Readiness in educational transfer to the local administration organization in Pathum Thani, Nonthaburi and Phranakhonsi Ayutthaya Provinces
โดย ชื่นจิตต์ วงษ์พนัส, บุญทัน ดอกไธสง, สุดใจ ทูลพานิชย์กิจ และบุญเรือง ศรีเหรัญ
ปี 2556
วารสารบริหารธุรกิจ ราชมงคลธัญบุรี ปีที่ 8 ฉบับที่ 1 เดือนกรกฎาคม 2556
บทคัดย่อ
การศึกษาวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษาการนำนโยบายการถ่ายโอนการศึกษาให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปปฏิบัติในจังหวัดปทุมธานี จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา (2) ศึกษาปัจจัยการถ่ายโอนการศึกษาให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดปทุมธานี จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา (3) ศึกษาประเมินความพร้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสถานศึกษาในจังหวัดปทุมธานี จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา (4) เสนอแนะแนวทางการถ่ายโอนการศึกษาให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดปทุมธานี จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
การวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยได้ทำการศึกษาวิจัยทั้งเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณโดยการวิจัยเชิงคุณภาพมีกลุ่มตัวอย่างในการวิจัย จำนวน 25 คน โดยการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับความพร้อมการถ่ายโอนการศึกษาให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดปทุมธานี จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และการวิจัยเชิงปริมาณ โดยใช้แบบสอบถามผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับความพร้อมการถ่ายโอนการศึกษาให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดปทุมธานี จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้มาโดยการสุ่มตัวอย่าง ได้ขนาดตัวอย่าง 388 คน และวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัยพบว่า ภาครัฐส่วนกลางจัดสรรงบประมาณให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่เพียงพอและไม่กระจายอำนาจหน้าที่ในการบริหารัดการศึกษาให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างชัดเจน ตลอดจนผู้บริหารสถานศึกษา ครู และบุคลากรทางการศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการไม่ประสงค์ที่จะทำงานภายใต้การบริหารัดการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเห็นว่าบุคลากรทางการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่มีมาตรฐาน โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวนทั้งสิ้น 267 แห่ง มีความพร้อมในการจัดการศึกษา จำนวน 95 แห่ง และไม่มีความพร้อมในการจัดการศึกษา จำนวน 172 แห่ง และผู้ปกครองนักเรียน ประชาชนในท้องถิ่น บุคลากรทางการศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการมีความเห็นว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่มีความพร้อมด้านงบประมาณ ด้านวิชาการและด้านการบริหารบุคคล ดังนั้นจึงไม่เห็นด้วยกับการถ่ายโอนการศึกษาให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น