยาย
- เมื่อได้รับชมรายการสารคดี Natural Wonder แล้ว ดนตรีประกอบให้ความรู้สึกยิ่งใหญ่ อลังการ และเหมาะสมมากหรือน้อยเพียงใด อาทิ ฉากน้ำตกกำลังไหลลงมาจากยอดเขา คิดค่าเฉลี่ยกลางได้ 4.55 อยู่ในระดับ มากที่สุด ซึ่งอธิบายได้จากแนวคิดของ สมสุข หินวิมานและคณะ (2557 : 105) กล่าวว่า เสียงดนตรีเป็นส่วนประกอบที่สำคัญสำหรับการเล่าเรื่องทุกรูปแบบ เช่น ละคร ภาพยนตร์ รวมถึงสารคดีด้วย หน้าที่ของดนตรี คือ ควบคุมอารมณ์ของเรื่องที่เล่าในขณะนั้น และเสียงดนตรีสามารถช่วยเพิ่มอรรถรส และช่วยให้ผู้ชมสารคดีเกิดอารมณ์คล้อยตามเรื่องราวที่นำเสนอ การเลือกเพลงหรือเสียงดนตรีที่เหมาะสมจะช่วยให้สารคดีสื่อความหมายได้ตรงกับที่ผู้ผลิตต้องการ ทั้งนี้ต้องเลือกใช้เสียงดนตรีที่หลากหลาย เข้ากับประเด็นของเรื่อง และเหมาะสมกับทุกยุคสมัยของเหตุการณ์ หรือบุคคลที่นำเสนอ จากผลงานชิ้นนี้ กลุ่มผู้ศึกษาเลือกใช้ดนตรีประกอบที่ทำให้ดูยิ่งใหญ่ อลังการ มีการผ่อนและเร่งตามจังหวะของบท เพื่อให้เหมาะสมกับประเด็นของบทและเนื้อหา
- เมื่อได้รับชมรายการสารคดี Natural Wonder แล้ว คิดว่า เสียงบรรยายมีความเหมาะสมในด้านการออกน้ำหนักเสียงถูกต้องตามอักขระ มากน้อยเพียงใด คิดค่าเฉลี่ยกลางได้ 4.32 อยู่ในระดับ มาก ซึ่งอธิบายได้จากแนวคิดของ สุมน อยู่สิน, เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ และ นภาภรณ์ อัจฉริยะกุล (2546 : 61 -63) กล่าวว่า สิ่งสำคัญของเสียงพูด คือ การคัดเลือก การควบคุม การกำกับเสียง ให้เสียงมีความชัดเจนในการฟัง ไม่ว่าจะเป็นเสียงประเภทใด ต้องมีความชัดเจนที่ทำให้ผู้ฟังบ่งบอกและแบ่งแยกได้ว่า เสียงที่ได้ยินนั้นเป็นเสียงของเพศใด อายุเท่าไร หรือแม้กระทั่งระบุได้ว่า รูปร่าง ลักษณะนิสัย หรือสภาพร่างกายและจิตใจในตอนนั้นเป็นอย่างไร ซึ่งทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรูปแบบและเนื้อหาของรายการด้วย แต่ไม่ว่าจะเป็นการเสนอเสียงในรายการรูปแบบใด เสียงนั้นต้องมีความชัดเจนที่สามารถบ่งบอกและแบ่งแยกได้จากเสียงอื่น ๆ เพื่อการรับข่าวสาร ข้อมูล ความบันเทิงที่ถูกต้อง และไม่สับสน
การเสนอเสียง เป็นศิลปะอย่างหนึ่ง และเป็นศิลปะที่จะต้องประกอบด้วยความรู้ ความชำนาญ เพราะผู้ฟังไม่ได้เห็นหน้าตาและอากัปกิริยาของผู้พูด โดยควรมีคุณสมดังนี้ คือ 1) น้ำเสียงชัดเจน 2) อักขรวิธีถูกต้อง 3) ลีลาการนำเสนอน่าฟัง 4) ให้อารมณ์ 5) สื่อความหมายได้
โดยทั้งหมดนี้ เป็นคุณสมบัติที่จำเป็นของเสียงที่ใช้ในการพูด ซึ่งเป็นเรื่องที่ประกอบกันระหว่างธรรมชาติของเสียง คือ น้ำเสียงหรือพื้นเสียงกับการฝึกฝน โดยในงานวิทยุโทรทัศน์กระจายเสียง ไม่มีเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่จะวัดหรือระบุได้ว่าเสียงลักษณะใดเป็นเสียงที่เพราะที่สุด แม้แต่การวัดด้วยหูของคน เพราะคนแต่ละคนก็อาจจะมีความชอบในลักษณะของน้ำเสียงไม่เหมือนกัน แต่คุณสมบัติที่จำเป็นสำหรับเสียง ต้องเป็นเสียงที่มีพลัง ทั้งในน้ำเสียงและความหมาย เป็นเสียงเสียงที่เปล่งออกมาด้วยความมั่นใจในข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ อารมณ์ และจินตนาการ ที่สอดคล้องหรือเป็นไปตามเนื้อหาที่นำเสนอ
สรุปผลและอภิปรายผลจากผู้เชี่ยวชาญ
ผู้เชี่ยวชาญด้านบทสารคดีธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ดร.ประภาส นวลเนตร ได้กล่าวไว้ว่า ได้ในระดับหนึ่งก็คือ ความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติเรื่องน้ำตก เขื่อน บัวผุด แต่ที่สำคัญ คือ วัตถุประสงค์คุณมุ่งให้สาระเรื่องธรรมชาติ แต่ว่า ไม่มีข้อมูลมีแต่บทพูด อย่าลืมว่า สื่อที่เป็นรายการโทรทัศน์นั้น ภาพสำคัญกว่าเสียง คือ คุณต้องให้ข้อมูลในภาพให้เยอะกว่านี้ คือ ในเรื่องของ Info Graphic พวกตัวอักษร พวกแคปชั่น ซึ่งสอดคล้องบางส่วนกับแนวคิดของ ธัญญา สังขพันธานนท์ (2548 : 152) การเขียนสารคดีประเภทนี้ จึงเป็นงานเขียนที่ค่อนข้างมีจุดมุ่งหมาย โดยเฉพาะ นอกเหนือจากมุ่งให้สาระความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแก่ผู้อ่านแล้ว บางครั้งผู้เขียนอาจมีเจตนาที่จะกระตุ้นให้ผู้อ่านได้ตระหนักในความสำคัญของธรรมชาติและเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรง เพื่อก่อให้เกิดความเข้าใจ และจิตสำนึกในการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
มีความเหมาะสมในระดับหนึ่ง แต่ควรมีเสียงธรรมชาติเยอะกว่านี้ ปล่อยเสียงดนตรีให้หายไปบ้าง แล้วเอาเสียงธรรมชาติเข้าไปบ้าง เสียงที่เราอยากได้ยิน เสียงนก เสียงน้ำ เสียงในป่าที่เราอยากได้ยิน ดนตรีมันมากลบซะหมด ส่วนดนตรีประกอบที่นำมาใช้ถือว่า โอเคเลย สามารถกลมกลืนเข้ากับภาพได้ ซึ่งตรงกับแนวคิดของ ภิญโญ ช่างสาน (2539 : 389) กล่าวไว้ว่า การใช้ภาษาในการเขียนบทวิทยุโทรทัศน์โดยทั่วไปมีลักษณะคล้ายกับการใช้ภาษาในการเขียนบทวิทยุกระจายเสียง ต่างกันที่การใช้ภาษาในการเขียนบทวิทยุกระจายเสียง เป็นการใช้ภาษาเพื่อการฟังเพียงอย่างเดียว แต่การใช้ภาษาในการเขียนบทวิทยุโทรทัศน์ เป็นการใช้ภาษาเพื่อการดูและฟังประกอบกัน เพราะวิทยุโทรทัศน์เป็นสื่อที่สามารถสื่อสารด้วยวัจนภาษาได้ ได้แก่ คำพูด คำอ่าน คำบรรยาย และอวัจนภาษา ได้แก่ ภาพ การเคลื่อนไหว แสง สี เสียงดนตรี เสียงประกอบ และความเงียบได้อย่างชัดเจน ฉะนั้นการใช้ภาษาในการเขียนบทวิทยุโทรทัศน์ จึงควรคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้
- ใช้ภาษาสำนวนสนทนาที่ง่าย กระชับ ชัดเจน สื่อได้ทั้งภาพ และเสียงประกอบกันอย่างกลมกลืน
- ใช้ภาษาที่สร้างสรรค์ ไม่ใช้ถ้อยคำยั่วยุ บิดเบือน หรือเสียดสีผู้อื่น จนก่อให้เกิดความสับสน หรือเกิดการแตกแยกขึ้นในสังคม
- ใช้ศัพท์เทคนิคได้อย่างถูกต้อง เพื่อจะได้ระบุลงไปให้แน่ชัดว่า ในแต่ละช็อต ในแต่ละฉาก ควรจะสื่อด้วยภาพอย่างไร จึงจะเหมาะกับเนื้อหาสาระ และน่าสนใจ
มันดูเป็นธรรมชาติดี การให้ข้อมูลมันก็ดูให้ข้อเท็จจริงให้กับผู้ชมได้รับรู้ในระดับหนึ่ง แต่ข้อที่สำคัญ คือ ผมเสียดายอยู่อย่างหนึ่ง เช่น ตอนที่เราพูดถึงข้อมูลตรงนี้ เราไปเอาข้อมูลมาจากไหน มันเชื่อได้แค่ไหน อย่างที่สอง ถ้าคิดว่า จะให้น้ำหนักมันดีขึ้นมันควรจะเอาตัวจริงเสียงจริง คนที่รู้จริง ๆ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของดวงพร ทรัพยลักษณ์ (2549 : 7-8) ที่กล่าวไว้ว่า เพื่อให้ข้อเท็จจริง การนำเสนอสารคดีให้ข้อเท็จจริงที่หลากหลาย อาจจะไม่ครบถ้วน แต่ต้องถูกต้องตามความเป็นจริงทั้งหมด การผลิตรายการสารคดีที่ดีต้องหลีกเลี่ยงการใส่ความคิดเห็นของคนเขียนบท นอกจากความคิดเห็นนั้นเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลบนพื้นฐานแห่งข้อเท็จจริง
รายการของคุณเนี่ยมันจะออกให้ข้อมูลมาก มากกว่าการที่จะทำให้ตื่นเต้น แต่เนื่องจากมันสั้น มันก็เลยไม่ได้ผิดอะไร แต่ถ้ายาวกว่านี้ก็อาจจะจำเป็น เช่น การเปลี่ยนภาพในหลายมุมมอง เป็นต้น แต่มันก็โอเค เพลิดเพลินไปเรื่อย ๆ เข้าใจง่ายเพราะระยะเวลามันสั้น แต่ถามว่า เร้าใจไหม มันยังไม่รู้สึกเร้าใจมาก แต่ว่ามันรู้สึกว่า Unseen เพราะผมยังไม่เคยไปเขาสกมาก่อน มันก็เลยรู้สึกว่า เร้าใจในการดูครั้งแรก การดำเนินเรื่องมันก็เรื่อย ๆ กระชับ โอเคดี ซึ่งตรงกับแนวคิดของ ปมุข ศุภสาร (2539 : 250) กล่าวว่า การผลิตรายการสารคดีทางโทรทัศน์ คือ รายการที่ผลิตเพื่อให้ความรู้และข่าวสารแก่ผู้ชม การที่จะกำหนดว่า รายการสารคดีจะดีหรือไม่ดีอย่างไร จะต้องมีข้อควรในการพิจารณาดังต่อไปนี้
- ต้องเข้าใจง่าย ผู้ที่จะรายงานสารคดีควรใช้สำนวนภาษาที่บุคคลทั่วไปเข้าใจง่ายไม่ใช่สำนวนเฉพาะกลุ่มเช่น ภาษาของวัยรุ่น หรือของบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
- ให้ความเพลิดเพลิน มีการดำเนินเรื่องที่ดี ทำให้ผู้ชมเข้าถึงเนื้อเรื่อง และติดตามชมอย่างเพลิดเพลินไม่รู้สึกเบื่อหน่าย
- ให้ความเร้าใจ นำเสนอเรื่องราวที่น่าติดตาม และเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นสด ๆ ร้อน ๆ รวมทั้งนำเสนอความแปลกใหม่ที่ไม่ซ้ำแบบใคร
- ดำเนินเรื่องกระชับ การผลิตรายการสารคดีจะต้องดำเนินเรื่องให้กระชับ ไม่ยืดยาวจนเกินไปทำให้ผู้ชมเกิดความเบื่อหน่าย
ผู้เชี่ยวชาญด้านภาพในงานสารคดี
นายไวโรจน์ ศรีสุวรรณ ได้กล่าวไว้ว่า มีลูกเล่น คือ ดีที่รู้จักนำเอาเทคนิคนี้มาใช้ในงาน คือ มีความคิดสร้างสรรค์และมีความแปลกใหม่ในงานสารคดี เพราะส่วนมากจะเป็นการไทม์แลปส์แบบนิ่ง ๆ ดูแล้วรู้สึกว่า มันย่นระยะเวลาได้จริงแล้วมี Movement เข้ามาเลยรู้สึกว่า แปลกใหม่ดีสำหรับงานสารคดี ตรงกับแนวคิดของ Jackson K. (1981 : 1254) กล่าวว่า Hyperlapse เป็นเทคนิคการเปิดรับแสงในการถ่ายภาพแบบย่นระยะเวลาซึ่งตำแหน่งของกล้องจะถูกเปลี่ยนระหว่างการลั่นชัตเตอร์แต่ละภาพ ตรงกันข้ามกับการถ่าย Motion Timelapse ที่เป็นการเคลื่อนกล้องในระยะสั้น แต่ในการถ่าย Hyperlapse จะเคลื่อนกล้องในระยะทางที่ยาวมาก
วิธีการถ่าย Hyperlapse จะเป็นการถ่ายในเวลาที่เป็นจริง กล้องมักจะมุ่งเป้าไปที่วัตถุที่กำหนดไว้ตลอด และในขณะที่เปลี่ยนตำแหน่งของกล้องในระยะทางไกล การเคลื่อนกล้องอาจทำได้โดยการเดินเพื่อที่จะสามารถเคลื่อนที่ได้แบบไม่ต้องมีรางดอลลี่ และนำภาพที่ได้มาเรียงกันในขั้นตอนการตัดต่อเพื่อทำให้เป็นภาพเคลื่อนไหว
ดี รู้จักใช้ดีแต่มันไม่อลังการตรงที่รีบตัดภาพไปหน่อย เหมือนการตัดต่อยังไม่รู้จังหวะเท่าที่ควร มันเลยออกมาดูไม่ค่อยยิ่งใหญ่เท่าไร แต่ก็รู้สึกว่า มันโอเค ความรู้สึกไม่ค่อยเปลี่ยนมันก็เพลินตามไปกับสารคดี ดูแล้วไม่ค่อยขัดเท่าไร ซึ่งสอดคล้องบางส่วนกับแนวคิดของ ประพันธ์ หวังพัฒนศิริกุล (สัมภาษณ์, 21 มีนาคม 2556) อ้างถึงใน นีรนุช อุบล และคณะ (2556) กล่าวว่า โดยปกติคนทั่วไปจะมองเห็นกันใน 25 เฟรม อะไรที่เร็วกว่า 25 เฟรม จะมองไม่ทัน มองไม่เห็น ถ้ากรณีจะรินน้ำลงแก้วทำยังไงให้น้ำแก้วนี้น่ากินขึ้น การถ่ายด้วยกล้องถ่ายภาพความเร็วสูง (High Speed) มีส่วนช่วยมาก ทำให้ความรู้สึกเปลี่ยนไป จะเห็นน้ำเป็นสิ่งมีชีวิตสิ่งหนึ่งที่ค่อย ๆ ไหล เท กระแทกลงมาเป็นคลื่นใหญ่ ม้วนตัว
รู้สึกเฉย ๆ มันเหมือนเป็นเทคนิคที่ธรรมดามากแต่มันก็ลื่นไหลนะ ดูแล้วไม่รู้ว่า ตัดต่อ พี่คิดว่า มันเลื่อนผ่านหินแล้วไปเจอด้วยซ้ำ แต่เรื่องแบบนี้ไม่ค่อยนิยมใช้เทคนิคนี้ซักเท่าไร แต่เราจะเน้นแบบอลังการกับสวย เพราะคนดูเรื่องนี้จะรู้สึกแบบดึงดูดยากไปดูสักที คนเขาไม่ต้องการที่จะดูเทคนิคนี้สักเท่าไร ซึ่งสอดคล้องบางส่วนกับแนวคิดของ ชัยรัตน์ พิริยะวัฒนะกุล (สัมภาษณ์, 29 มกราคม 2559) อ้างถึงใน สุรกิจ นาโถ และคณะ (2558) กล่าวว่า การใช้เทคนิคการซ่อนรอยตัดต่อ เป็นการเชื่อมระหว่างช็อตสองช็อตเพื่อให้มีความต่อเนื่องกันโดยที่เกิดความลื่นไหลของภาพที่เกิดขึ้น และไม่ทำให้ผู้ชมรู้สึกถึงการตัดต่อ ส่วนมากจะใช้เชื่อมสถานที่ เวลา หรือเหตุการณ์ที่เชื่อมโยงกัน
ก็ดีอยู่ในระดับนึงถือว่า ไหลลื่นดี ดูแล้วไม่รู้สึกติดขัด ๆ แต่มันแปลก ตรงที่เนิบมาตลอด อยู่ดี ๆ มาเปลี่ยนสถานที่แบบไว ๆ ตรงนี้มันเลยแปลกแต่มันก็ไม่ได้ผิดอะไร ตรงกับแนวคิดของ สนั่น ปัทมะทิน (2549 : 466) กล่าวไว้ว่า การแพนอย่างรวดเร็ว (Swish Pan) คือ ภาพพร่ามัวเป็นทาง ๆ ในแนวราบ สังเกตไม่ได้ว่า เป็นภาพอะไร ภาพนี้เกิดจากการแพนกล้อง (Panning) อย่างรวดเร็ว บันทึกภาพชัดไม่ได้ แพนจากภาพสุดท้ายที่ชัดของฉากหนึ่ง มองเห็นเป็นทางพร่า ๆ ไปสู่ภาพแรกของฉากต่อไป
การแพนอย่างรวดเร็วนี้ ใช้เชื่อมโยงภาพยนตร์สองฉาก เพื่อแสดงว่าภาพยนตร์ฉากหลังอยู่ในสถานที่ห่างไกลจากภาพยนตร์ในฉากแรก มีเหตุการณ์เกิดขึ้นพร้อมกันหรือในขณะเดียวกับภาพยนตร์ในฉากแรก หรือเพื่อแสดงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพร้อมกันในสถานที่ต่างกันสถานที่ทั้งสองแห่งจะอยู่ห่างกันมากหรือน้อยเพียงใด ผู้ชมจะสังเกตได้จากความยาวของการแพนอย่างรวดเร็วนี้ถ้าปรากฏให้เห็นบนจอเป็นเวลานาน แสดงว่า สถานที่อยู่ห่างไกลจากสถานที่แรกมาก ถ้าปรากฏให้เห็นบนจอชั่วแวบเดียว ก็แสดงว่าสถานที่ทั้งสองอยู่ใกล้กัน
ผู้เชี่ยวชาญด้านการลำดับภาพ
นายอภิวัฒน์ เกิดสมกาล ได้กล่าวไว้ว่า มันก็ถือว่า ลื่นไหลในระดับหนึ่ง แต่เราควรจะเปลี่ยนสถานที่ถ้าจะใช้เทคนิคนี้ เพราะในภาพนี้รู้สึกว่า มันเหมือนเดิม มันคือหิน เปลี่ยนไปอีกช็อตนึงมันก็ยังเป็นหิน มันเลยรู้สึกว่า เหมือนเดิม ซึ่งสอดคล้องบางส่วนกับแนวคิดของ Roger Ebert (www.rogerebert.com, 2004) อ้างถึงใน สุรกิจ นาโถ และคณะ (2558) กล่าวว่า เทคนิคทางภาพโดยการกวาดภาพ ๆ หนึ่งออกจากหน้าจอ แต่ในขณะเดียวกันมีอีกภาพเข้ามาแทน การซ่อนรอยตัดต่อเป็นการแทรกภาพที่ทำให้ผู้ชมไม่สามารถสังเกตเห็นหรือกระทบระหว่างใช้เทคนิค โดยใช้เทคนิคนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพซึ่งถ่ายจากภาพขนาดใหญ่เป็นภาพขนาดเล็ก
ลื่นไหลดูแล้วไม่รู้สึกถึงการตัดต่อ แต่มันขัดกับโทนของรายการ เพราะรายการของเรามาเนิบ ๆ อยู่ดี ๆ มันมาแบบ ไว ๆ มันก็เลยดูขัด ๆ กับโทนของรายการเราที่มาเนิบตลอด ถ้าจะมีควรจะมีเพิ่มอีกสัก หนึ่งหรือสองจุดในรายการ ตรงกับแนวคิดของ สุทัศน์ บุรีภักดี (2529 : 295) กล่าวว่า การแพนกล้องอย่างรวดเร็วมากจนทำให้ไม่สามารถเห็นภาพที่ชัดเจนได้ การนำมาใช้ก็เพื่อหวังผลพิเศษ เพื่อเชื่อมการถ่ายจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง ซึ่งนำมาใช้ประโยชน์ในการถ่ายภาพได้มาก เช่น
- นำมาเพื่อเปลี่ยนเวลาหรือสถานที่ในขณะดำเนินเรื่องอยู่
- นำมาเชื่อมโยงสิ่งที่ถ่ายคล้ายคลึงกัน หรือสาระเดียวกันแต่ต่างสถานที่
มันต่อเนื่องนะแต่ว่ามันดูอืด ๆไปหน่อย ตอนเปลี่ยนสถานที่ บางทีก็ควรจะมี Quick Cut หรืออะไร ให้มันไม่เบื่อนิดนึง เพราะว่าเวลาเล่าเรื่องยาว ๆ มันดูเบื่อนะ อีกอย่างหนึ่ง คือ มันไม่มี Info Graphic ด้วย และก็ช่วงประมาณ 2 นาทีแรก ถ้าตัดให้มันเร็วและดูน่าสนใจ คือ แบบเปิดหัวก่อนอะ มันก็จะทำให้น่าสนใจขึ้นมาเยอะอยู่นะ ตรงกับแนวคิดของ ดารา รัชนิวัต (2547 : 265) กล่าวว่า การตัดต่อลำดับภาพเป็นการตัดเอาส่วนที่เริ่มต้นและตอนท้ายของช็อตที่ซ้อนกันอยู่ (Overlap) ออก ตัดการแสดง (Action) และเทค (Take) หรือตัดฉาก (Scene) ที่ไม่ดีและฟุ่มเฟือยออกมา จนเหลือเฉพาะส่วนที่จะนำมาเรียงต่อกัน ได้อย่างเหมาะสมและสัมพันธ์กันทั้งภาพและเสียง ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความสวยงามเชื่อมโยงต่อเนื่องกันอย่างมีคุณภาพและได้คุณค่าทั้งเนื้อหาสาระและอารมณ์ จนสามารถโน้มน้าวจิตใจคนให้มีความสนใจตั้งแต่ต้นจนจบความสำคัญของการตัดต่อภาพ
สอดคล้องอยู่นะ แต่ก็อย่างที่บอกเสียงประกอบและเสียงบรรยายที่นำมาใช้กับบทเนี่ย บทก็อย่างที่บอก Voice over มันยังเป็น โมโนโทน ในการเล่าเรื่องก็ยังแบบไม่ดึงดูดความน่าสนใจในเนื้อหา มันก็จะทำให้บทบรรยายดรอปลงไปด้วย มันจะทำให้ดูยืดและก็จะดูเบื่อ มันจะไม่รู้สึกว่า ดึงคนดูให้อยู่ได้ ถ้าเปลี่ยนเสียงประกอบบางช่วง เป็นคนพูดก็ได้นะ ไม่ต้องถึงกับมีพิธีกรแค่แบบมีชาวบ้านที่รู้เรื่อง เอาเสียงเขามาเข้ามาแทรกบ้างก็ได้ เพราะว่าตอนนี้มันเป็นเสียงดนตรีทั้งเรื่องไง และก็ถ้าเราสามารถย่นให้มันเร็วขึ้นได้ก็จะดีเปลี่ยนภาพไวกว่านี้หน่อยมันก็จะดูไม่น่าเบื่อ ตรงกับแนวคิดของ วิลาวัลย์ สมยาโรน (2557 : 6) กล่าวว่า การตัดต่อ หมายถึง การลำดับภาพหลายภาพมาประกอบกัน โดยเรียงร้อยตามสคริป ไม่ให้ภาพขัดกับความรู้สึก หรือมีเหตุการณ์ซ้ำซ้อนกัน จากนั้นใช้เทคนิคการตัดต่อให้ภาพและเสียงมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกัน โดยรักษาคุณภาพของภาพและเสียงให้กลมกลืนกัน
ปัญหาและข้อเสนอแนะ
จากการศึกษาการใช้เทคนิคบันทึกภาพแบบไฮเปอร์แลปส์ และลดความเร็วภาพเพื่อความน่าสนใจ พร้อมสร้างความแปลกใหม่ทางภาพด้วยการซ่อนรอยตัดต่อสำหรับผลิตสารคดีธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กลุ่มผู้ศึกษาได้มีข้อเสนอแนะเพื่อเป็นประโยชน์ในการนำผลงานชิ้นนี้ไปทำการต่อยอดในการศึกษาต่อไป ดังนี้
- ในส่วนของเนื้อหารายการควรเพิ่มข้อมูล เช่น ตัวอักษร ,Info Graphic เป็นต้น
- การทำเทคนิคซ่อนรอยตัดต่อ ควรจะใช้สถานที่ที่แตกต่างกันซึ่งจะทำให้เห็นความแตกต่างระหว่าง 2 ช็อตได้มากกว่า
- กล้อง GoPro ที่นำมาใช้ได้นำไปถ่ายใต้น้ำกับไฮเปอร์แลปส์ แต่ภาพที่ได้ใต้น้ำไม่สามารถนำมาใช้ได้เพราะมีฝ้าขึ้นเลยไม่ได้ใช้ ส่วนที่เอามาใช้ในส่วนของไฮเปอร์แลปส์ เพราะเมนูของ GoPro สามารถตั้งค่าถ่ายไทม์แลปส์ได้เลยเลือกใช้ตอนฉากที่อยู่หัวเรือ เพราะถ้าใช้กล้อง DSLR จะเสี่ยงต่ออุปกรณ์และภาพที่ได้อาจจะสั่นไหว