Rice Purchasing Behavior Case Study : Consumers in Pathumtani Province

โดย หลักชัย ฉิมสุทธิ

ปี     2551

บทคัดย่อ (Abstract)

การศึกษา พฤติกรรมการเลือกซื้อข้าวสารของผู้บริโภคในเขตจังหวัดปทุมธานี มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมการตัดสินใจซื้อข้าวสาร ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยส่วนบุคคลกับพฤติกรรมการเลือกซื้อข้าวสารและความสัมพันธ์ระหว่างส่วนประสมทางการตลาดกับพฤติกรรมการเลือกซื้อข้าวสาร ผู้บริโภคในเขตจังหวัดปทุมธานี จากกลุ่มตัวอย่าง 400 คน สถิติที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ ความถี่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการแจกแจงแบบไค-สแควร์ (Chi-Square)
ผลการวิจัยพบว่า
ปัจจัยส่วนบุคคลของผู้บริโภคในเขตจังหวัดปทุมธานี พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง อาศัยอยู่ในอำเภอลำลูกกา มีอายุระหว่าง 21-30 ปีสถานภาพสมรส ระดับการศึกษาสูงสุดมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 มีอาชีพพนักงานหรือลูกจ้างเอกชน มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่ำกว่า 10,000 บาท และมีจำนวนสมาชิกในครอบครัว 4 คน ระดับความคิดเห็นเกี่ยวกับส่วนประสมทางการตลาดที่มีผลต่อพฤติกรรมการเลือกซื้อข้าวสาร ผู้บริโภคในเขตจังหวัดปทุมธานี พบว่า ด้านผลิตภัณฑ์ ราคา และด้านช่องทางการจำหน่าย โดยรวมอยู่ในระดับมาก แต่ด้านการส่งเสริมการตลาด โดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง พฤติกรรมผู้บริโภคในการเลือกซื้อข้าวสารของผู้บริโภคในเขตจังหวัดปทุมธานี พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เลือกซื้อข้าวสารประเภทข้าวขาวหอมมะลิ ชนิดบรรจุถุง 5 กิโลกรัม ไม่ระบุยี่ห้อซื้อจากซุปเปอร์มาเก็ต ได้รับอิทธิพลในการตัดสินใจซื้อจากบุคคลในครอบครัว แหล่งข้อมูลที่ได้รับในการตัดสินใจจากบุคคลที่เคยซื้อ ความถี่ในการซื้อ 2 สัปดาห์ต่อครั้ง ปริมาณในการซื้อแต่ละครั้งมากกว่า 5 กิโลกรัม จำนวนเงินที่ซื้อระหว่าง 201-500 บาท ผลการทดสอบสมมติฐาน พบว่า ปัจจัยส่วนบุคคล ด้านที่อยู่ ระดับการศึกษา และจำนวนสมาชิกในครอบครัวมีผลต่อพฤติกรรมการเลือกซื้อข้าวสารในเขตจังหวัดปทุมธานีทุกด้าน และส่วนประสมทางการตลาด ด้านผลิตภัณฑ์และราคา มีผลต่อพฤติกรรมการเลือกซื้อข้าวสารในเขตจังหวัดปทุมธานีทุกด้าน

DOWNLOAD : Rice Purchasing Behavior Case Study : Consumers in Pathumtani Province