TMB Bank Public Company Limited’s Image Following the Standardization of Its New Image in View of Service Users in Bangkok Metropolitan Area
โดย นันธนันท์ เอี่ยมมาลัย
ปี 2552
บทคัดย่อ (Abstract)
การศึกษาภาพลักษณ์ของธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ภายหลังการปรับภาพลักษณ์ใหม่ในมุมมองของผู้ใช้บริการในเขตกรุงเทพมหานคร มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะทางประชากรศาสตร์ พฤติกรรมการใช้บริการ และความคิดเห็นต่อภาพลักษณ์ของธนาคารทหารไทยจำกัด (มหาชน) ของผู้ใช้บริการในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 400 คน การวิเคราะห์ข้อมูลใช้ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบสมมติฐานใช้การทดสอบค่าที (t-test) และการทดสอบค่าเอฟ (F-test)
ผลการวิจัยสรุปได้ว่าผู้ใช้บริการส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง อายุระหว่าง 25 – 34 ปี การศึกษาระดับปริญญาตรี มีอาชีพข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 15,000 บาท โดยเลือกใช้บริการสาขาบริการเต็มรูปแบบ (เปิดให้บริการจันทร์ – ศุกร์) ซึ่งส่วนใหญ่ใช้บริการด้านฝาก/ถอน/โอนเงิน เลือกใช้บริการผ่านตู้ ATM มีระยะเวลาการเป็นลูกค้าไม่เกิน 5 ปี และมีความถี่ในการใช้บริการ 2 ครั้งต่อเดือน โดยผู้ใช้บริการมีความคิดเห็นว่าภาพลักษณ์ด้านตรายี่ห้อ/สัญลักษณ์/โลโก้ด้านองค์กรโดยรวม ด้านบุคลากร/พนักงาน ด้านความรับผิดชอบต่อสังคม และด้านบริการของธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ดีขึ้นกว่าเดิม แต่ภาพลักษณ์ด้านผลิตภัณฑ์ยังเท่าเดิม
ผลการทดสอบสมมติฐาน พบว่า ผู้ใช้บริการที่มีอายุแตกต่างกันมีความคิดเห็นต่อภาพลักษณ์ผลิตภัณฑ์/การบริการ และภาพลักษณ์ตรายี่ห้อแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ 0.05 ผู้ใช้บริการที่มีระดับการศึกษาแตกต่างกันมีความคิดเห็นต่อภาพลักษณ์ของสถาบัน/องค์กรแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ 0.05 ผู้ใช้บริการที่มีพฤติกรรมการใช้บริการด้านรูปแบบสาขา และความถี่ของการใช้บริการต่อเดือนแตกต่างกัน มีความคิดเห็นต่อภาพลักษณ์ผลิตภัณฑ์/บริการแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ 0.05 นอกจากนี้ ผู้ใช้บริการที่มีระยะเวลาในการเป็นลูกค้าของธนาคารแตกต่างกันมีความคิดเห็นต่อภาพลักษณ์ตรายี่ห้อ แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ 0.05
Comments are closed.