Factors that effect the 5S-activity success, NSU Co., Ltd. Case study

โดย อาพร ดำปาน

ปี    2548

บทคัดย่อ(Abstract)

ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจของประเทศแข่งขันกันอย่างรุนแรง และต้นทุนการผลิตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะราคาน้ำมันซึ่งเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการผลิตโดยตรง องค์กรจำนวนมากได้สรรหากลยุทธ์ทางธุรกิจที่หลากหลายนำมาพัฒนาองค์กรเพื่อความอยู่รอด ทั้งเพื่อสามารถครองตลาดเดิม และเพื่อขยายเข้าสู่ตลาดใหม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างวัฒนธรรมองค์กร การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ การปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน การสรรหาวิธีการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตต่าง ๆ ซึ่งกิจกรรม5 ส ก็เป็นส่วนหนึ่งของวิธีการเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของปัจจัยต่อความสำเร็จหรือผลสัมฤทธิ์ต่างก็เป็นตัวแปรที่สำคัญในการที่จะทำให้องค์กรเหล่านั้นบรรลุผลและสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าเป็นสำคัญ

ในการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยใช้กรอบแนวคิดหาความแตกต่างระหว่างข้อมูลทั่วไปและผลสัมฤทธิ์ในการทำกิจกรรม 5 ส และหาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรระหว่างปัจจัยต่อความสำเร็จในการทำกิจกรรม 5 ส และผลสัมฤทธิ์ในการทำกิจกรรม 5 ส โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงปริมาณโดยใช้แบบสอบถามวัดระดับความคิดเห็นตามแบบมาตราส่วนประเมินค่าแบบลิเคอร์ท เป็นการวัดระดับมาตรฐานอันตรภาค (Interval scale) ใช้สถิติเชิงพรรณาและเชิงอนุมาน ด้วย t-test, One wayANOVA , LSD และวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ของตัวแปรด้วยค่าสถิติสหสัมพันธ์อย่างง่ายของเพียร์สัน

ผลการวิจัยพบว่า เพศ วุฒิการศึกษา ประสบการณ์ในการทำงาน ตำแหน่งงาน และ ส่วนของการทำงาน มีความคิดเห็นต่อผลสัมฤทธิ์ในการทำกิจกรรม 5ส แตกต่างกันอย่างมีระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05 ส่วนการทดสอบความสัมพันธ์ของตัวแปรพบว่าปัจจัยต่อความสำเร็จในการทำกิจกรรม 5 ส ทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านความมุ่งมั่นของผู้บริหาร ด้านการฝึกอบรมและการให้ความรู้เกี่ยวกับ 5ส ด้านการมีส่วนร่วมของพนักงานทุกคน และด้านการทำกิจกรรม 5ส อย่างต่อเนื่องมีความสัมพันธ์กับผลสัมฤทธิ์ในการทำกิจกรรม 5ส อย่างมีระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.01

DOWNLOAD