The Acceptance of Geographical Information Systems Technology: Case Study of Car Navigator Systems with Population in Bangkok
โดย อรวรรณ ไสรบุตร
ปี 2552
บทคัดย่อ (Abstract)
การศึกษาวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการยอมรับเทคโนโลยีระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ ในเรื่องระบบนำทางในรถยนต์ (Car Navigator System) ของประชากรในกรุงเทพมหานคร กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในการขับขี่รถยนต์ที่ทำงานหรืออาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร จำนวน 385 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถามวิเคราะห์ข้อมูลโดยการแจกแจงความถี่ ค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบสมมติฐานด้วย สถิติ Independent t-test และ One-Way ANOVA
ผลการศึกษาพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง(58.2) มีสถานภาพโสด (55.6) ช่วงอายุระหว่าง 24 – 29 ปี (25.5) จบการศึกษาปริญญาตรี (54.8) รายได้ระหว่าง 10,001-20,000 บาท (32.2) มีประสบการณ์ในการขับขี่รถยนต์ ระหว่าง 1-10 ปี (66.2) โดยขับรถยนต์เฉลี่ยทุกวันต่อเดือน (87.8) มีการใช้รถยนต์ในลักษณะเดินทางในชีวิตประจำวัน (67.8)และไม่ใช้รถยนต์ในการเดินทางท่องเที่ยว (70.4) รถยนต์ที่ใช้เป็นรถยนต์ส่วนบุคคล (91.7)มีความรู้ความเข้าใจพื้นฐานจีไอเอสอยู่ในระดับที่มาก (43.4) ส่วนการยอมรับทางความคิดเห็นระบบนำทางในรถยนต์ในด้านการรับรู้ อยู่ในระดับมาก ( ค่าเฉลี่ย = 3.05, SD = 0.55) ด้านการสื่อสารอยู่ในระดับมากที่สุด (ค่าเฉลี่ย = 3.44, SD = 0.50) ด้านผลิตภัณฑ์อยู่ในระดับมากที่สุด (ค่าเฉลี่ย = 3.61, SD = 0.30) ด้านประโยชน์อยู่ในระดับมากที่สุด (ค่าเฉลี่ย = 3.66, SD = 0.43) การทดสอบสมมติฐานเกี่ยวกับปัจจัยด้านประชากรศาสตร์ที่มีผลต่อการยอมรับระบบนำทางในรถยนต์ พบว่า อายุ และประสบการณ์ในการขับขี่รถยนต์มีความแตกต่างในด้านผลิตภัณฑ์ กลุ่มตัวอย่างอายุ ต่ำกว่า 23 ปี กับ สูงกว่า 48 ปี มีความแตกต่างกันมาก เนื่องมาจากกลุ่มอายุสูงกว่า 48 ปี มีประสบการณ์ในการขับขี่มาก เพราะมีความชำนาญในเส้นทางต่าง ๆ จึงทำให้ไม่สนใจในการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการเดินทางถึงแม้จะมีการรับรู้ผลิตภัณฑ์มาบ้างก็ตาม และราคาของผลิตภัณฑ์มีราคาที่สูง แต่กลุ่มอายุต่ำกว่า 23 ปี เป็นผู้ที่เริ่มมีหน้าที่การงาน และมีประสบการณ์ในการขับขี่น้อย กลุ่มตัวอย่างนี้จึงเริ่มที่จะเสาะแสวงหาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาช่วยในการอำนวยความสะดวกในการเดินทาง ดังนั้นควรมีการเจาะกลุ่มเป้าหมายในกลุ่มอายุน้อย เพราะกลุ่มนี้จะมีการยอมรับนวตกรรมได้มากกว่ากลุ่มอื่น ๆ