ปัญหาทางกฎหมายในการประวิงการใช้เงินหรือคืนเบี้ยประกันภัยของบริษัทประกันชีวิต

โดย กนก พลับพลึง

ปีที่ 5 ฉบับที่ 2 เดือน พฤษภาคม-สิงหาคม 2554

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อทำการศึกษาปัญหาเรื่องการประวิงการใช้เงินหรือคืนเบี้ยประกันภัยของบริษัทประกันชีวิต เพื่อศึกษาวิเคราะห์ถึงข้อบกพร่องของประกาศว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและระยะเวลาที่ถือเป็นการประวิงการจ่ายการใช้เงินและประวิงการคืนเบี้ยประกันของบริษัทประกันชีวิต และหาแนวทางที่เหมาะสมมาใช้เป็นข้อเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขข้อประกาศดังกล่าว จากการศึกษาประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่ถือว่าเป็นการประวิงการจ่ายการใช้เงินหรือประวิงการคืนเบี้ยประกันภัยของบริษัทประกันชีวิต ฉบับลงวันที่ 4 มกราคม 2548 ยังไม่มีความชัดเจนและไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายหลายประการ เช่น ปัญหาความไม่สอดคล้องกันระหว่างข้อความในประกาศกระทรวงกับพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535 มาตรา 37 วรรคหนึ่ง ปัญหาเกี่ยวกับกรณีที่ถือได้ว่าเป็นการประวิงในกรณีที่มีการร้องเรียน ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และได้มีคำวินิจฉัยให้บริษัท ใช้เงิน แต่บริษัทโต้แย้งคำวินิจฉัย ต่อมาศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในประเด็นที่โต้แย้งให้บริษัทใช้เงินตามกรมธรรม์ประกันภัย ปัญหาเกี่ยวกับความไม่ชัดเจนของประกาศในข้อ 2 (7) ปัญหาเกี่ยวกับกรณีที่ถือได้ว่าเป็นการประวิงในกรณีที่มีการพิจารณาโดยวิธีอนุญาโตตุลาการ รวมทั้งปัญหาเกี่ยวกับการกำหนดจำนวนอนุญาโตตุลาการในการพิจารณาข้อพิพาท ผู้ศึกษาจึงได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาทางกฎหมายคือ 1) โดยการแก้ไขเพิ่มเติมในประกาศกระทรวง ควรแก้ไขเพิ่มเติมข้อความในประกาศกระทรวงข้อ 2 (2) ในกรณีที่บริษัทมีพฤติกรรมแสดงให้เห็นว่าไม่ประสงค์จะใช้เงินตามกรมธรรม์ประกันภัย หรือคืนเบี้ยประกันภัย โดยไม่มีเหตุอันสมควร หรือไม่สุจริต” และเพิ่มเติมข้อความในวรรคท้ายของข้อ 2 “ ทั้งนี้การกระทำตามความใน (1)-(9) ต้องเป็นการกระทำที่ไม่มีเหตุผลอันสมควรหรือไม่สุจริต” 2) ควรแก้ไขเพิ่มเติมข้อความ ในประกาศกระทรวง ข้อ 2 (6) มีความว่า “ในกรณีที่มีการร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) ได้มีคำวินิจฉัยให้บริษัทใช้เงินตามกรมธรรม์ประกันภัย หรือให้คืนเบี้ยประกันภัย แต่บริษัทไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัย โดยไม่มีเหตุอันสมควร หรือไม่สุจริตและได้โต้แย้งคำวินิจฉัยภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่บริษัทได้รับคำวินิจฉัย จนมีการนำข้อร้องเรียนนั้นไปฟ้องคดีต่อศาล และศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในประเด็นที่โต้แย้งกันให้บริษัทใช้เงิน เพราะเหตุที่บริษัท ได้ต่อสู้คดีโดยไม่มีพยานหรือหลักฐานใดๆ มานำสืบ”3) ยกเลิกประกาศกระทรวง ข้อ 2 (7) 4) ควรแก้ไขเพิ่มเติมข้อความในประกาศกระทรวง ข้อ 2 (9) “ในกรณีที่อนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดให้บริษัทใช้เงินตามกรมธรรม์ประกันภัยหรือให้คืนเบี้ยประกันภัย แต่บริษัทก็ไม่ปฎิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจนพ้นระยะเวลาที่กำหนด เว้นแต่บริษัทมีพยานหลักฐานใหม่ ซึ่งอาจทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ บริษัทอาจยื่นให้อนุญาโตตุลาการพิจารณาข้อพิพาทใหม่ได้ ภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่มีคำชี้ขาด” และ 5) ควรแก้ไข ระเบียบสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2551หมวดที่ 4 ส่วนที่ 5 การตั้งอนุญาโตตุลาการ กำหนดว่า “ข้อ 17 (3) กรณีข้อพิพาทที่เกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมายให้มีอนุญาโตตุลาการจำนวน 3 คน”

DOWNLOAD : ปัญหาทางกฎหมายในการประวิงการใช้เงินหรือคืนเบี้ยประกันภัยของบริษัทประกันชีวิต