Attitudes and Satisfactions towards Government Personnel Data Base under the Direct-Paid Expenses for Government Personnel’s welfare and Cure
โดย เกศสุดา เข้มแข็ง
ปี 2550
บทคัดย่อ (Abstract)
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยทางด้านประชากรศาสตร์ที่แตกต่างกัน มีทัศนคติและความพึงพอใจต่อระบบฐานข้อมูลบุคลากรภาครัฐ ภายใต้โครงการจ่ายตรงสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการแตกต่างกันหรือไม่ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษามีจำนวน 243 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสอบถาม ผลการวิเคราะห์ข้อมูลนำเสนอในรูปของ ความถี่ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และใช้สถิติ Independent T-test และ One-way ANOVA ในการทดสอบสมมติฐาน ซึ่งประมวลผลโดยใช้คอมพิวเตอร์โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS for Windows ผลการศึกษาสรุปได้ดังนี้ การวิเคราะห์ข้อมูลของทัศนคติ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามมีทัศนคติด้านพฤติกรรมมีค่าเฉลี่ยอยู่ระดับมาก โดยมีความเชื่อมั่นในความถูกต้องของระบบฐานข้อมูลดังกล่าวมีค่าเฉลี่ยอยู่ในอันดับแรก และช่วยเสริมทักษะด้านคอมพิวเตอร์มีค่าเฉลี่ยอยู่ในอันดับสุดท้าย ด้านประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้ระบบฐานข้อมูลดังกล่าว มีค่าเฉลี่ยอยู่ระดับมาก โดยในส่วนของช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายมีค่าเฉลี่ยอยู่ในอันดับแรก และ ช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์การมีค่าเฉลี่ยอยู่ในอันดับสุดท้าย ด้านปัญหาและอุปสรรคมีค่าเฉลี่ยอยู่ระดับปานกลาง โดยในส่วนของขั้นตอนในการบันทึกข้อมูล ยุ่งยาก ซับซ้อน มีค่าเฉลี่ยอยู่ในอันดับแรก และปัญหาเอกสารที่ใช้อ้างอิงในการบันทึกข้อมูลมีค่าเฉลี่ยอยู่ในอันดับสุดท้าย สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลของระดับความพึงพอใจ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามมีความพึงพอใจด้านการลงทะเบียนในระบบฐานข้อมูลดังกล่าวมีค่าเฉลี่ยอยู่ระดับปานกลาง โดยในส่วนของความเหมาะสมของระยะเวลาการดำเนินการมีค่าเฉลี่ยอยู่ในอันดับแรก และการประชาสัมพันธ์มีความทั่วถึง มีค่าเฉลี่ยอยู่ในอันดับสุดท้าย ด้านการเข้ารับบริการ ณ สถานพยาบาล (ระบบจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาล)มีค่าเฉลี่ยปานกลาง โดยในส่วนของการให้บริการ รวดเร็ว ฉับไว เต็มใจให้บริการ มีค่าเฉลี่ยอยู่ในอันดับแรก และ การดูแลของบุคลากร เจ้าหน้าที่ แพทย์ พยาบาล ในการให้บริการ มีค่าเฉลี่ยอยู่ในอันดับสุดท้าย
การทดสอบสมมติฐานทางด้านประชากรศาสตร์ สรุปได้ว่า อายุที่แตกต่างกัน มีทัศนคติด้านพฤติกรรมแตกต่างกัน โดยพบว่า กลุ่มอายุ ตั้งแต่ 45 ปีลงมา มีความพร้อมในการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ มากกว่า 4 กลุ่มอายุตั้งแต่ 46 ปีขึ้นไป จำนวนบุคคลในครอบครัวที่แตกต่างกัน มีทัศนคติด้านประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้ระบบฐานข้อมูลดังกล่าวแตกต่างกัน โดยพบว่าในกลุ่มตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป มีทัศนคติมากกว่า กลุ่ม “ไม่มี” ทัศนคติด้านปัญหาและอุปสรรคแตกต่างกัน โดยพบว่า กลุ่ม “ไม่มี” มีทัศนคติมากกว่ากลุ่มตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป สถานภาพการสมรสที่แตกต่างกัน มีความพึงพอใจด้านการลงทะเบียนในระบบฐานข้อมูลดังกล่าวแตกต่างกัน โดยพบว่า กลุ่มสถานภาพ “สมรส” มีความพึงพอใจมากกว่า กลุ่มสถานภาพ “โสด” และบุคคลในครอบครัวที่แตกต่างกัน มีความพึงพอใจด้านการเข้ารับบริการ ณ สถานพยาบาล (ระบบจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาล)แตกต่างกัน โดยพบว่า กลุ่ม “มากกว่า 6 คน” มีความพึงพอใจมากกว่า กลุ่ม “ตั้งแต่ 6 คนลงมา”