Police officer ’s Satisfaction toward Reorganization : A case study of Central Investigation Bureau Royal Thai Police
โดย เจนกมล คำนวล
ปี 2549
บทคัดย่อ (Abstract)
วิทยานิพนธ์นี้ เป็นการศึกษาวิจัยถึงความพึงพอใจของข้าราชการตำรวจที่มีต่อการปรับโครงสร้างองค์กร โดยทำการศึกษาจากกรณีที่มีการปรับโครงสร้างองค์กรของกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตามที่ได้มีการปรับโครงสร้างสำนักงานตำรวจแห่งชาติในพ.ศ.2548 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงระดับความพึงพอใจ และปัจจัยที่มีผลต่อความพึงพอใจต่อการปรับโครงสร้างองค์กรของข้าราชการตำรวจที่ดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับต้น และระดับกลางในสังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
กลุ่มประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ คือข้าราชการตำรวจระดับสารวัตร รองผู้กำกับการและผู้กำกับการ ในสังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบสัดส่วน แยกตามระดับตำแหน่ง และตามหน่วยสังกัด จำนวนกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด215 คน เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม ที่ให้กลุ่มตัวอย่างกรอกคำตอบในแบบสอบถามด้วยตนเองการวิเคราะห์ข้อมูลใช้โปรแกรม SPSS สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าความถี่ร้อยละ ค่าเฉลี่ยค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน t – test และ One-Way ANOVA ทั้งนี้ได้ใช้ค่านัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และ .01 ซึ่งจากการศึกษา สรุปผลการวิจัยได้ดังนี้
1. ส่วนใหญ่เป็นเพศชายที่มีอายุ 31 – 40 ปี สถานภาพสมรส ระดับการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ดำรงตำแหน่งระดับสารวัตรหรือเทียบเท่า ระยะเวลาที่รับราชการเป็นตำรวจชั้นสัญญาบัตร 11-20 ปี มีรายได้ ที่ได้รับจากทางราชการ 20,001 – 30,000 บาท มีหน้าที่รับผิดชอบงานด้านการสืบสวน ป้องกัน ปราบปราม และส่วนใหญ่เคยรับราชการสังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางก่อนที่จะมีการปรับโครงสร้างใน พ.ศ.2548
2. ความเปลี่ยนแปลงสืบเนื่องจากการปรับโครงสร้างองค์กรของกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ในพ.ศ. 2548 ที่มีต่อตำแหน่งที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันของกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นการเปลี่ยนชื่อตำแหน่งให้แตกต่างไปจากเดิมโดยที่ภารกิจหน้าที่และพื้นที่รับผิดชอบยังคงเดิมเหมือนกับก่อนการปรับโครงสร้างแต่มีการปรับเปลี่ยนสายการบังคับบัญชา ส่วนความเปลี่ยนแปลงที่มีต่อหน่วยงานที่สังกัดอยู่นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นการคงไว้ซึ่งหน่วยงานที่มีอยู่เดิม เพียงแต่มีการเปลี่ยนชื่อหน่วยงานให้แตกต่างจากเดิม โดยที่ภารกิจหน้าที่ของหน่วยงานก็ยังคงเดิมเหมือนกับก่อนมีการปรับโครงสร้าง แต่มีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่รับผิดชอบภายในหน่วยงาน และมีการเพิ่มหน่วยงานย่อยและตำแหน่งขึ้นใหม่ภายในหน่วยงาน
3. ระดับความพึงพอใจต่อการปรับโครงสร้างกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง พบว่าข้าราชการตำรวจที่ดำรงตำแหน่งผู้บริหารในระดับต้นและระดับกลางในสังกัดมีความพึงพอใจสูงต่อโครงสร้างใหม่ในด้านสมรรถนะขององค์กร การบังคับบัญชา การกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมการสื่อสารสั่งการ การประสานงาน รวมถึงด้านอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบ แต่มีความพึงพอใจปานกลางในด้านความมั่นคงในงานและโอกาสก้าวหน้า และในด้านสิทธิประโยชน์ของข้าราชการตำรวจที่จะได้รับ เนื่องจากการปรับโครงสร้าง
4. ด้านลักษณะทางประชากรศาสตร์ พบว่าความแตกต่างในเรื่องเพศ อายุ ระดับการศึกษาหน้าที่รับผิดชอบ อายุราชการ รวมถึงรายได้ ที่แตกต่างกัน มีผลต่อความพึงพอใจต่อการปรับโครงสร้างองค์กรแตกต่างกัน ยกเว้นความแตกต่างทางด้านสถานภาพทางครอบครัว และระดับตำแหน่งเท่านั้น ที่มีผลต่อความพึงพอใจต่อการปรับโครงสร้างองค์กรไม่แตกต่างกัน
5. ความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับตำแหน่งของกลุ่มตัวอย่าง อันเนื่องมาจากการปรับโครงสร้างองค์กร ในภาพรวมพบว่า ความเปลี่ยนแปลงของตำแหน่งในลักษณะต่างๆที่แตกต่างกันมีผลต่อความพึงพอใจที่มีต่อการปรับโครงสร้างองค์กรแตกต่างกัน
6. ความเปลี่ยนแปลงในหน่วยงานอันเนื่องมาจากการปรับโครงสร้างองค์กรในภาพรวมพบว่าความเปลี่ยนแปลงของหน่วยงานในลักษณะต่างๆที่แตกต่างกัน มีผลต่อความพึงพอใจที่มีต่อการปรับโครงสร้างองค์กรแตกต่างกัน