Major Factor Affect Financial Derivative Exchange Trade Development in Thailand

โดย ฎัชชัย สำเภา

ปี     2549

บทคัดย่อ (Abstract)

การวิจัยเรื่องศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการพัฒนาตลาดอนุพันธ์ในประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงปัจจัยที่มีผลต่อการพัฒนาตลาดอนุพันธ์และแนวทางการพัฒนาตลาดอนุพันธ์ ในประเทศไทย  การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ขอบเขตการศึกษาจะทำการศึกษา เฉพาะตลาดอนุพันธ์ทางการเงินที่เปิดดำเนินการแบบเป็นทางการ โดยทำธุรกรรมผ่านศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในประเทศไทย ประชากรและกลุ่มตัวอย่างคือบริษัทตลาดอนุพันธ์ (ประเทศไทย)จำกัด(มหาชน) และบริษัทตัวแทนนายหน้าสัญญาซื้อขายล่วงหน้า จำนวน 14 บริษัท โดยใช้วิธีการสุ่มกรณีหลากหลาย (Maximium Varition Sampling) เพื่อให้ได้ข้อมูลสรุปที่สะท้อนทุกสถานการณ์มีความสมบูรณ์ของข้อมูลเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ครั้งนี้ คือแบบสัมภาษณ์ แบบไม่มีโครงสร้างโดยทำการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) และนำเสนอในรูปแบบของการบรรยาย
ผลการวิจัยพบว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการพัฒนาตลาดอนุพันธ์ ในประเทศไทย สามารถสรุปสาระสำคัญได้ 10 ปัจจัย ดังนี้1. ปัจจัยด้านนักลงทุน ที่มีผลต่อการพัฒนาตลาดอนุพันธ์ คือ นักลงทุนรายย่อยไม่มีความรู้ความเข้าใจทางด้านตราสารอนุพันธ์ที่ดีพอส่งผลต่อปริมาณนักลงทุน และปริมาณการซื้อขายที่มีไม่มากนักลงทุนต่างชาติยังไม่เข้ามาลงทุนเนื่องจากปริมาณการซื้อขายไม่มากพอที่จะสามารถเข้ามาลงทุน นักลงทุนสถาบันประเภทกองทุนและบริษัทประกันภัยติดขัดทางด้านกฎระเบียบของการลงทุน ยังไม่สามารถเข้ามาลงทุนได้มากนัก
2. ปัจจัยด้านสภาพคล่อง เกิดจากปริมาณนักลงทุนมีไม่มากนักลงทุนรายย่อยไม่มีความรู้ความเข้าใจทางด้านตราสารอนุพันธ์ที่มากพอ ส่งผลต่อความไม่มั่นใจที่จะเข้ามาลงทุน ปริมาณการซื้อขายน้อยส่งผลต่อนักลงทุนต่างชาติไม่สามารถเข้ามาลงทุนได้มาก เนื่องจากสภาพคล่องยังน้อย
3. ปัจจัยทางด้านค่าธรรมเนียมการซื้อขาย อัตราค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากลูกค้ามีอัตราสูงเมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศ ลักษณะการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมที่แตกต่างกันของตลาดอนุพันธ์ กับตัวแทนนายหน้าสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ที่จัดเก็บจากลูกค้ารายย่อย อัตราค่าธรรมเนียมไม่ได้อยู่ในเกณฑ์เดียวกัน ระหว่างนักลงทุนสถาบันกับนักลงทุนรายย่อย และอัตราค่าธรรมเนียมซื้อขายผ่านทางอินเตอร์เน็ตยังมีอัตราสูง
4. ปัจจัยด้านสินค้า สินค้าในตลาดอนุพันธ์ และที่เกี่ยวข้องมีน้อย และสัญญาฟิวเจอร์สเพียงตัวเดียวยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอในการที่จะใช้บริหารความเสี่ยงของนักลงทุน
5. ปัจจัยด้านการจัดการภายในของตัวแทนนายหน้าสัญญาซื้อขายล่วงหน้า คือ เจ้าหน้าที่ติดต่อนักลงทุนมีไม่มาก และขาดความรู้ทางด้านตราสารอนุพันธ์ที่ดีพอ ประสบการณ์น้อยนักวิเคราะห์ และบทวิเคราะห์ทางด้านตราสารอนุพันธ์มีไม่มาก ผู้เชี่ยวชาญที่สามารถแนะนำเกี่ยวกับการลงทุนให้ความรู้ทางด้านตราสารอนุพันธ์มีน้อย ความรู้เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจ (Know How)ทางด้านตลาดอนุพันธ์ ของตัวแทนนายหน้าสัญญาซื้อขายล่วงหน้าไทย ยังด้อยกว่า ตัวแทนนายหน้าต่างชาติ รวมถึงระบบเทคโนโลยีโปรแกรมการใช้งานที่สนับสนุนทางด้านตลาดอนุพันธ์
6. ปัจจัยทางด้านสภาพแวดล้อมภายนอกธุรกิจ มีผลต่อตลาดอนุพันธ์ โดยเรียงตามลำดับความสำคัญคือการเมือง เทคโนโลยี เศรษฐกิจ และอิทธิพลจากต่างประเทศ
7. ปัจจัยด้านความกังวลเกี่ยวกับตลาดอนุพันธ์ ที่มีผลต่อตลาดอนุพันธ์ คือความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงของตราสารอนุพันธ์ที่มีสูง ความซับซ้อนของตราสารอนุพันธ์ที่ยากต่อการทำความเข้าใจ ส่วนทางด้านจริยธรรมที่ถูกมองว่ามีความไม่เหมาะสมต่อการนำมาใช้ จากการวิจัยพบว่าอยู่ที่วัตถุประสงค์ของการลงทุน โดยมีส่วนน้อยมองว่าเป็นการเก็งกำไร ซึ่งดูได้จากการพิจารณาตัวเลขทางสถิติที่บ่งบอก
8. ปัจจัยด้านสภาพตลาดของประเทศไทย สภาพตลาดไม่เอื้ออำนวยต่อการลงทุน ตลาดของประเทศไทยเล็ก ทำให้ความสนใจในการเข้ามาลงทุนมีไม่มาก สัญญาฟิวเจอร์ส เหมาะกับตลาดที่มีทิศทาง มากกว่าตลาดแบบที่มีความผันผวน (Side way) ในปัจจุบัน
9. ปัจจัยทางด้านแหล่งความรู้เกี่ยวกับตราสารอนุพันธ์ มีน้อยทั้งทางด้านหนังสือ ตำราและสื่อต่าง ๆที่ใช้ศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับอนุพันธ์
10. ปัจจัยด้านการโอนเงินค่าเงินวางหลักประกันในการรักษาสถานภาพของสัญญาซื้อขายลูกค้าไม่สามารถโอนเงินได้ทัน โดยเฉพาะนักลงทุนจากต่างประเทศ ในปัจจุบันใช้ (T+1)ปัจจัยที่มีผลต่อการพัฒนาตลาดอนุพันธ์ในประเทศไทย โดยเรียงลำดับความสำคัญ คือปัจจัยทางด้านนักลงทุน สภาพคล่อง และความกังวลเกี่ยวกับตลาดอนุพันธ์ เป็นอันดับที่ 1 ปัจจัยทางด้านสภาพแวดล้อมภายนอกธุรกิจ เป็นอันดับที่ 2 ปัจจัยด้านการจัดการภายในของตัวแทนนายหน้าสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เป็นอันดับที่ 3 ปัจจัยด้านสภาพตลาดของประเทศไทย เป็นอันดับที่ 4ปัจจัยด้านสินค้า เป็นอันดับที่ 5 ปัจจัยด้านค่าธรรมเนียมการซื้อขาย เป็นอันดับที่6 ปัจจัยด้านการโอนเงินค่าเงินวางหลักประกันในการรักษาสถานภาพของสัญญาซื้อขาย เป็นอันดับที่ 7 ปัจจัยทางด้านแหล่งข้อมูลความรู้เกี่ยวกับตราสารอนุพันธ์ เป็นอันดับที่ 8
ผลจากการวิจัยของแนวทางการพัฒนาตลาดอนุพันธ์ในประเทศไทย พบว่า
การพัฒนาตลาดอนุพันธ์ควรมุ่งเน้นที่ การเพิ่มปริมาณของนักลงทุนโดยการให้นักลงทุนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตราสารอนุพันธ์มากขึ้น โดยผ่านช่องทางการประชาสัมพันธ์ในสื่อต่างๆ ที่นักลงทุนสามารถเข้าถึง และสื่อที่ใช้สามารถทำความเข้าใจได้ง่ายทำให้นักลงทุนตระหนักถึงความสำคัญของตราสารอนุพันธ์นอกจากนี้ควรทำการประชาสัมพันธ์ให้กับคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นกำลังสำคัญในอนาคต อัตราค่าธรรมเนียมการซื้อขายต้องมีความเหมาะสมสามารถที่จะจูงใจให้นักลงทุนเข้ามาลงทุน สินค้าที่นำมาซื้อขายต้องมีความเหมาะสม สามารถที่จะบริหารความเสี่ยงได้ดีมีความครบถ้วนต่อการใช้บริหารความเสี่ยง และเป็นที่ยอมรับของนักลงทุน ด้านกฎระเบียบมาตรการต่าง ๆต้องมีความยืดหยุ่นในการนำมาใช้ มีมาตรการอำนวยความสะดวกลูกค้าในการเข้ามาลงทุนด้วยความมั่นใจ นอกจากนี้ควรมีการพัฒนาสร้างความรู้ความเข้าใจ และได้รับความร่วมมือจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ในตลาดอนุพันธ์ ทำให้เกิดการพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน
ข้อเสนอแนะที่ได้จากงานวิจัย
จากการวิจัยพบว่าตราสารอนุพันธ์มีความเสี่ยงสูง มีความซับซ้อนยากต่อการทำความเข้าใจและนักลงทุนโดยส่วนมากยังไม่มีความรู้ความเข้าใจตราสารอนุพันธ์ที่ดีพอ และยังมีความกลัวทางด้านความเสี่ยง แม้จะได้รับการอบรมสัมมนาหรือ ศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง แล้วก็ยังไม่สามารถทำความเข้าใจได้ดีพอ จึงเห็นควรที่จะมีวิธีการที่สามารถทำให้นักลงทุนทำความเข้าใจได้ง่ายขึ้น และตระหนักถึงความสำคัญของตราสารอนุพันธ์ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุน ในการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นนอกจากนี้จากการวิจัยพบว่า เจ้าหน้าที่ติดต่อนักลงทุนยังไม่ชักชวนให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนมากนักเนื่องจากยังมีความเข้าใจเกี่ยวกับตราสารอนุพันธ์ที่ยังไม่ดีพอ ขาดประสบการณ์และยังมีความไม่มั่นใจที่จะแนะนำการลงทุนในตลาดอนุพันธ์จึงเห็นควรที่จะมีการจัดฝึกอบรม และสร้างความเข้าใจให้ดียิ่งขึ้นเพื่อความมีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน และสามารถที่จะพัฒนาตลาดอนุพันธ์ได้เป็นอย่างดีและเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ที่จะเข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ และตลาดอนุพันธ์

DOWNLOAD