Demand for Electronic Banking Service Used in International Trade of Exporters in Rojana Industrial Estate
โดย มลฤดี ปักษิณศิริ
ปี 2550
บทคัดย่อ (Abstract)
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความพึงพอใจ และปัจจัยที่มีผลต่อความพึงพอใจในการใช้บริการอิเล็กทรอนิกส์แบงก์กิ้งด้านการค้าระหว่างประเทศของผู้ส่งออกในเขตประกอบการอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ ผู้ส่งออกในเขตประกอบการอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่ใช้บริการอิเล็กทรอนิกส์แบงก์กิ้งโดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการวิจัยครั้งนี้จำนวนทั้งหมด 134 ตัวอย่าง สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์ความแตกต่างใช้ค่าทดสอบค่าที (Independent t-test) กับกลุ่มตัวอย่างที่มี 2 กลุ่ม การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One Way ANOVA) กับกลุ่มตัวอย่างที่มีมากกว่า 2 กลุ่ม ถ้าพบความแตกต่างจะทดสอบความแตกต่างเป็นรายคู่ โดยใช้วิธี LSD (Least Significant Difference)
ผลการวิจัยพบว่าบริษัทที่ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นบริษัท จำกัด ซึ่งบริษัทส่วนใหญ่จะส่งออกสินค้าแผงวงจรและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มีทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาทขึ้นไปบริษัทส่วนใหญ่มีระยะเวลาที่ธุรกิจเปิดดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน 10 ปี แต่ไม่ถึง 15 ปี และมีจำนวนพนักงานในบริษัทจำนวน 1,000 คนขึ้นไป ธนาคารที่บริษัทส่วนใหญ่เลือกใช้บริการ คือธนาคารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีจำนวนรายการ (Transaction) ที่ใช้บริการด้านการค้าระหว่างประเทศในการส่งออกสินค้ากับธนาคารพาณิชย์ต่อเดือน 30 รายการ แต่ไม่ถึง 50 รายการ และบริการที่ใช้จากบริการอิเล็กทรอนิกส์แบงก์กิ้งในการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศมากที่สุดในปัจจุบัน คือสอบถามตั๋วเงินสินค้าออกภายใต้ L/C ทั้งที่ได้รับชำระแล้ว และยอดค้างชำระ ผลการศึกษาความพึงพอใจในการใช้บริการอิเล็กทรอนิกส์แบงก์กิ้ง พบว่า มีระดับความพึงพอใจในภาพรวมอยู่ที่ระดับพึงพอใจมาก ผลการทดสอบสมมติฐาน พบว่า ข้อมูลทั่วไปของธุรกิจ มีความพึงพอใจด้านผลิตภัณฑ์(ตัวบริการ) ด้านราคา (ค่าธรรมเนียมในการบริการ) ด้านการส่งเสริมการตลาด ด้านกระบวนการในการให้บริการ การสร้างและการนำเสนอลักษณะทางกายภาพไม่แตกต่างกันที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05 และผลการทดสอบสมมติฐานเกี่ยวกับลักษณะการใช้อิเล็กทรอนิกส์แบงก์กิ้ง พบว่าธนาคารพาณิชย์ที่ใช้บริการด้านส่งออก บริการที่ใช้จากอิเล็กทรอนิกส์แบงก์กิ้งในด้านส่งออกมากที่สุด มีความพึงพอใจในการใช้บริการอิเล็กทรอนิกส์แบงก์กิ้งไม่แตกต่างกันที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05 ส่วนจำนวนรายการที่ใช้บริการด้านส่งออกกับธนาคารพาณิชย์ต่อเดือนมีความพึงพอใจในการใช้บริการอิเล็กทรอนิกส์แบงก์กิ้งแตกต่างกันด้านผลิตภัณฑ์ (ตัวบริการ) ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05