The Roles of Human Resource Executives of the Financial Institute Listed in the Stock Exchange of Thailand
โดย วรรณี พิเชษฐสุภกิจ
ปี 2549
บทคัดย่อ (Abstract)
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบบทบาทโดยภาพรวมและรายด้านของนักบริหารทรัพยากรมนุษย์ของสถาบันการเงินที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทั้ง 4 ด้าน ซึ่งประกอบด้วย ด้านการมีส่วนร่วมในการกำหนดกลยุทธ์ ด้านการเป็นผู้เชี่ยวชาญทางการบริหาร ด้านการเป็นผู้เชี่ยวชาญการพนักงาน และด้านการเป็นตัวการในการเปลี่ยนแปลงรวมทั้งศึกษาภาวะผู้นำของนักบริหารทรัพยากรมนุษย์ที่มีความสัมพันธ์กับบทบาทการบริหารทรัพยากรมนุษย์ทั้ง 4 ด้าน กลุ่มตัวอย่าง คือ นักบริหารทรัพยากรมนุษย์ของสถาบันการเงินที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จำนวน 57 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถาม สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าความถี่ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การเปรียบเทียบความแตกต่าง (t-test) การวิเคราะห์ค่าความแปรปรวนทางเดียว(ANOVA) เมื่อพบความแตกต่างใช้การทดสอบรายคู่โดยวิธีของ Least-significant Difference (LSD) และค่าสถิติสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์อย่างง่ายของเพียร์สัน (Pearson Product Moment Correlation Coefficient)
ผลการวิจัยสรุปได้ ดังนี้ข้อมูลส่วนบุคคลของนักบริหารทรัพยากรมนุษย์ของสถาบันการเงินที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง อายุมากกว่า 45 ปี อายุการทำงานมากกว่า 15 ปี อายุการทำงานในตำแหน่งงานด้านบริหารทรัพยากรมนุษย์มากกว่า 15 ปีการศึกษาระดับปริญญาโท มีรายได้ต่อเดือนมากกว่า 50,000 บาท และส่วนใหญ่ประกอบธุรกิจประเภทเงินทุน / หลักทรัพย์
ผลการวิจัยบทบาทการบริหารทรัพยากรมนุษย์ในภาพรวมและรายด้านทั้ง 4 ด้านพบว่านักบริหารทรัพยากรมนุษย์ได้ดำเนินการในภาพรวมที่ระดับมาก ซึ่งมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.77 เมื่อพิจารณาในรายด้าน พบว่า นักบริหารทรัพยากรมนุษย์ได้ดำเนินการด้านการเป็นผู้เชี่ยวชาญทางการบริหารมากที่สุด รองลงมา ด้านการมีส่วนร่วมในการกำหนดกลยุทธ์ ด้านการเป็นผู้เชี่ยวชาญการพนักงาน และด้านการเป็นตัวการในการเปลี่ยนแปลง ที่ระดับค่าเฉลี่ย 3.88 , 3.82 , 3.71 , 3.69ตามลำดับ
ผลการวิจัยภาวะผู้นำของนักบริหารทรัพยากรมนุษย์พบว่า นักบริหารทรัพยากรมนุษย์ให้ความสำคัญในระดับมาก ที่ค่าเฉลี่ยรวมเท่ากับ 4.00 โดยให้ความสำคัญในเรื่อง มีคุณธรรมจริยธรรม ซื่อสัตย์ สุจริต มากที่สุด รองลงมา มีวุฒิภาวะทางอารมณ์หรือมีความสามารถควบคุมอารมณ์ในสถานการณ์ต่างๆ และมีความสามารถในการสร้างมนุษยสัมพันธ์ที่ดีกับบุคคลภายในองค์การและบุคคลภายนอก ที่ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.65 , 4.30 , 4.21 ตามลำดับ
ผลการทดสอบสมมติฐาน พบว่าคุณลักษณะส่วนบุคคลด้านเพศ อายุ อายุการทำงานอายุการทำงานในตำแหน่งงานด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์ ระดับการศึกษา รายได้ต่อเดือน และประเภทของธุรกิจ แตกต่างกันมีบทบาทการบริหารทรัพยากรมนุษย์ไม่แตกต่างกัน เมื่อพิจารณาในรายด้าน คือ ด้านการมีส่วนร่วมในการกำหนดกลยุทธ์ ด้านการเป็นผู้เชี่ยวชาญทางการบริหาร ด้านการเป็นผู้เชี่ยวชาญการพนักงาน และด้านการเป็นตัวการในการเปลี่ยนแปลงไม่แตกต่างกัน ยกเว้นระดับการศึกษาที่แตกต่างกันมีบทบาทการบริหารทรัพยากรมนุษย์ ด้านการเป็นตัวการในการเปลี่ยนแปลงแตกต่างกัน ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.05
การทดสอบสมมติฐานรายข้ออายุแตกต่างกัน มีบทบาทการบริหารทรัพยากรมนุษย์ด้านการมีส่วนร่วมในการกำหนด
กลยุทธ์ คือ การใช้เวลาในการศึกษาและทำความเข้าใจในด้านสภาวะแวดล้อมและทิศทางขององค์การเพื่อช่วยเหลือให้องค์การมีข้อได้เปรียบในด้านการแข่งขันแตกต่างกัน ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.05
อายุการทำงานแตกต่างกัน มีบทบาทการบริหารทรัพยากรมนุษย์ด้านการเป็นผู้เชี่ยวชาญการพนักงาน คือ การมีส่วนช่วยทำให้พนักงานมีความรู้สึกรับผิดชอบและผูกพันต่องานและองค์การแตกต่างกัน ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.05อายุการทำงานในตำแหน่งงานด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์แตกต่างกัน มีบทบาทการบริหารทรัพยากรมนุษย์ด้านการเป็นผู้เชี่ยวชาญการพนักงาน คือ การเป็นปากเสียงแทนพนักงานในการแสดงความคิดเห็นและปัญหาเกี่ยวกับงานต่อผู้บริหารองค์การแตกต่างกัน ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.05
ระดับการศึกษาแตกต่างกัน มีบทบาทการบริหารทรัพยากรมนุษย์ด้านการมีส่วนร่วมในการกำหนดกลยุทธ์ คือ การใช้เวลาในการศึกษาและทำความเข้าใจในด้านสภาวะแวดล้อมและทิศทางขององค์การเพื่อช่วยเหลือให้องค์การมีข้อได้เปรียบในด้านการแข่งขัน แตกต่างกันที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.05 และด้านการเป็นตัวการในการเปลี่ยนแปลง คือ การมีส่วนร่วมปรับวัฒนธรรมองค์การเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงและการปฏิรูปองค์การ และการเป็นผู้สนับสนุนพฤติกรรมและวิธีการปฏิบัติใหม่ๆ เพื่อทำให้องค์การสามารถแข่งขันได้แตกต่างกัน ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.05
รายได้ต่อเดือนแตกต่างกัน มีบทบาทการบริหารทรัพยากรมนุษย์ด้านการมีส่วนร่วมในการกำหนดกลยุทธ์ คือ การมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายการบริหารทรัพยากรมนุษย์สอดคล้องกับนโยบายทางธุรกิจแตกต่างกัน ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.05 ด้านการเป็นผู้เชี่ยวชาญการพนักงาน คือ การมีส่วนช่วยทำให้พนักงานมีความรู้สึกรับผิดชอบและผูกพันต่องานและองค์การแตกต่างกัน ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.05 และด้านการเป็นตัวการในการเปลี่ยนแปลง คือ การเป็นผู้นำในการก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในองค์การแตกต่างกัน ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.05
ประเภทของธุรกิจแตกต่างกัน มีบทบาทการบริหารทรัพยากรมนุษย์ด้านการเป็นผู้เชี่ยวชาญทางการบริหาร คือ การใช้เวลาในการให้คำปรึกษา แนะนำปัญหาเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรมนุษย์ทั้งในหน่วยงานและต่างหน่วยงานแตกต่างกัน ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.05 และด้านการเป็นตัวการในการเปลี่ยนแปลง คือ การมีส่วนทำให้กระบวนการบริหารทรัพยากรมนุษย์และกิจกรรมต่างๆ เพิ่มความสามารถขององค์การในการตอบรับการเปลี่ยนแปลงแตกต่างกัน ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.05
ภาวะผู้นำของนักบริหารทรัพยากรมนุษย์มีความสัมพันธ์ในระดับสูงกับบทบาทการบริหารทรัพยากรมนุษย์ พิจารณาในรายด้าน คือ ด้านการมีส่วนร่วมในการกำหนดกลยุทธ์ ด้านการเป็นผู้เชี่ยวชาญทางการบริหาร ด้านการเป็นผู้เชี่ยวชาญการพนักงาน มีความสัมพันธ์ในระดับสูงยกเว้น ด้านการเป็นตัวการในการเปลี่ยนแปลง มีความสัมพันธ์ในระดับปานกลาง