Survey on Satisfaction of GPRS Service by Mobile System in Bangkok
โดย นันทวัฒน์ ขุมทรัพย์
ปี 2549
งานวิจัยเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกาถึงความพึงพอใจของประชาชนที่มีต่อการใช้บริการจีพีอาร์เอส ผ่านทางระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ในกรุงเทพมหานคร กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยคือประชาชนในกรุงเทพมหานคร ที่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่สามารถใช้ จีพีอาร์เอส ได้เท่านั้น โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการสำรวจครั้งนี้มีจำนวนทั้งหมด 400 ตัวอย่าง สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์ความแตกต่างใช้การทดสอบค่าที (Independent-test) กับกลุ่มตัวอย่างที่มี 2 กลุ่ม และการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว(One Way ANOVA) การวิเคราะห์ข้อมูลใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS for Windows เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ข้อมูลและทดสอบทางสถิติ
ผลการวิจัยพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามเป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปแต่น้อยกว่า 26 ปี มีสถานภาพเป็นโสด การศึกษาระดับปริญญาตรี มีอาชีพเป็นพนักงานบริษัทเอกชนมีรายได้ตั้งแต่ 5,001-10,000 บาท ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ AIS มากที่สุด บริการ จีพีอาร์เอส ที่ใช้มากที่สุดคือบริการรับส่งเมลล์ และข้อมูลด้านความพึงพอใจของผู้ใช้บริการจีพีอาร์เอส ที่มีต่อส่วนประสมทางการตลาด สามารถสรุปผลได้เป็นดังนี้
ความพึงพอใจโดยรวมของผู้ตอบแบบสอบถามที่มีต่อส่วนประสมทางการตลาดที่ให้ความสำคัญมากที่สุดคือ ด้านการส่งเสริมการตลาด ด้านผลิตภัณฑ์ ด้านราคาและด้านสถานที่ให้บริการ ตามลำดับโดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.66, 3.59, 3.53 และ 3.52 ตามลำดับ เพศที่แตกต่างกันทำให้ความพึงพอใจรูปแบบบริการเข้ากับชีวิตในปัจจุบัน ความสวยงามของศูนย์บริการ บริการถามข้อมูลของพนักงานบริการและความสุภาพของพนักงานบริการแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 อายุที่แตกต่างกันทำให้ความพึงพอใจด้านส่วนประสมทางการตลาดโดยรวมไม่แตกต่างกัน สถานภาพที่แตกต่างกันทำให้ความพึงพอใจส่วนประสมทางการตลาด โดยรวมไม่แตกต่างกัน
ระดับการศึกษาที่แตกต่างกันทำให้ความพึงพอใจส่วนประสมทางการตลาดด้านผลิตภัณฑ์ด้านราคา ด้านสถานที่ให้บริการ ด้านการส่งเสริมทางการตลาด ไม่แตกต่างกันอาชีพที่แตกต่างกัน ทำให้ความพึงพอใจส่วนประสมทางการตลาดด้านผลิตภัณฑ์ ด้านราคา ด้านสถานที่ให้บริการ ด้านการส่งเสริมทางการตลาด ไม่แตกต่างกัน ผู้ใช้ระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่แตกต่างกันทำให้ความพึงพอใจศูนย์บริการ มาตรฐานของศูนย์บริการ การแก้ปัญหาของพนักงานบริการแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 บริการ จีพีอาร์เอส รายได้ที่แตกต่างกันทำให้ความพึงพอใจส่วนประสมทางการตลาดด้านผลิตภัณฑ์ ด้านราคา ด้านสถานที่ให้บริการ ด้านการส่งเสริมทางการตลาดไม่แตกต่างกัน