Attitude and Body Lotion Purchasing Behavior of the Consumers in Nonthaburi Province
โดย พรรณพร พูลสุขโข
ปี 2550
บทคัดย่อ (Abstract)
การศึกษาค้นคว้าอิสระนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา ทัศนคติและพฤติกรรมการซื้อผลิตภัณฑ์โลชั่นบำรุงผิวกายของผู้บริโภคในจังหวัดนนทบุรี โดยการใช้กลุ่มตัวอย่างประชากรในจังหวัดนนทบุรีจำนวน 400 ตัวอย่าง โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล แล้วจึงนำมาวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรม SPSS สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ ได้แก่ การวิเคราะห์ความแตกต่างโดยการทดสอบค่าทีแบบอิสระ (t-test) การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (F-test) การการวิเคราะห์สถิติสหสัมพันธ์อย่างง่ายของเพียร์สัน (Pearson Correlation) และวิเคราะห์ความแตกต่างเป็นรายคู่ โดยวิธี LSD
ผลการวิเคราะห์ปัจจัยส่วนบุคคลของผู้บริโภค พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงมีอายุ 25-35 ปี การศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรี มีอาชีพพนักงานบริษัทเอกชน รายได้ต่อเดือนมากกว่า 10,000-20,000 บาท
ผลการวิเคราะห์พฤติกรรมการซื้อผลิตภัณฑ์โลชั่นบำรุงผิวกาย พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ซื้อผลิตภัณฑ์โลชั่นกันแดดมากที่สุด มีการซื้อผลิตภัณฑ์ขนาดใหญ่ ซื้อผลิตภัณฑ์โลชั่นบำรุงผิวกายเมื่อหมดหรือใกล้จะหมด ยี่ห้อที่ซื้อมากที่สุดคือ นีเวีย นิยมซื้อจากร้านสะดวกซื้อ เน้นคุณภาพของสินค้า มีการซื้อใช้เอง บุคคลที่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจซื้อคือ ตนเอง กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความถี่ในการซื้อ 1 เดือน/ครั้ง และค่าใช้จ่ายในการซื้อ 213.60 บาทต่อครั้ง
ผลการวิเคราะห์ทัศนคติต่อผลิตภัณฑ์โลชั่นบำรุงผิวกาย พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีทัศนคติในเชิงบวกต่อผลิตภัณฑ์โลชั่นบำรุงผิวกาย โดยให้ความสำคัญทางด้านส่วนประสมทางการตลาด คือ ผลิตภัณฑ์โลชั่นบำรุงผิวกายจำเป็นต้องมีการรับรองมาตรฐานจากองค์การอาหารและยา (อย.), ผลิตภัณฑ์โลชั่นบำรุงผิวกายที่มียี่ห้อรู้จักกันแพร่หลาย ราคาจะแพง, ผลิตภัณฑ์โลชั่นบำรุงผิวกายหาซื้อได้สะดวก, การลด, แลก, แจก, แถมผลิตภัณฑ์โลชั่นบำรุงผิวกาย
ผลการวิเคราะห์สมมติฐาน พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ คือ เพศ ที่แตกต่างกันมีพฤติกรรมการซื้อผลิตภัณฑ์โลชั่นบำรุงผิวกาย ด้านค่าใช้จ่ายในการซื้อแตกต่างกัน แต่พบว่า ด้านความถี่ในการซื้อไม่แตกต่างกัน อายุ, ระดับการศึกษา, รายได้, อาชีพ ที่แตกต่างกันมีพฤติกรรมการซื้อผลิตภัณฑ์โลชั่นบำรุงผิวกาย ด้านค่าใช้จ่ายในการซื้อ และ ด้านความถี่ในการซื้อแตกต่างกัน ด้าน
ผลิตภัณฑ์ ไม่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการซื้อผลิตภัณฑ์โลชั่นบำรุงผิวกาย ด้านค่าใช้จ่ายในการซื้อ และ ด้านความถี่ในการซื้อ ด้านราคา มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการซื้อผลิตภัณฑ์โลชั่นบำรุงผิวกาย ด้านค่าใช้จ่ายในการซื้อ และ ด้านความถี่ในการซื้อ ด้านช่องทางการจัดจำหน่าย ไม่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการซื้อผลิตภัณฑ์โลชั่นบำรุงผิวกาย ด้านค่าใช้จ่ายในการซื้อ และ ด้านความถี่ในการซื้อ และด้านการส่งเสริมการตลาด มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการซื้อผลิตภัณฑ์โลชั่นบำรุงผิวกาย ด้านค่าใช้จ่ายในการซื้อ แต่พบว่า การส่งเสริมการตลาด ไม่มีความสัมพันธ์กับความถี่ในการซื้อ
Comments are closed.