Factors Affecting the Usage of E-learning Systems : Case Study of Professional Military Education Course, Royal Thai Air Force
โดย ประเสริฐ สนคงนอก
ปี 2551
บทคัดย่อ (Abstract)
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับปัจจัยที่มีผลต่อการใช้งานระบบอีเลิร์นนิ่ง ในการอบรมหลักสูตรโรงเรียนหลักขั้นปลายของกองทัพอากาศปัจจัยที่ศึกษา คือ ปัจจัยด้านประชากรศาสตร์ และปัจจัยเกี่ยวกับการใช้คอมพิวเตอร์ ส่วนการใช้งานระบบอีเลิร์นนิ่ง พิจารณาทางด้านการบริหารการเรียนและการติดต่อสื่อสาร กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ ผู้เข้าอบรมหลักสูตรโรงเรียนหลักขั้นปลายของกองทัพอากาศ จำนวน 210 คน โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ข้อมูล สถิติที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูลคือ ค่าความถี่ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ความเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์ความแตกต่างใช้ทดสอบ Independent- Samples t-Test การวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบทางเดียว และการวิเคราะห์ความแตกต่างเป็นรายคู่ใช้วิธี Least Significant Difference (LSD) สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ
ผลการวิเคราะห์ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามที่ใช้เป็นกลุ่มตัวอย่างในการศึกษาครั้งนี้ส่วนใหญ่มีชั้นยศ นาวาอากาศตรี หรือนาวาอากาศโท เพศชาย อายุ 30 ปี แต่ไม่ถึง 40 ปี การศึกษาระดับปริญญาตรี และอบรมหลักสูตรนายทหารชั้นผู้บังคับฝูง ส่วนปัจจัยเกี่ยวกับการใช้คอมพิวเตอร์ประสบการณ์ในการใช้งานอินเทอร์เน็ต มากที่สุด คือ 5 ปี แต่ไม่ถึง 10 ปี วัตถุประสงค์หลักในการใช้งานอินเทอร์เน็ต มากที่สุด คือ การค้นหาข้อมูล ความถี่ในการใช้งานอินเทอร์เน็ตต่อสัปดาห์มากที่สุด คือ 6-10 ครั้ง/สัปดาห์ สถานที่ในการใช้อินเทอร์เน็ต ที่บ้านมากที่สุด
ผลการวิเคราะห์ พบว่า การใช้งานระบบอีเลิร์นนิ่ง ทั้งทางด้านการบริหารการเรียน และการติดต่อสื่อสาร อยู่ในระดับมาก ส่วนการวิเคราะห์สมมติฐาน พบว่า 1) ปัจจัยด้านประชากรศาสตร์ ประกอบด้วย ชั้นยศ เพศ อายุ การศึกษา และหลักสูตร ที่แตกต่างกันมีผลต่อการใช้งานระบบอีเลิร์นนิ่งทางด้านการบริหารการเรียนและการติดต่อสื่อสารไม่แตกต่างกัน 2) ปัจจัยด้านการใช้คอมพิวเตอร์ พบว่า ประสบการณ์ และความถี่ในการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่แตกต่างกันมีผลต่อการใช้งานระบบอิเลิร์นนิ่งทางด้านการบริหารการเรียนและการติดต่อสื่อสาร แตกต่างกัน