Employee Working Motivation in Auto Parts Manufacturing Company Case Study: Amata Nakorn Industrial Estate
โดย วรรณภา ขอผดุง
ปี 2551
บทคัดย่อ (Abstract)
การวิจัยครั้งนี้ได้ศึกษาแรงจูงใจในการทำงานของพนักงานบริษัทผลิตชิ้นส่วนยานยนต์กรณีศึกษานิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร เพื่อให้ทราบถึงปัจจัยส่วนบุคคลที่มีผลต่อปัจจัยจูงใจในการทำงาน และปัจจัยค้ำจุนในการทำงานของพนักงานในบริษัทผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร ทั้งนี้ผลการวิจัยสามารถนำไปเป็นแนวทางในการปรับปรุง หรือสร้างแรงจูงใจให้สอดคล้องกับความต้องการของพนักงาน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการในการตัดสินใจในการวางแผนงานด้านบุคลากรในอนาคต ซึ่งได้ทำการเก็บข้อมูลจากการใช้แบบสอบถามที่จัดทำขึ้นจำนวน 400 ตัวอย่าง โดยเป็นการสุ่มตัวอย่างแบบสะดวกและทำการทดสอบสมมติฐานด้วยสถิติ t-test และ One way ANOVA
จากการวิจัยครั้งนี้พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นเพศชาย มีอายุอยู่ในช่วง 21–30 ปีมีระดับการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า มีตำแหน่งปฏิบัติงานทั่วไป ประสบการณ์ทำงาน 1–5 ปีและมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 5,001 – 10,000 บาท
การทดสอบสมมติฐาน ปัจจัยส่วนบุคคล ได้แก่ อายุ ระดับการศึกษา ตำแหน่งงาน รายได้เฉลี่ยต่อเดือน ที่ต่างกัน มีปัจจัยจูงใจในการทำงานแตกต่างกัน และปัจจัยส่วนบุคคล ได้แก่ เพศ อายุระดับการศึกษา ตำแหน่งงาน ประสบการณ์ในการทำงาน รายได้เฉลี่ยต่อเดือน ที่ต่างกัน มีปัจจัยค้ำจุนในการทำงานแตกต่างกัน มีระดับความสำคัญของปัจจัยจูงใจในการทำงานอยู่ในระดับมากในด้านความสำเร็จในงานที่ทำ ด้านการได้รับการยอมรับ ด้านลักษณะของงาน และด้านความรับผิดชอบและมีระดับความสำคัญของปัจจัยจูงใจในการทำงานอยู่ในระดับปานกลางในด้านความก้าวหน้า
ในส่วนของระดับความสำคัญของปัจจัยค้ำจุนในการทำงานอยู่ในระดับมากในด้านความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน ด้านสถานะทางอาชีพ ด้านสภาพการทำงาน ด้านความเป็นอยู่ส่วนตัว ด้านความมั่นคงในการทำงาน และด้านวิธีการปกครองบังคับบัญชา และมีระดับความสำคัญของปัจจัยจูงใจในการทำงานอยู่ในระดับปานกลางในด้านสวัสดิการและค่าตอบแทน ด้านโอกาสก้าวหน้าในอนาคต และด้านนโยบายและการบริหาร