Color appearance of photograph demonstrated by D-up viewer

จัดทำโดย อภิชญา พานิชชอบ

ปีการศึกษา 2558


บทคัดย่อ (Abstract)

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะศึกษาการปรับสภาพการมองเห็นสีของแผ่นทดสอบด้วยการประเมินค่าการปรากฏสี ภายใต้สภาวะการมอง 3 ลักษณะ ได้แก่ มองภายในห้องทดลองจริง (Real room view) มองรูปภาพผ่านกล่องมองภาพสามมิติ (D-up view) และมองที่รูปภาพโดยไม่มีอุปกรณ์ใด ๆ (Normal view) ผู้สังเกตจะถูกเชิญให้เข้าไปในห้องทดลองที่มีการส่องสว่างของแสงสีแดง สีเขียว และสีน้ำเงิน จากนั้นให้มองไปรอบ ๆ ห้อง และประเมินค่าสีของแผ่นทดสอบขนาด 4×4 เซนติเมตร ที่ปรากฏอยู่ที่กำแพงด้านหน้าห้อง ด้วยวิธีการบอกค่าสัดส่วนองค์ประกอบของสีที่มองเห็น หรือที่เรียกว่า วิธี Elementary color naming จากนั้นผู้สังเกตจะถูกเชิญให้ประเมินค่าสีของแผ่นทดสอบในรูปภาพที่ถ่ายภายใต้ 3 สภาวะแสงที่กล่องมองภาพสามมิติด้วยตาเพียงหนึ่งข้าง (Monocular) และทำการประเมินค่าสีที่ปรากฏเหมือนการทดลองในห้องทดลองจริง จากนั้นทำการเปิดไฟในห้องปฏิบัติการทดลองและให้ผู้สังเกตประเมินค่าสีของแผ่นทดสอบในรูปภาพด้วยตาเปล่า ซึ่งการประเมินค่าสีนั้นจะมีการทำซ้ำทั้งหมด 5 ครั้ง ต่อหนึ่งสภาวะการมอง ผู้สังเกตที่เข้าร่วมการทดลองมีทั้งหมด 5 คน ที่ผ่านการทดสอบการมองเห็นสีด้วย Ishihara test

จากผลการทดลอง พบว่า ผู้สังเกตประเมินค่าความเป็นสีของแผ่นทดสอบเมื่อมองผ่านกล่องมองภาพสามมิติมีความใกล้เคียงกับค่าความเป็นสีเมื่อมองภายในห้องทดลองจริง ซึ่งผลการทดลองบอกเป็นนัยว่า การปรับสภาพการมองเห็นสีนั้น การรับรู้แบบสามมิติเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้เราเห็นสีที่แท้จริงของวัตถุ และเมื่อเราตัดการรับรู้แบบสามมิติในรูปภาพโดยการให้ผู้สังเกตประเมินค่าสีโดยไม่ผ่านกล่องมองภาพสามมิติ พบว่า ค่าความเป็นสีของแผ่นทดสอบที่ผู้สังเกตประเมินมีน้อยมาก ซึ่งแสดงว่า ผู้สังเกตไม่มีการรับรู้ภาพเป็นสามมิติการปรับสภาพการมองเห็นสีจึงไม่เกิดขึ้น

คำสำคัญ: การปรากฏสี, กล่องมองภาพสามมิติ, รูปภาพ, การรับรู้แบบสามมิติ, วิธีการบอกค่าสัดส่วนองค์ประกอบของสี


วัตถุประสงค์

เพื่อศึกษาการปรากฏสีของการปรับสภาพการมองเห็นสีภายในห้องทดลองจริงและเมื่อมองภาพถ่ายผ่านเครื่องมองภาพสามมิติ

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

  1. ได้ข้อมูลของการปรับสภาพการมองเห็นสีภายในห้องทดลองจริงและในภาพถ่ายผ่านเครื่องมองภาพสามมิติ
  2. ทราบถึงการมองภาพในลักษณะสามมิติผ่านเครื่องมองภาพสามมิติ

ขอบเขตการศึกษา

การศึกษาการปรากฏสีของภาพถ่ายผ่านเครื่องมองภาพสามมิติ D-up ได้มีขอบเขตการศึกษา โดยการใช้ห้องทดลองแบบเทคนิค 2 ห้อง และส่องสว่างด้วยแสงสีแดง สีเขียว และสีน้ำเงินภายในห้องผู้สังเกต จากนั้นทำการศึกษาสีของช่องหน้าต่างของแผ่นทดสอบที่อยู่ภายในห้องแผ่นทดสอบผ่านทางช่องหน้าต่างที่มีขนาด 4 x 4 เซนติเมตร ด้วยวิธีการ Elementary color naming จากนั้นทำการถ่ายภาพบรรยากาศภายในห้องผู้สังเกตที่มีแสงสีแดง สีเขียว และสีน้ำเงิน โดยการควบคุมสีของภาพถ่ายที่บริเวณกำแพงด้านหน้าห้องทดลองในภาพถ่ายให้ใกล้เคียงกับค่าสีที่วัดได้ในตำแหน่งเดียวกัน การมองภาพให้มีลักษณะสามมิติจะใช้เครื่องมองภาพสามมิติ D-up ที่มีการมองผ่านช่องมองเพียงตาเดียว และให้ผู้สังเกตประเมินค่าสีของช่องหน้าต่างที่อยู่ในภาพเช่นเดียวกับการประเมินการปรากฏสีในห้องทดลองจริง

คำนิยามศัพท์เฉพาะ

Adapted การปรากฏสีโดยการมองจากภายในห้องทดลอง

Adapting การปรากฏสีโดยมองจากห้องทดลองไปยังห้องผู้สังเกต

Blackness, Bk ค่าความเป็นสีดำ

Blue, B สีน้ำเงิน

Chromaticness, Ch ค่าความเป็นสี

D-up viewer, D การมองภาพสามมิติโดยใช้การมองจากตาข้างเดียว

Elementary color naming method วิธีการประเมินค่าสีทางจิตวิทยาฟิสิกส์

Elements (%) ค่าความเป็นสี ค่าความเป็นสีขาว ค่าความเป็นสีดำ

Green, G สีเขียว

Illuminance ความสว่าง

L หลอดไฟ

Luminance, Y ความส่องสว่าง

Normal view การมองภาพในลักษณะสองมิติ

P รูปภาพ

Perspective การถ่ายภาพให้ปรากฏออกมาในลักษณะที่เหมือนการมองเห็นจริง

PH ที่ยึดติดรูปภาพบนตัว D-up

Real room, R ห้องทดลอง

Red, R สีแดง

Subject room, S ห้องผู้สังเกต

SD ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน

Test room, T ห้องแผ่นทดสอบ

Whiteness, Wh ค่าความเป็นสีขาว

Window, W หน้าต่างระหว่างห้องผู้สังเกตและห้องแผ่นทดสอบ

Yellow, Y สีเหลือง


บทสรุปและข้อเสนอแนะ

ในการศึกษาเรื่อง “การปรากฏสีของภาพถ่ายผ่านเครื่องมองภาพสามมิติ D-up” การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะศึกษา หาค่าการปรากฏสีในลักษณะสามมิติผ่านห้องทดลองและเครื่องมองภาพสามมิติ จากการทดลองสามารถสรุปผลได้ดังประเด็นดังต่อไปนี้

  1. จากผลการทดลองที่ผู้สังเกตมีการเห็นสีของแผ่นทดสอบในห้องทดลองและจากภาพถ่ายห้องทดลอง มีสีที่ปรากฏใกล้เคียงกันนั้นก็แสดงว่าการรับรู้ภาพให้เป็นลักษณะสามมิติส่งผลการปรับสภาพในการมองเห็นสีและการมองเห็นสีคงที่ของวัตถุ
  2. การปรากฏสีของแผ่นทดสอบเมื่อมองภายใต้แสงสีแดงผู้สังเกตจะรับรู้แผ่นทดสอบเป็นสีน้ำเงินอมเขียว และภายใต้แสงสีเขียวผู้สังเกตจะรับรู้แผ่นทดสอบเป็นสีแดงอมน้ำเงิน และเมื่อภายใต้แสงสีน้ำเงินแผ่นทดสอบจะปรากฏสีเหลืองอมแดง
  3. ความคมชัดของภาพส่งผลต่อการรับรู้สามมิติในรูปภาพเมื่อมองผ่านเครื่องมองภาพสามมิติ

ข้อเสนอแนะ

  1. ลดการใช้อุณหภูมิสีในการถ่ายภายใต้แสงสีแดง เนื่องจากการใช้อุณหภูมิสีที่มากเกินไปแม้จะตรงตามที่ตาเห็นแต่เมื่อถ่ายภาพออกมาจะลดรายละเอียดของภาพเมื่อเวลามองผ่านเครื่องมองภาพสามมิติ (D-up) ทำให้มองเห็นสีไม่เป็นไปตามที่เห็นในห้องทดลอง (Real Room)
  2. ควรตรวจสอบค่าสีบนรูปภาพหลายจุด เพื่อเป็นการควบคุมคุณภาพของสีในภาพถ่าย