โดย : นิตยา กาญจนารักษ์

ปี : 2553

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์  1) เพื่อศึกษาระดับปัจจัยการบริหารและระดับกระบวนการบริหารจัดการหลักสูตรสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน  2) เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยการบริหารกับกระบวนการบริหารจัดการหลักสูตรสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน 3) เพื่อศึกษาปัจจัยการบริหารที่ส่งผลต่อกระบวนการบริหารจัดการหลักสูตรสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำแนก ตามความคิดเห็นของผู้บริหารสถานศึกษา  และครูผู้สอน และกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำแนกตาม เพศ อายุ ระดับการศึกษา  ตำแหน่งหน้าที่ในการปฏิบัติงาน และประสบการณ์ในการปฏิบัติงาน เครื่องมือที่ใช้เก็บรวบรวมข้อมูล คือ แบบสอบถาม กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ ผู้บริหารสถานศึกษา  ครูผู้สอน และกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน  464 คน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ค่าความถี่ (Frequency) ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard deviation)ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน(Pearson’s product moment correlation coefficient) และการวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณ (Multiple regression analysis) แบบขั้นตอน (Stepwise)

ผลการวิจัยพบว่า

1.   ระดับของปัจจัยการบริหารของสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาปทุมธานี เขต 1 ตามทัศนะของผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอน และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พบว่าโดยภาพรวมมีสภาพที่ปรากฏอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่า ทุกด้านปรากฏในระดับมากโดยมีระดับการปฏิบัติมากที่สุด 3 ด้าน คือด้านผู้บริหาร ด้านการสอน และด้านงบประมาณ ส่วนด้านที่มีระดับการปฏิบัติน้อยที่สุด คือด้านชุมชนและผู้ปกครอง

2.   ระดับของกระบวนการบริหารจัดการหลักสูตรสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาปทุมธานี เขต 1 ตามทัศนะของผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอน และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยภาพรวมมีสภาพที่ปรากฏอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่าทุกข้อปรากฏในระดับมาก โดยมีระดับการปฏิบัติมากที่สุด 3 ด้าน คือด้านการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา ด้านการประเมินและพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา และด้านการวางแผนดำเนินการใช้หลักสูตรสถานศึกษา ส่วนด้านที่มีระดับการปฏิบัติน้อยที่สุด คือด้านสรุปผลการดำเนินงานและการรายงาน

3.    ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยการบริหารกับกระบวนการบริหารจัดการหลักสูตรสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาปทุมธานี เขต 1 ตามทัศนะของผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอน และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยภาพรวมมีความสัมพันธ์กันระดับต่ำทางบวก อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดยปัจจัยการบริหารด้านชุมชนและผู้ปกครองมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับกระบวนการบริหารจัดการหลักสูตรสถานศึกษาขั้นพื้นฐานมากที่สุด รองลงมาปัจจัยการบริหารด้านวัสดุหลักสูตร และพบว่า ปัจจัยการบริหาร ทั้ง 6 ตัวแปร มีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดยมีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์อยู่ระหว่าง 0.159 ถึง 0.227 โดยตัวแปรที่มีความสัมพันธ์กันสูงสุด คือ ด้านงบประมาณกับการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา รองลงมาคือ ด้านวัสดุหลักสูตร กับ การจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา ส่วนตัวแปรที่มีความสัมพันธ์กันต่ำสุด คือ ด้านครูผู้สอนกับการเตรียมความพร้อมของสถานศึกษา

4.   ปัจจัยที่ส่งผลต่อกระบวนการบริหารจัดการหลักสูตรสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาปทุมธานี เขต 1 ตามทัศนะของผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอน และกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งเมื่อได้ดำเนินการตรวจสอบความเป็นอิสระต่อกันระหว่างตัวแปรที่เป็นปัจจัยการบริหารกับกระบวนการบริหารจัดการหลักสูตรสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาปทุมธานี เขต 1 เรียบร้อยแล้ว พบว่า ปัจจัยการบริหารทั้ง 3 ด้าน ส่งผลต่อกระบวนบริหารหลักสูตรสถานศึกษาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 เรียงตามลำดับความสำคัญ คือ ด้านชุมชนและผู้ปกครอง ด้านวัสดุหลักสูตร และด้านผู้บริหาร โดยมีค่าสัมประสิทธิ์การตัดสินใจ 0.074 แสดงว่าปัจจัยการบริหารด้านชุมชนและผู้ปกครอง ด้านวัสดุหลักสูตร และด้านผู้บริหาร สามารถทำนายกระบวนการบริหารจัดการหลักสูตรสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาปทุมธานี เขต 1 ได้ร้อยละ 7.4

Download : ปัจจัยการบริหารที่ส่งผลต่อกระบวนการบริหารจัดการหลักสูตรสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดสานักงานเขตพื้นที่ การศึกษาปทุมธานี เขต 1