A study of the influence of compressive force on nylon fabric on the penetration of bullet
โดย ชูพงศ์ ไชยหลาก
ปี 2554
บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาอิทธิพลของแรงอัดบนผืนผ้าทอไนลอน 66 ต่อการเจาะทะลุของกระสุนปืนขนาด 9 มม. สำหรับการผลิตเกราะกันกระสุน โดยนำเส้นด้ายไนลอน 66 มาทอเป็น ผืนผ้าลายตะกร้า (Basket) 2 x 2 นำผ้ามาตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนาด 12 x 12 ตารางนิ้ว หลังจากนั้นนำผืนผ้าจำนวน 100 ผืนมาวางซ้อนกัน โดยให้แนวด้ายพุ่งและยืนวางสลับกันและประกอบเป็นแผ่นเกราะกันกระสุน 2 แบบ แบบที่ 1 วางซ้อนโดยไม่มีการเย็บผืนผ้าให้ติดกัน แบบที่ 2 วางซ้อนกันพร้อมทั้งเย็บผืนผ้าให้ติดกันทีละ 20 ผืน เท่ากับ 1 ชุด ทำเช่นเดียวกันให้ได้ 5 ชุด แล้วนำมาเย็บกุ๊นริมติดกัน นำแผ่นอลูมิเนียมหนา 3 มิลลิเมตรประกบด้านบนและด้านล่างของชั้นผ้าแบบเย็บและไม่เย็บ นำเข้าเครื่องแรงอัด และอัดด้วยแรงอัด 0, 200, 400, 600, 800 และ 1,000 กิโลกรัมแรง และยึดแผ่นเกราะด้วยสกรู นำไปทดสอบการป้องกันกระสุนปืน ตามมาตรฐานยุทโธปกรณ์กระทรวงกลาโหม ว่าด้วยเสื้อเกราะกันกระสุน โดยใช้กระสุนขนาด 9 มม. มุมยิง 0 องศา จำนวน 4 จุด และมุมยิง 30 องศา จำนวน 2 จุด ตามมาตรฐานกำหนด ผลการทดสอบพบว่าจำนวนชั้นที่กระสุนทะลุแผ่นเกราะลดลง เมื่อแรงอัดชั้นผืนผ้าเพิ่มสูงขึ้น และการเย็บทำให้จำนวนชั้นที่กระสุนทะลุแผ่นเกราะลดลงด้วยเช่นกัน สามารถสรุปได้ว่าการเพิ่มแรงอัด และการเย็บทำให้แผ่นเกราะสามารถรับแรงที่หัวกระสุนกระทำต่อแผ่นเกราะได้ดีขึ้น และยังทำให้หัวกระสุนเสียความแหลมคมไปจากเดิม และหยุดการทะลุผ่านแผ่นเกราะไปในที่สุด