Accounting systems of Rajamangala University of Technology saving and credit co-operative limited
โดย นันธิญา อิ่มประเสริฐ
ปี 2555
บทคัดย่อ
การค้นคว้าอิสระนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาปัญหาระบบบัญชีสหกรณ์ออมทรัพย์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล จำกัด และเพื่อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อพัฒนาระบบบัญชีสหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล จำกัด การศึกษาในครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงคุณภาพข้อมูลที่ได้มาจากการสัมภาษณ์และสังเกตการณ์จากเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานของสหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล จำกัด พร้อมรวบรวมข้อมูลจากเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบบัญชีกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ และประกาศต่าง ๆ ของสหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล จำกัด
ผลการศึกษาพบว่า ปัญหาและอุปสรรคของระบบบัญชีมีดังนี้ (1) ระบบสินเชื่อ พบว่าเอกสารบางประเภทมีการจัดทำน้อยเกินไป เช่น การจัดทำเอกสารสัญญาเงินกู้ ของสมาชิกเพียง 1 ชุดและเก็บไว้ที่สหกรณ์ การจ่ายเงินฉุกเฉิน เงินกู้พิเศษไม่มีการอนุมัติก่อนการจ่ายเงิน (2) ระบบรับชำระหนี้การคืนเงินส่วนที่ชำระเกินให้กับสมาชิกล่าช้า มีผลให้รายงานประจำเดือนที่เสนอต่อคณะกรรมการไม่สะท้อนความเป็นจริง (3) ระบบเงินรับฝากและคืนเงินรับฝากตามระเบียบสหกรณ์ต้องกระทำ ณ ที่ทำการสหกรณ์ ในทางปฏิบัติสหกรณ์รับฝากเงินและคืนเงินรับฝากไม่เกิน 15,000 บาท ต่อครั้ง ถ้าเกิน 15,000 บาท สมาชิกจะต้องฝากเงินผ่านธนาคารทำให้มีความเสี่ยงอาจจะเกิดการบันทึกยอดเงินรับฝากจากเจ้าหน้าที่ธนาคารผิดพลาด แนวทางการแก้ไขปัญหาดังนี้ (1) ) ควรจัดทำสัญญาเงินกู้ 3 ชุด โดยต้นฉบับเก็บไว้ที่สหกรณ์ สำเนาฉบับที่ 2 ให้ผู้กู้ สำเนาฉบับที่ 3 ให้ผู้ค้ำประกันเพื่อยืนยันยอดเงินกู้ให้ถูกต้องตรงกัน และการกู้เงินเพื่อเหตุฉุกเฉิน เงินกู้พิเศษ ต้องมีการกำหนดเป็นลายลักษณ์อักษรว่าการจ่ายเงินทุกครั้งต้องได้รับการอนุมัติจากผู้มีอำนาจก่อนการจ่ายเงิน (2) ควรกำหนดระยะเวลาในการโอนเงินจากกองคลังหน่วยเรียกเก็บเงินไม่เกินวันที่ 30 ของทุกเดือน และกำหนดระยะเวลาการตัดชำระหนี้ของสหกรณ์ให้แล้วเสร็จไม่เกินวันที่ 5 ของทุกเดือน เพื่อให้งานเป็นปัจจุบันและเป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้ (3) ควรกำหนดให้มีการฝากและถอนคืนเงินรับฝาก ณ ที่ทำการสหกรณ์เพื่อลดปัญหาสมาชิกไม่นำหลักฐานมาให้สหกรณ์และความเสี่ยงที่อาจเกิดจากธนาคารบันทึกรายการผิดพลาด