The Problems of Operating Private School Business Offering English Program in Thailand.
โดย โกศล จิตวิรัตน์
ปี 2549
บทคัดย่อ (Abstract)
การศึกษาวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัญหาการดำเนินงานของผู้ประกอบการธุรกิจโรงเรียนเอกชนที่จัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษในประเทศไทย ทางด้านการบริหารจัดการด้านการตลาด ด้านคุณภาพบริการและด้านผลกระทบจากสภาพแวดล้อมภายนอก โดยเปรียบเทียบระหว่างลักษณะของการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจโรงเรียนเอกชนที่จัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษในประเทศไทย แบ่งตามขนาดของเงินลงทุน ขนาดของโรงเรียน ประเภทของโรงเรียนระยะเวลาที่จัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษและทำเลที่ตั้ง กับปัญหาที่เกิดจากการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการ ด้านการตลาด ด้านคุณภาพบริการ และด้านผลกระทบจากสภาพแวดล้อมภายนอกรวมทั้งศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลทั่วไปส่วนบุคคลทางด้านอายุและระดับการศึกษากับปัญหาการดำเนินงานของผู้ประกอบการธุรกิจโรงเรียนเอกชนที่จัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษในประเทศไทย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยในครั้งนี้เป็นแบบสอบถามปัญหาการดำเนินงานของผู้ประกอบการธุรกิจโรงเรียนเอกชนที่จัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษในประเทศไทย โดยเก็บข้อมูลจากผู้ประกอบการธุรกิจโรงเรียนเอกชนที่จัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ ในประเทศไทยจำนวน 93 ราย ทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS สถิติที่ใช้ได้แก่ค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ยเลขคณิต ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและทดสอบสมมติฐานโดยใช้ t – test, One-Way ANOVA และใช้สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน (Pearson product moment correlation) ทดสอบหาค่าความสัมพันธ์ การทดสอบสมมติฐานได้กำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 และ 0.01 ได้ผลการศึกษาดังต่อไปนี้
1. ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงมีอายุระหว่าง 41-50 ปี มีการศึกษาระดับปริญญาโท มีขนาดเงินลงทุนอยู่ระหว่าง 50 – 200 ล้านบาท เป็นโรงเรียนประเภทสามัญศึกษาขนาดใหญ่มีระยะเวลาที่จัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษต่ำกว่า 5 ปี และส่วนใหญ่ร้อยละ 72 มีทำเลที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
2. ปัญหาการดำเนินงานของผู้ประกอบการธุรกิจโรงเรียนเอกชนที่จัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษในประเทศไทย โดยภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง โดยผู้ประกอบการธุรกิจโรงเรียนเอกชนที่จัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษในประเทศไทยมีปัญหาการดำเนินงานด้านผลกระทบจากสภาพแวดล้อมภายนอกมากที่สุด รองลงมาด้านการตลาด ด้านการบริหารจัดการและด้านคุณภาพบริการมีปัญหาการดำเนินงานน้อยที่สุด
3. เปรียบเทียบปัญหาการดำเนินงานของผู้ประกอบการธุรกิจโรงเรียนเอกชนที่จัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษในประเทศไทย พบว่าผู้ประกอบการโรงเรียนเอกชนที่จัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษในประเทศไทยที่มีขนาดของเงินลงทุน ขนาดของโรงเรียน ประเภทของโรงเรียน ระยะเวลาที่จัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ และทำเลที่ตั้งที่แตกต่างกันมีปัญหาในการดำเนินงานโดยภาพรวมไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
4. การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลทั่วไปส่วนบุคคลของผู้ประกอบการทางด้านอายุและระดับการศึกษากับปัญหาการดำเนินงานของผู้ประกอบการธุรกิจโรงเรียนเอกชนที่จัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษในประเทศ พบว่าโดยภาพรวมไม่มีความสัมพันธ์กัน ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01