Applying the Lean Concept to Reduce the Losses in the Process: Case Study at a Factory of Car Brake Belt Production in Hi-Tech Industrial Estate, Ayutthaya Province
โดย วัชระ ประกอบผล
ปี 2551
บทคัดย่อ (Abstract)
การค้นคว้าอิสระเรื่อง “การประยุกต์ใช้แนวคิดลีน เพื่อลดความสูญเสียในกระบวนการผลิต กรณีศึกษา โรงงานผลิตผ้าเบรครถยนต์”ในนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค จังหวัดพระนครศรีอยุธยามีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนการผลิต เพื่อระบุถึงความสูญเสียในด้านต่างๆในกระบวนการผลิตและคัดเลือกกระบวนการที่น่าสนใจที่มีการปฏิบัติงานไม่ได้ตามเป้าหมายอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อลดความสูญเสียในการผลิตชิ้นส่วนผ้าเบรครถยนต์ โดยใช้แนวคิดลีน ผู้ค้นคว้าพบว่าในกระบวนการ 4กระบวนการหลักมีการปรับปรุงในส่วนต่างๆคือการสูญเสียเวลาจากการขาดทักษะความชำนาญของพนักงานที่ไม่สามารถทดแทนพนักงานที่ปฏิบัติงานประจำในจุดนั้นขาดหายไป ในส่วนกระบวนการประกอบ (Bonding) การสูญเสียเวลาจากการรองานโดยเกิดจากการวางเครื่องจักรที่ยังไม่เหมาะสมและเกิดการเคลื่อนที่ในการทำงานมากเกินความจำเป็น กระบวนการผลิตในส่วน Raw Shoe การสูญเสียเวลาในการตรวจสอบชิ้นงานก่อนเริ่มงานและในช่วงเวลาทำงาน ซึ่งต้องใช้เวลาในการเดินไปเช็คที่ห้องตรวจสอบชิ้นงานและการสูญเสียเวลาจากความไม่แน่นอนในการจุ่มล้างชิ้นงานของพนักงานเรื่องเวลาในการจุ่มล้าง รวมถึงการชุบป้องกันสนิมชิ้นงานในแต่ละรอบของการชุบน้อยเกินไป ไม่สมดุลกับรอบของเวลาในการเชื่อมชิ้นงาน ในส่วนกระบวนการผลิตในส่วนอัดขึ้นรูปผ้าเบรคการสูญเสียเวลาจากการเปลี่ยนแม่พิมพ์ในเรื่องของการรออุณหภูมิ ในส่วนกระบวนการผลิตในส่วนของกระบวนการ Finishing การสูญเสียเวลาในการเปลี่ยนรุ่นของเครื่องตัดและเครื่องเจียรขนาดชิ้นงาน ไม่มีการจัดอุปกรณ์ที่ต้องใช้เปลี่ยนรุ่นไว้บริเวณจุดทำงาน จึงมีการปรับปรุงในส่วนต่างๆที่ได้ทำการวิเคราะห์คือจัดทำแผนปรับปรุงพัฒนาทักษะความสามารถของพนักงานให้สามารถทำงานทดแทนกันในส่วนอื่นๆได้ (Multi Skill) ทำการปรับผังการวางเครื่องจักรใหม่ โดยการปรับให้เครื่องจักรเกิดความต่อเนื่องในการทำงาน มีการออกแบบเครื่องมือวัดโดยสามารถวัดชิ้นงานได้ในจุดที่ทำงาน ทำการปรับปรุงกระบวนการชุบล้างชิ้นงานในเรื่องของเวลาในการชุบล้าง โดยการติดตั้งเซ็นเชอร์ และทำการปรับปรุงขยายขนาดตะกร้าในการชุบล้างชิ้นงาน เพื่อเพิ่มจำนวนในการชุบล้างชิ้นงานในแต่ละรอบ ปรับปรุงการลดเวลาการเปลี่ยนรุ่นในการรออุณหภูมิแม่พิมพ์ โดยการสร้างเครื่องให้ความร้อนแม่พิมพ์ (Preheat) ปรับปรุงพื้นที่การจัดอุปกรณ์และเครื่องมือที่จำเป็นในการเปลี่ยนรุ่นชิ้นงาน และทำการทดลองสร้างการผลิตระบบคัมบังควบคุมการผลิต (Kanban) จากแนวคิดการผลิตแบบลีนที่ผลิตแบบพอดีกับความต้องการซึ่งไม่มากเกินจำเป็น และใช้ระบบ Visual Control เข้ามาช่วยในเรื่องของการควบคุมการผลิต
สรุปจากการทำการศึกษาครั้งนี้ สามารถลดเวลาการผลิตต่อชิ้น (Cycle Time) จากเวลาก่อนที่จะทำการปรับปรุงใช้เวลาในการผลิตต่อชิ้นที่ 4.86 นาทีต่อชิ้น หลังการปรับปรุงสามารถลดเวลาในการผลิตต่อชิ้นอยู่ที่ 4.13 นาทีต่อชิ้น คิดเป็นร้อยละ 15 ของการปรับปรุงซึ่งลดลงได้มากกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 10 ก่อนทำการปรับปรุง ซึ่งมีผลให้ได้ผลผลิต (Productivity) มากขึ้นเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุนซึ่งมีการแข่งขันกันอย่างรุนแรงและต้องมีการปรับปรุงอยู่ตลอดเวลา