ปัญหาเกี่ยวกับการลงลายมือชื่อในตั๋วเงิน :ศึกษากรณีการลงลายมือชื่อของผู้แทนนิติบุคคล

โดย บุญเลิศ สีวันนา

ปีที่  5 ฉบับที่ 2 เดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2554

บทคัดย่อ

ตั๋วเงินเป็นสัญญาที่ถือการแสดงเจตนาผูกพันด้วยการลงลายมือชื่อในตั๋วเงินเป็นสำคัญตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 149 ประกอบกับมาตรา 900 วรรคแรก ความรับผิดตามสัญญาตั๋วเงินจึงเกิดขึ้นเพราะการลงลายมือชื่อในตั๋วเงิน(liability based on signature) แต่ทั้งนี้หากการลงลายมือชื่อนั้นเป็นการลงลายมือชื่อแทนผู้อื่นผู้ลงลายมือชื่อในตั๋วเงินนั้นจะต้องรับผิดเพียงใด ซึ่งในในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 901 วางหลักไว้ว่า บุคคลใดลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินหากมิได้เขียนแถลงว่ากระทำการแทนบุคคลอีกคนหนึ่ง ผู้ที่ลงลายมือชื่อต้องรับผิดตามเนื้อความแห่งตั๋วเงิน ซึ่งมาตรานี้เป็นเรื่องของตัวแทนลงลายมือชื่อในตั๋วเงินแทนตัวการ ดังนั้นหากเป็นกรณีของผู้แทนนิติบุคคลที่ได้ลงลายมือชื่อในตั๋วเงินโดยเป็นการแสดงเจตนาตามความประสงค์ของนิติบุคคล ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 70วรรคสอง ที่โดยหลักกฎหมายแล้วถือว่าเป็นการแสดงเจตนาของนิติบุคคลเองจะมีผลให้การลงลายมือชื่อของผู้แทนนิติบุคคลในตั๋วเงินมีผลผูกพันให้นิติบุคคลต้องรับผิดตามเนื้อความแห่งตั๋วเงินนั้นหรือมีผลให้ผู้แทนนิติบุคคลต้องรับผิดตามเนื้อความแห่งตั๋วเงินหรือไม่เพียงใด

จากหลักกฎหมายดังที่ปรากฏข้างต้น ในปัจจุบันนี้เมื่อมีคดีปรากฏขึ้นสู่ศาล ศาลฎีกามีแนววินิจฉัยคดีความออกเป็นสองแนวทางด้วยกัน คือ แนวแรกเห็นว่าเป็นเรื่องตัวการตัวแทน เมื่อผู้แทนนิติบุคคลลงลายมือชื่อในตั๋วเงินโดยมิได้เขียนแถลงว่าทำการแทนบุคคลอื่นจึงต้องรับผิดตามเนื้อความแห่งตั๋วเงินเป็นส่วนตัวตามมาตรา 900 และมาตรา 901 ส่วนแนวที่สองเห็นว่าผู้แทนนิติบุคคลเป็นผู้แสดงความประสงค์ของนิติบุคคลจึงถือว่านิติบุคคลเป็นผู้ลงลายมือชื่อในตั๋วเงินเองตามมาตรา 70 วรรคสอง แม้จะไม่ได้เขียนแถลงว่ากระทำการแทนบุคคลใดก็ไม่ทำให้ผู้แทนนิติบุคคลต้องรับผิดตามเนื้อความแห่งตั๋วเงินเป็นส่วนตัว

จากการได้ศึกษาปัญหาการลงลายมือชื่อของผู้แทนนิติบุคคลในตั๋วเงินแล้วพบว่า การลงลายมือชื่อในตั๋วเงินของผู้แทนนิติบุคคลซึ่งได้ลงลายมือชื่อในตั๋วเงินในนามของนิติบุคคลไม่อยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 901 แต่อยู่ในบังคับของมาตรา70 วรรคสอง ดังนั้นการลงลายมือชื่อในตั๋วเงิน ผู้แทนนิติบุคคลจึงไม่จำต้องเขียนแถลงว่าเป็นการกระทำการแทนนิติบุคคลก็มีผลผูกพันนิติบุคคลให้รับผิดตามเนื้อความแห่งตั๋วเงิน แต่อย่างไรก็ดีการลงลายมือชื่อในตั๋วเงินดังกล่าวผู้แทนนิติบุคคลจะต้องกระทำการอยู่ภายในขอบแห่งอำนาจหน้าที่หรือวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลดังได้บัญญัติหรือกำหนดไว้ในกฎหมายข้อบังคับ หรือตราสารจัดตั้งตามมาตรา 66 ด้วย จึงจะทำให้ผู้แทนนิติบุคคลหลุดพ้นจากความรับผิดตามเนื้อความแห่งตั๋วเงินนั้น อย่างไรก็ตามด้วยความเห็นทางกฎหมายที่ยังต่างกันอยู่เช่นนี้ และด้วยความไม่ชัดเจนของบทบัญญัติที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน เพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการลงลายมือชื่อในตั๋วเงินของผู้แทนนิติบุคคลโดยการลงลายมือชื่อในนามนิติบุคคล ผู้เขียนจึงขอเสนอแนะ ดังนี้
1) ควรปรับปรุงประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 901 โดย(1) กำหนดไว้ให้ชัดเจนเกี่ยวกับการลงลายมือชื่อในตั๋วเงินแทนผู้อื่น มี 2 สถานะคือ เป็นตัวแทน กับ เป็นผู้แทนนิติบุคคลโดยให้ผู้แทนนิติบุคคลระบุสถานะภาพ(Representative Character) ไว้บนตั๋วเงินด้วย(2) กำหนดวิธีการแสดงข้อความบนตั๋วเงินในการทำการแทนผู้อื่นสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การระบุชื่อ หมายเลขทะเบียนนิติบุคคล ที่อยู่ เลขที่บัญชีสำหรับเช็ค
2) ควรปรับปรุงประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะหุ้นส่วนบริษัทและพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด โดยให้ยกเว้นการใช้ตราประทับกับตั๋วเงินโดยการปรับปรุงแก้ไขบทบัญญัติดังกล่าวนี้ใช้แนวทางกฎหมายของประเทศอังกฤษ และสหรัฐอเมริกามาเป็นแบบอย่าง
3) ควรให้ธนาคารแห่งประเทศไทยออกกฎระเบียบ เกี่ยวกับรูปแบบตั๋วเงินมาตรฐานสำหรับนิติบุคคลที่เรียกเก็บเงินผ่านระบบของสถาบันการเงิน
4) ควรให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ขอความร่วมมือจากธนาคารพาณิชย์ในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ตั๋วเงินอย่างถูกต้องและปลอดภัย กับลูกค้าที่ใช้บริการทางการเงิน

DOWNLOAD : ปัญหาเกี่ยวกับการลงลายมือชื่อในตั๋วเงิน :ศึกษากรณีการลงลายมือชื่อของผู้แทนนิติบุคคล