Fresh Coffee Consumption Behavior Of Officers In Manufacturing Industry Case Study : AT TWO COFFEE
โดย บุณชนิกา ยมลำภู
ปี 2551
บทคัดย่อ (Abstract)
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อหาความสัมพันธ์ของลักษณะทางประชากรศาสตร์กับพฤติกรรมการบริโภคกาแฟสด ของพนักงานในโรงงานอุตสาหกรรม 2) เพื่อหาความสัมพันธ์ของปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อกับพฤติกรรมการบริโภคกาแฟสด ของพนักงานในโรงงานอุตสาหกรรม 3) เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของลักษณะทางประชากรศาสตร์กับปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อกาแฟสดจากร้านกาแฟสด แอท ทู คอฟฟี่ 4) เพื่อวิเคราะห์สภาพแวดล้อมของร้านกาแฟสด แอท ทู คอฟฟี่ โดย SWOT Analysis ประชากรของการวิจัย คือ พนักงานของโรงงานอุตสาหกรรม 4 บริษัท และเป็นผู้ที่เคยใช้บริการที่ร้านกาแฟสด แอท ทู คอฟฟี่ ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบโควตา (Quota Sampling) และใช้ความสะดวกในการเลือกกลุ่มตัวอย่าง (Convenience Sampling) โดยมีขนาดกลุ่มตัวอย่าง 320 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถาม สถิติที่ใช้คือ ค่าแจกแจงความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ทดสอบสมมติฐานด้วยวิธีการทดสอบ ไคสแควร์ (Chi-Square Test) การทดสอบสหสัมพันธ์เชิงอันดับ (Spearman’s Rank Correlation Coefficient) เพื่อวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ของตัวแปร และวิธีการทดสอบIndependent Sample t-Test กับกลุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่ม One-Way ANOVA กับกลุ่มตัวอย่างมากกว่า 2 กลุ่ม และ LSD เพื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบความแตกต่าง
ผลการวิจัย พบว่า ผู้บริโภคกาแฟสดส่วนใหญ่เป็นหญิง อายุ 26-35 ปี สถานภาพโสดมีการศึกษาระดับมัธยมศึกษา มีตำแหน่งงานในระดับพนักงานปฏิบัติการ รายได้ต่อเดือนต่ำกว่า10,000 บาท และสาเหตุที่นิยมดื่มกาแฟสดเพราะให้ความสดชื่น กระฉับกระเฉง ด้านพฤติกรรมการบริโภคกาแฟสด พบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ดื่มกาแฟสด 1 แก้วต่อวัน ดื่มมากกว่า 4 ครั้งต่อสัปดาห์ดื่มช่วงก่อนเริ่มงาน ชอบกาแฟสูตรเอสเปรสโซ่ ประเภทเย็น และรสชาติเข้ม ส่วนปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อ ผู้บริโภคให้ความสำคัญในระดับมาก ได้แก่ ปัจจัยด้านกระบวนการให้บริการด้านบุคลากร และด้านราคา ตามลำดับ ส่วนปัจจัยด้านผลิตภัณฑ์ ให้ความสำคัญในระดับปานกลางผลการทดสอบสมมติฐาน พบว่า เพศหญิง การศึกษาระดับมัธยมศึกษา ตำแหน่งพนักงานปฏิบัติการและสาเหตุที่ดื่มเพราะให้ความสดชื่น กระฉับกระเฉง มีความสัมพันธ์กับปริมาณการดื่มต่อวันมากที่สุด นอกจากนั้น เพศหญิง ยังมีความสัมพันธ์กับกาแฟสดประเภทเย็น รสชาติเข้ม ส่วนรายได้ต่อเดือนมีความสัมพันธ์กับจำนวนการดื่มมากกว่า 4 ครั้งต่อสัปดาห์ ปัจจัยด้านบุคลากร และด้านกระบวนการให้บริการ มีความสัมพันธ์กับปริมาณการดื่มต่อวัน จำนวนครั้งในการดื่มต่อสัปดาห์ช่วงเวลาในการดื่มกาแฟสด และสูตรกาแฟสดที่เลือกดื่ม
Comments are closed.