Factors Affecting Raw Materials Purchasing from Oversea for Manufacturer in Hi-Tech Industrial Estate, Ayutthaya Province
โดย อุดม สาสาร
ปี 2551
บทคัดย่อ (Abstract)
การศึกษาวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะพื้นฐานส่วนบุคคลและองค์กร และปัจจัยในการเลือกซื้อวัตถุดิบจากต่างประเทศที่มีผลต่อการจัดซื้อวัตถุดิบจากต่างประเทศของโรงงานอุตสาหกรรมในเขตนิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวน 87 บริษัทเจาะจงเฉพาะหน่วยงานจัดซื้อของแต่ละองค์กรโดยกำหนดให้ผู้จัดการแผนกจัดซื้อเป็นตัวแทนขององค์กรกลุ่มตัวอย่างในการตอบแบบสอบถามซึ่งใช้เป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล และนำมา
วิเคราะห์ด้วยโปรแกรม SPSS for Windows โดยใช้สถิติเชิงพรรณนาเพื่ออธิบายข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าสถิติร้อยละ ค่าคะแนนเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และใช้สถิติเชิงอนุมานเพื่อทดสอบสมมติฐาน ได้แก่ Chi-Square, Spearman’s Correlation และ Kendall’s tau-b Correlation
จากการศึกษาพบว่าข้อมูลพื้นฐานส่วนบุคคลและองค์กรของผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นผู้มีการศึกษาระดับปริญญาตรี มีอายุการทำงานระหว่าง 11-15 ปี และเป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมประเภทอิเลคทรอนิคส์ โดยมีเงินทุนจดทะเบียนระหว่าง 101–300 ล้านบาท และมีระยะเวลาการดำเนินงานระหว่าง 10 – 20 ปี โดยมีสัดส่วนการจำหน่ายสินค้าในประเทศ 20% และต่างประเทศ 80% ส่วนข้อมูลการจัดซื้อวัตถุดิบจากต่างประเทศพบว่าผู้ประกอบการกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีนโยบายการจัดซื้อแบบรวมอำนาจ มีการกำหนดปริมาณและช่วงเวลาในการจัดซื้อตามการวางแผนความต้องการวัตถุดิบ และมีความถี่ในการจัดซื้ออยู่ที่สัปดาห์ละ1-2 ครั้ง โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับปัจจัยทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ ด้านกฎหมายและการเมือง ด้านเทคโนโลยี ด้านสังคมและวัฒนธรรม ด้านการตลาด และด้านเศรษฐกิจในระดับมาก โดยมีค่าคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 3.75,3.67, 3.65 และ 3.56 ตามลำดับ โดยที่ปัจจัยด้านการตลาด และด้านเศรษฐกิจมีค่าคะแนนเฉลี่ยเท่ากัน
ผลการทดสอบสมมติฐานด้วยสถิติ Chi-Square พบว่าลักษณะพื้นฐานส่วนบุคคลด้านระดับการศึกษามีผลต่อการจัดซื้อวัตถุดิบจากต่างประเทศด้านนโยบายการจัดซื้อ ด้านอายุการทำงานมีผลต่อการจัดซื้อวัตถุดิบจากต่างประเทศด้านปริมาณและช่วงเวลาในการจัดซื้อ ส่วนลักษณะพื้นฐานส่วนองค์กรไม่มีผลต่อการจัดซื้อวัตถุดิบจากต่างประเทศ โดยที่ปัจจัยในการเลือกซื้อวัตถุดิบจากต่างประเทศ ด้านการตลาด ด้านเศรษฐกิจ ด้านกฎหมายและการเมืองมีผลต่อการจัดซื้อวัตถุดิบจากต่างประเทศด้านนโยบาย และด้านปริมาณและช่วงเวลาในการจัดซื้อ ส่วนด้านเทคโนโลยี และด้านสังคมและวัฒนธรรมมีผลต่อการจัดซื้อวัตถุดิบจากต่างประเทศด้านปริมาณและช่วงเวลาในการจัดซื้อแต่ไม่มีผลต่อด้านนโยบายการจัดซื้อ และผลจากการทดสอบสมมติฐานด้วยสถิติ Spearman’s Correlation และ Kendall’s tau-b Correlation พบว่าลักษณะพื้นฐานส่วนบุคคลด้านระดับการศึกษา และอายุการทำงานมีความสัมพันธ์กับการจัดซื้อวัตถุดิบจากต่างประเทศด้านความถี่ในการจัดซื้อ ในขณะที่ลักษณะพื้นฐานส่วนองค์กรด้านช่วงระยะเวลาการดำเนินงานนั้นไม่มีความสัมพันธ์กับความถี่ในการจัดซื้อ ส่วนปัจจัยในการเลือกซื้อวัตถุดิบจากต่างประเทศด้านการตลาด ด้านเทคโนโลยี ด้านกฎหมายและการเมือง และด้านสังคมและวัฒนธรรม มีความสัมพันธ์กับการจัดซื้อวัตถุดิบจากต่างประเทศด้านความถี่ในการจัดซื้อ ในขณะที่ปัจจัยด้านเศรษฐกิจนั้นไม่มีความสัมพันธ์กับความถี่ในการจัดซื้อ