ปัญหาทางกฎหมายลิขสิทธิ์: ศึกษากรณีการสืบค้นข้อมูลผ่านโปรแกรมค้นหา (Search Engine) บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
โดย เสาวภา ธันธนาพรชัย
ปีที่ 5 ฉบับที่ 2 เดือน พฤษภาคม-สิงหาคม 2554
บทคัดย่อ
อินเทอร์เน็ต คือ มหาสมุทรของข้อมูลสารสนเทศเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลขนาดใหญ่ ข้อมูลมากมายมหาศาล แต่กลับเก็บไว้ไม่เป็นระเบียบเหมือนกับมีห้องสมุดที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ขาดตู้หนังสือ มีหนังสือวางระเกะระกะเต็มไปหมด การที่จะค้นหาข้อมูลที่ต้องการบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตให้ได้รวดเร็วนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายดังนั้นจึงเกิดเว็บไซต์ให้บริการสืบค้นข้อมูลผ่านโปรแกรมค้นหา (Search Engine) บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เว็บไซต์ดังกล่าวเกิดจากการทำงานของโปรแกรมอัตโนมัติที่รู้จักกันในลักษณะคล้ายกับตัวแมงมุม (Spiders) หรือหุ่นยนต์ (Bots) ที่ท่องเที่ยวไปตามเครือข่าย (Web) ต่างๆอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจะทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเว็บไซต์ต่างๆ โดยการทำซ้ำข้อมูล แล้วนำมาเก็บไว้ในฐานข้อมูลของตนเอง ซึ่งระบบการทำงานของเว็บไซต์ให้บริการสืบค้นข้อมูลผ่านโปรแกรมค้นหานี้ จะทำการประมวลผลจากฐานข้อมูลของตนเอง ต่อจากนั้นจะแสดงผลในรูปแบบของไฮเปอร์ลิงค์ (Hyperlink) ซึ่งเป็นเส้นทางการเชื่อมโยงไปยังเว็บไซต์ต่างๆ เพื่อให้บริการแก่ผู้ใช้บริการสืบค้นข้อมูล ทำให้ผู้ใช้บริการสามารถสืบค้นข้อมูลความรู้ ข้อมูลโฆษณาสินค้า ข้อมูลการเงิน ข้อมูลเศรษฐกิจ ยังรวมไปถึงข้อมูลทางการแพทย์ และงานวิจัยต่างๆเป็นต้น ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถส่งให้ถึงบ้านหรือที่ทำงานของผู้ใช้บริการได้ภายในไม่กี่นาทีจากแหล่งข้อมูลทั่วโลก เป็นการประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายไม่ติดขัดเรื่องเวลาหรือสถานที่ การให้บริการสืบค้นข้อมูลผ่านโปรแกรมค้นหาบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตนี้ นับว่ามีประโยชน์อย่างมหาศาลต่อสาธารณชน แต่จากหลักการทำงานของเว็บไซต์สืบค้นข้อมูลผ่านโปรแกรมค้นหาบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตนี้ ก่อให้เกิดปัญหาใหม่ทางกฎหมายลิขสิทธิ์หลายประการเช่น การทำซ้ำข้อมูลของเว็บไซต์สืบค้นข้อมูลเพื่อทำการรวบรวมข้อมูลต่างๆมาเก็บไว้ในฐานข้อมูลของตนเองถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์โดยการทำซ้ำตามกฎหมายลิขสิทธิ์หรือไม่ และการแสดงผลของการสืบค้นในรูปแบบของไฮเปอร์ลิงค์ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์โดยการเผยแพร่ต่อสาธารณชนหรือไม่ และหากผู้ให้บริการเว็บไซต์สืบค้นข้อมูลได้รับผลประโยชน์ทางอ้อมจากการโฆษณาหรือจากการสมัครเข้าเป็นสมาชิกในการขอใช้บริการสืบค้นข้อมูล ผู้ให้บริการเว็บไซต์สืบค้นข้อมูลจะสามารถอ้างหลักการใช้งานลิขสิทธิ์โดยชอบธรรม(Fair Use) เพื่อนำมายกเว้นความรับผิดจากการละเมิดลิขสิทธิ์ตามกฎหมายลิขสิทธิ์ได้หรือไม่
วิทยานิพนธ์นี้จึงมีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาถึงปัญหาทางกฎหมายลิขสิทธิ์ในการสืบค้นข้อมูลผ่านโปรแกรมค้นหาบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของประเทศไทยโดยทำการศึกษากฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายลิขสิทธิ์ของต่างประเทศ ได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกาประเทศออสเตรเลีย และกลุ่มประชาคมยุโรป เพื่อให้ทราบถึงปัญหาและแนวทางในการแก้ไขปัญหา ซึ่งผู้เขียนพบว่ากฎหมายลิขสิทธิ์ของไทยที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ยังไม่มีความชัดเจนและยังไม่ครอบคลุมถึงความรับผิดหรือข้อจำกัดความรับผิดของผู้ให้บริการเว็บไซต์สืบค้นข้อมูลผ่านโปรแกรมค้นหาบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตจากการศึกษาปัญหาดังกล่าว ผู้เขียนจึงขอเสนอแนะให้แก้ไขบทนิยามคำว่า “ทำซ้ำ”ในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 แม้จากร่างพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ….ได้กำหนดไว้ว่า “ทำซ้ำ”หมายความรวมถึง คัดลอก เลียนแบบ ทำสำเนา ทำแม่พิมพ์ บันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกเสียงและภาพจากต้นฉบับ จากสำเนา จากการเผยแพร่ต่อสาธารณชนหรือจากสื่อบันทึกใด ไม่ว่าด้วยวิธีหรือรูปแบบใดๆ ในส่วนอันเป็นสาระสำคัญ โดยไม่มีลักษณะเป็นการจัดทำงานขึ้นใหม่ ทั้งนี้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน และไม่ว่าการกระทำดังกล่าวจะเป็นการชั่วคราวหรือถาวร โดยผู้เขียนขอเสนอแนะให้แก้ไขเพิ่มเติมจากร่างพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ…..บทนิยามคำว่า “ทำซ้ำ” ให้ชัดเจนยิ่งขึ้นโดยเฉพาะการทำซ้ำชั่วคราวให้หมายถึง การทำสำเนาข้อมูลชั่วคราวอันเกิดจากกระบวนการโดยอัตโนมัติของระบบคอมพิวเตอร์หรือระบบเครือข่ายใดๆ ที่เกิดขึ้นโดยปกติ และการทำสำเนาข้อมูลชั่วคราวเพื่อการส่งต่อข้อมูลของระบบเครือข่าย และกำหนดให้การทำซ้ำชั่วคราวในลักษณะดังกล่าวไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ นอกจากนี้ควรกำหนดบทบัญญัติในเรื่องผู้ให้บริการออนไลน์ แม้ตามร่างพระราชบัญญัตลิขสิทธิ์ พ.ศ. ….ในมาตรา 32/2 ได้กำหนดว่า“ผู้ให้บริการ” หมายความว่า (1) ผู้ให้บริการส่งผ่าน หรือเชื่อมต่อข้อมูลเพื่อการสื่อสารผ่านระบบดิจิตอล ระหว่างจุดที่กำหนดโดยผู้ใช้งาน โดยมิได้เปลี่ยนแปลงเนื้อหาของข้อมูลที่ผู้ใช้รับหรือส่ง (2) ผู้ให้บริการแก่บุคคลทั่วไปในการเข้าสู่อินเทอร์เน็ต หรือผู้อำนวยความสะดวกโดยประการอื่นในการเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ต ผู้เขียนเห็นว่าความหมายของผู้ให้บริการยังไม่ชัดเจนว่าหมายถึงผู้ให้บริการในลักษณะใด ผู้เขียนจึงขอเสนอแนะให้แก้ไขเพิ่มเติมความหมายของผู้ให้บริการให้ชัดเจนว่าหมายถึง ผู้ให้บริการประเภทใดบ้าง พร้อมทั้งควรกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ให้บริการ และข้อยกเว้นความรับผิดหรือหลักการใช้งานลิขสิทธิ์โดยชอบธรรม (Fair Use) ด้วย