ปัญหาการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น: ศึกษาเฉพาะกรณีอุทธรณ์ค่าทดแทน

โดย ชไมพร อำไพจิตร

ปีที่   5 ฉบับที่ 2 เดือน พฤษภาคม-สิงหาคม 2554

บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัญหาเกี่ยวกับ กรณีการอุทธรณ์ค่าทดแทนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ กรุงเทพมหานคร และเทศบาลนครนครสวรรค์ที่ได้ดำเนินการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เนื่องด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ถูกเวนคืนส่วนใหญ่ไม่พอใจราคาค่าทดแทนเบื้องต้นที่ได้รับจากหน่วยงานเวนคืนจึงเป็นปัญหาสืบเนื่องไปถึงกระบวนการพิจารณาอุทธรณ์เงินค่าทดแทนที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากและต้องใช้ระยะเวลาในการพิจารณาอุทธรณ์ที่ยาวนานยืดเยื้อไม่เอื้ออำนวยความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนตามหลักการที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมายเวนคืนได้กำหนดไว้

ผลการศึกษาโดยการศึกษาวิจัยจากเอกสารรายงานการประชุมคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ สถิติข้อมูลที่เกี่ยวข้องข้อกฎหมาย และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องพบว่า ปัญหาการอุทธรณ์เงินค่าทดแทนการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังไม่เป็นแนวทางเดียวกันและยังไม่สามารถอำนวยความเป็นธรรมผู้ถูกเวนคืนได้เท่าเทียมกัน ปัญหาหลักการตามที่กฎหมายเวนคืนกำหนดไว้โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับการพิจารณาอุทธรณ์ในประเด็นการกำหนดเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนยังไม่เอื้ออำนวยความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนได้อย่างเต็มที่ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายกำหนดไว้ผู้ถูกเวนคืนไม่มีความเชื่อมั่นว่าหน่วยงานเวนคืนซึ่งเป็นองค์กรของภาครัฐจะแก้ไขปัญหาเรื่องการกำหนดราคาค่าทดแทนได้อย่างแท้จริง ผู้ถูกเวนคืนหลายรายที่ได้ยื่นอุทธรณ์ค่าทดแทนต่อรัฐมนตรีฯ แล้วได้เลือกที่จะใช้สิทธิฟ้องร้องคดีเวนคืนต่อศาลปกครองด้วยอีกทางหนึ่ง ซึ่งมีจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่องปัญหาเจ้าหน้าที่เวนคืนและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากการทำงานบางเรื่องมีความซ้ำซ้อน ขาดผู้ที่มีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับการประเมินราคาอสังหาริมทรัพย์อย่างแท้จริง กระบวนการพิจารณาอุทธรณ์แต่ละโครงการมีขั้นตอนมาก ไม่มีมาตรการที่แน่นอน ทำให้การพิจารณาอุทธรณ์ค่าทดแทนมีความล่าช้ายืดเยื้อ เป็นภาระแก่ผู้อุทธรณ์เปรียบได้กับองค์กรของภาครัฐคำนึงถึงอำนาจเอกสิทธิ์ในการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อประโยชน์สาธารณะเพียงฝ่ายเดียวโดยไม่คำนึงถึงหลักการชดใช้ค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ด้วยความเป็นธรรมตามหลักการที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมายเวนคืนได้กำหนดไว้

สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว การแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้คงรูปแบบไว้ แต่องค์ประกอบของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต้องเพิ่มบุคคลที่มีความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญในการประเมินราคาค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ภาคเอกชนเข้าร่วมเป็นกรรมการพิจารณาอุทธรณ์รวมทั้งผู้ถูกเวนคืนสามารถจ้างผู้ประเมินราคาเอกชนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการด้วยโดยภาครัฐเป็นผู้รับภาระจ่ายค่าตอบแทน และบุคคลที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านกฎหมาย ควรกำหนดคุณสมบัติเพิ่มเติมให้ชัดเจนว่าเป็นผู้ที่มีความรู้และเชี่ยวชาญอย่างแท้จริงเกี่ยวกับเรื่องการเวนคืนและการประเมินราคาอสังหาริมทรัพย์ด้วย ทั้งนี้ควรกำหนดให้คณะกรรมการมีความเป็นอิสระ มีความน่าเชื่อถือ ไม่มีส่วนได้เสียหรือเกี่ยวพันกับผู้เวนคืนหรือมีผลประโยชน์จากการเวนคืน ตามแนวทางการไต่สวนโครงการเวนคืนเพื่อประโยชน์สาธารณะของประเทศฝรั่งเศส สำหรับวิธีการพิจารณาอุทธรณ์ควรใช้วิธีการไต่สวนสาธารณะตามแนวทางของประเทศอังกฤษโดยให้ผู้ถูกเวนคืนมีโอกาสเข้าร่วมในการกระบวนการพิจารณาอุทธรณ์ เพื่อเสนอความเห็น พยานหลักฐานสนับสนุนคำขออุทธรณ์ของตนและคัดค้านเจ้าหน้าที่เวนคืนอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ควรปรับปรุงแนวทางปฏิบัติและการดำเนินงานของภาครัฐให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นเพื่อเป็นการสนับสนุนการทำหน้าที่ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และถือเป็นการดำเนินการภายใต้พื้นฐานของหลักสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งสอดคล้องกับหลักการที่ให้เอกชนเข้ามาตรวจสอบและควบคุมการใช้อำนาจเอกสิทธิ์ของฝ่ายปกครองนั่นเอง

DOWNLOAD : ปัญหาการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น: ศึกษาเฉพาะกรณีอุทธรณ์ค่าทดแทน