มาตรการทางกฎหมายในการจัดตั้งองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค

โดย ณัฐพงษ์ วารสิทธิ์

ปีที่  5 ฉบับที่ 2 เดือน พฤษภาคม-สิงหาคม 2555

บทคัดย่อ
จากสภาพสังคมในปัจจุบัน กระแสลัทธิบริโภคนิยมมีอิทธิพลและสร้างผลกระทบต่อผู้บริโภคอย่างรุนแรงและระบบงานในการคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศไทยที่ถือว่ามีความสำคัญและมีผลกระทบต่อประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภคภายในประเทศนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบันได้ยึดถือแนวคิดที่ให้รัฐเป็นผู้มีบทบาทหลักในการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค และจากการกำหนดบทบาทหน้าที่ให้ภาครัฐเป็นผู้มีหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคแต่เพียงลำพังนั้น ไม่อาจก้าวทันความสลับซับซ้อนของกลุ่มผลประโยชน์ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับผู้บริโภคได้ และถึงแม้ว่าในปัจจุบันประเทศไทยจะได้มีการประกาศใช้กฎหมายเกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคอยู่มากมายหลายฉบับ แต่หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ในการคุ้มครองผู้บริโภคอยู่มากมายหลายแห่งนั้น ต่างก็มีความรับผิดชอบตามกรอบอำนาจและหน้าที่ของตนตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้ กล่าวได้ว่าในปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานใดของรัฐที่ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางที่กำหนดนโยบายทิศทาง และมาตรการในการคุ้มครองผู้บริโภคภายในประเทศ และถึงแม้ว่าพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 จะมีความพยายามที่จะทำหน้าที่เป็นกฎหมาย
กลางในด้านการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค แต่ก็ยังมีข้อจำกัดในทางกฎหมายที่กำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งไม่อาจแก้ไขปัญหา และกำหนดนโยบายในการคุ้มครองผู้บริโภคในหลายๆเรื่องได้

จนถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 ที่ได้มองเห็นถึงความสำคัญของการคุ้มครองผู้บริโภคและการให้ผู้บริโภคเข้ามามีส่วนร่วมในการปกป้องตนเองของผู้บริโภคจึงได้บัญญัติไว้ในมาตรา 61 วรรคสอง ให้มีองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐซึ่งประกอบด้วยตัวแทนผู้บริโภค ทำหน้าที่ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานของรัฐในการตราและการบังคับใช้กฎหมายและกฎ และให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งนี้ให้รัฐสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการขององค์การอิสระดังกล่าวด้วย

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้จึงมีจุดมุ่งหมายเพื่อทำการศึกษาถึงมาตรการทางกฎหมายในการคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศไทย และทำการศึกษาถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคในต่างประเทศ ได้แก่ ประเทศอังกฤษ และประเทศญี่ปุ่น เพื่อนำมาเปรียบเทียบและนำมาปรับใช้ในการจัดตั้งองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศไทย ซึ่งจากการศึกษาพบว่ามาตรการทางกฎหมายในการคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศไทยนั้นยังมีปัญหาซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทยนั้นมีการดำเนินงานตามทิศทางและนโยบายเป็นของตนเองโดยมิได้มีความเชื่อมโยงระหว่างองค์กรที่คุ้มครองผู้บริโภคด้วยกันเอง ต่างกับในต่างประเทศที่มีหน่วยงานกลางที่กำหนดทิศทางในการคุ้มครองผู้บริโภคภายในประเทศ ซึ่งจะทำให้การคุ้มครองผู้บริโภคมีประสิทธิภาพและสามารถคุ้มครองผู้บริโภคได้ทันต่อเหตุการณ์

จากการศึกษาถึงปัญหาดังกล่าว ผู้เขียนจึงขอเสนอแนะให้มีการจัดตั้งองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อแก้ไขปัญหาและคุ้มครองประชาชนซึ่งเปรียบเสมือนผู้บริโภคทุกคนในประเทศ โดยมีบทบาทและอำนาจหน้าที่ ดังนี้ (1) ให้ความเห็นในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ มาตรการในการคุ้มครองผู้บริโภค และเสนอแนะนโยบายคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศ (2) บังคับใช้กฎหมายและกฎ รวมทั้งการตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำของหน่วยงานของรัฐ (3) ส่งเสริมงานศึกษาวิจัยองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง หรือมีความจำเป็นในการคุ้มครองผู้บริโภคและการเผยแพร่ความรู้ด้านคุ้มครองผู้บริโภค (4) จัดทำเผยแพร่ความเห็นขององค์การอิสระ รายงานการศึกษาวิจัย รายงานการดำเนินงานประจำปี เอกสารข้อมูลความรู้แก่สาธารณชน (5) สนับสนุนกิจกรรมคุ้มครองผู้บริโภคของกลุ่ม เครือข่าย องค์กรผู้บริโภค เพื่อรวบรวมความคิดเห็น ความรู้ ประสบการณ์ (6) ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐ ภาคธุรกิจ สถาบันการศึกษานักวิชาการกลุ่ม องค์กรผู้บริโภคในด้านคุ้มครองผู้บริโภค(7) ฟ้องร้องดำเนินคดีหน่วยงานรัฐหรือเจ้าหน้าที่รัฐที่ละเว้นการกระทำ และผู้ประกอบวิชาชีพและผู้ประกอบธุรกิจการค้าที่ละเมิดสิทธิของผู้บริโภค (8) ปฏิบัติการอื่นใดตามกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น นอกจากนี้ ผู้เขียนเห็นว่าเพื่อเป็นการประกันความอิสระขององค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ควรมีรูปแบบ ลักษณะ โครงสร้างองค์ประกอบ แหล่งเงินทุน และกฎหมายที่จัดตั้งขึ้นโดยเฉพาะ และไม่ขึ้นตรงต่อหน่วยงานของรัฐ

DOWNLOAD : มาตรการทางกฎหมายในการจัดตั้งองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค