By ธีระพงษ์ ควรคำนวน และ สุนทร เฉินประยูร
Year 2013
The 14th TSAE National Conference and the 6th TSAE International Conference : TSAE 2013. p.727-732
Abstract
โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำพระเพลิง เป็นโครงการชลประทานขนาดใหญ่ ประเภทกักเก็บน้ำ และส่งน้ำเข้าพื้นที่เพาะปลูกด้วยวิธี Gravity ซึ่งแหล่งน้ำของโครงการฯ มาจากอ่างเก็บน้ำลำพระเพลิงและอ่างเก็บน้ำลำสำลาย โดยมีพื้นที่ชลประทาน ฤดูฝน 67,760 ไร่ และ 17,200 ไร่ ฤดูแล้ง 40,000 ไร่ และ 12,000 ไร่ ตามลำดับ เนื่องจากที่ผ่านมาผลิตผลทางการเกษตรโดยเฉพาะข้าวให้ผลตอบแทนสูง ส่งผลให้เกษตรกรมีความต้องการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกมากขึ้น แต่เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนมีปริมาณจำกัดจึงต้องมีการจัดการน้ำที่เหมาะสม เพื่อป้องกันปัญหาที่เกิดเนื่องจากการขาดน้ำ ในการศึกษาครั้งนี้เป็นการจำลองการส่งน้ำของโครงการโดยใช้แบบจำลอง HEC-ResSim เป็นเครื่องมือช่วย ซึ่งต้องใช้ข้อมูลทางกายภาพของอ่างเก็บน้ำทั้งสองข้อมูลอุทกวิทยาตั้งแต่ปี พ.ศ.2541-2554 และข้อมูลการเพาะปลูกของโครงการ เป็นข้อมูลนำเข้า และตรวจสอบความถูกต้องของแบบจำลองจากข้อมูลการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำลำพระเพลิงเข้าสู่อ่างเก็บน้ำลำสำลาย ผลการจำลองพบว่า การเพาะปลูกภายในโครงการตามแผนการเพาะปลูกปัจจุบันไม่ทำให้เกิดการขาดน้ำ แต่เมื่อเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกฤดูแล้ง 20 เปอร์เซ็นต์ จะทำให้เกิดการขาดน้ำ 6.48 เปอร์เซ็นต์เฉพาะในพื้นที่ชลประทานอ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง โดยในส่วนของพื้นที่ชลประทานอ่างเก็บน้ำลำสำลายไม่เกิดการขาดน้ำ ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากในช่วงฤดูฝน มีการผันน้ำส่วนเกินความจุอ่างเก็บน้ำลำพระเพลิงเข้าสู่อ่างเก็บน้ำลำสำลาย หรือหากต้องการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกในพื้นที่ชลประทานอ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง ควรพิจารณาผันน้ำกลับเข้าสู่ระบบชลประทานอ่างเก็บน้ำลำพระเพลิงในช่วงฤดูแล้ง
Download: การประยุกต์ใช้แบบจำลอง HEC-RESSIM ช่วยในการบริหารงานอ่างเก็บน้ำโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำพระเพลิง