The documentary film production environment and wildlife conservation Khao Yai National Park, Nakhonratchasima

จัดทำโดย ปรีชา หมัดยะลาน, กรวิชญ์ ภิญญกิจ, ภาณุพงศ์ งามวงษ์, วุฒิฉัตร พางาม และ ภูเบศ จงทอง

สาขา เทคโนโลยีการถ่ายภาพและภาพยนตร์

ปีการศึกษา 2558


บทคัดย่อ (Abstract)

ปริญญานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการผลิตภาพยนตร์สารคดีเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสัตว์ป่า เพื่อให้นักท่องเที่ยวเห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย

วิธีการศึกษาได้ดำเนินการสร้างผลงานการผลิตภาพยนตร์สารคดีเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสัตว์ป่า อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา เพื่อให้นักท่องเที่ยวเห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์สถานที่ท่องเที่ยวและสัตว์ป่าในประเทศไทย ความยาว 11 นาที โดยใช้กล้อง Canon EOS 60D ตัดต่อภาพด้วยโปรแกรม Adobe Premiere Pro CS6 จากนั้นนำมาทำสำเนาลงในระบบ DVD และให้ผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาพยนตร์ จำนวน 3 ท่าน และนักท่องเที่ยวจำนวน 30 คน ประเมินผล

จากการศึกษาผลงานภาพยนตร์สารคดีเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสัตว์ป่าอยู่ในเกณฑ์ดี


วัตถุประสงค์

เพื่อศึกษาการผลิตภาพยนตร์สารคดีเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสัตว์ป่าเพื่อให้นักท่องเที่ยวเห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

สามารถผลิตภาพยนตร์สารคดีเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสัตว์ป่าเพื่อให้นักท่องเที่ยว
เห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

ขอบเขตการศึกษา

การศึกษาในครั้งนี้เป็นการศึกษาการผลิตภาพยนตร์สารคดีเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสัตว์ป่า ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา โดยถ่ายทำด้วยกล้อง DSLR Canon รุ่น 60D โดยทำการผลิตภาพยนตร์สารคดีเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสัตว์ป่า ความยาว 11 นาที แล้วนำภาพยนตร์ที่ถ่ายทำแล้วไปตัดต่อภาพด้วยโปรแกรม Adobe Premiere Pro CS6 จากนั้นนำมาทำสำเนาลงในระบบ DVD และให้ผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาพยนตร์ จำนวน 3 ท่าน ประเมินคุณภาพทางด้านเทคนิคการถ่ายทำและเนื้อหาของบทภาพยนตร์ และนักท่องเที่ยวจำนวน 30 คน ประเมินด้านวัตถุประสงค์ของภาพยนตร์โดยใช้แบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลโดยการใช้ค่าเฉลี่ย


สรุปผลการศึกษา

จากความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่กล่าวมาข้างต้น ผู้ศึกษาสามารถสรุปประเด็นต่าง ๆ จากการนำเสนอผลงาน “ภาพยนตร์สารคดีเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสัตว์ป่า” ได้ดังนี้

ข้อจำกัดในเรื่องของภาพ ภาพยนตร์สารคดีเรื่องดังกล่าว มีการใช้ภาพที่แสดงให้เห็นถึงความสอดคล้องกับเนื้อหาของบทสารคดีได้เป็นอย่างดี ในหลาย ๆ ช็อตมีภาพที่สวยงาม แต่ยังขาดภาพที่แสดงถึงอารมณ์ของลิง และภาพของฝูงลิงที่อาศัยอยู่ในป่าตามธรรมชาติ

ข้อจำกัดในเรื่องของเสียง ยังขาดเสียงบรรยากาศที่ช่วยสร้างอารมณ์ความเป็นธรรมชาติ ในเรื่องของเสียงดนตรีประกอบสามารถเลือกใช้ดนตรีได้อย่างเหมาะสม สามารถสร้างอารมณ์ในแต่ละช่วงของการเล่าเรื่องได้เป็นอย่างดี

จุดเด่นที่ผู้เชี่ยวชาญแสดงความคิดเห็นต่อผลงานภาพยนตร์สารคดีเรื่องดังกล่าว โดยภาพรวมของภาพยนตร์สารคดี ผู้ศึกษาสามารถนำเสนอภาพได้ตรงกับเนื้อเรื่องที่ต้องการนำเสนอ

อภิปรายผล

จากการประเมินผลเรื่องคุณภาพของผลงานภาพยนตร์สารคดี โดยผู้เชี่ยวชาญทางด้านการผลิตสื่อ ผู้เชี่ยวชาญได้แสดงความคิดเห็นต่อผลงานภาพยนตร์สารคดีเรื่องดังกล่าว ดังนี้

  1. คุณภาพของภาพในภาพยนตร์มีการจัดองค์ประกอบของภาพในบางช็อตได้อย่างเหมาะสม แต่ยังขาดภาพขนาดใกล้ที่จะทำให้ผู้ชมรับรู้ถึงอารมณ์ของลิงได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับประวิทย์ แต่งอักษร (2556 : 39) ที่กล่าวว่า ภาพขนาดใกล้มักใช้เพื่อแสดงรายละเอียดของอะไรก็ตามที่มีขนาดเล็ก ปกติแล้วคนทำหนังมักจะใช้เพื่อแสดงความสัมพันธ์ในระยะใกล้ชิดระหว่างผู้ชมกับตัวละคร หรือเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้สำรวจตรวจสอบปฏิกิริยาบนใบหน้าของตัวละคร เช่น ในหนังเรื่อง The Diving Bell and the Butterfly (2007) ภาพ Close-up แทนสายตาตัวเอกของเรื่องซึ่งล้มป่วยเป็นอัมพาตทั้งตัว ถูกใช้เพื่อเผยให้ทั้งเจ้าตัวและผู้ชมได้รับรู้ว่า นอกจากตัวเขาจะไม่ได้ถูกทอดทิ้งให้เผชิญกับความโชคร้ายเพียงลำพังแล้ว ยังแวดล้อมไปด้วยคนที่รักปรารถนาดี และเป็นห่วงเป็นใยมากมาย
  2. คุณภาพของเสียง ในภาพยนตร์มีการใช้เพลงบรรเลงที่นำมาใส่ประกอบสามารถทำได้ดีมีการเลือกเสียงประกอบที่เหมาะกับสถานการณ์ ไม่ทำลายเสียงบรรยาย ซึ่งสอดคล้องกับ ปรียาณัฏฐ์ ผาสุกะกุล (2528 : 8-9) ที่กล่าวว่า เสียงดนตรีเป็นเสียงที่มีอยู่ในภาพยนตร์ทั่ว ๆ ไป และมีความสามารถในการกระตุ้นอารมณ์ของผู้ชมให้เกิดความรู้สึกเคลิบเคลิ้ม สนุกสนาน ร่าเริง โศกเศร้า โกรธ และตื่นเต้น ดนตรีสามารถช่วยให้การเล่าเรื่องโดยภาพมีความสมบูรณ์และได้อารมณ์มากขึ้น นอกจากนั้นดนตรียังสามารถบอกสถานที่ของฉากได้ด้วย เช่น ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ บางครั้งเราก็ใช้ดนตรีในการเชื่อมฉากให้เกิดความต่อเนื่อง ดนตรีใช้เสริมสร้างความงามของภาพยนตร์และช่วยกล่อมอารมณ์ของคนดูให้คล้อยตามอารมณ์ของหนังด้วย ผู้สร้างจึงต้องใช้ความละเอียดอ่อนในการนำดนตรีเข้ามาประสานกับภาพโดยให้เกิดความกลมกลืนกัน
  3. ระยะเวลาในการนำเสนอ ใช้ระยะเวลาในการนำเสนอนานเกินไป ซึ่งเนื้อหาที่มีนั้นสามารถที่จะเล่าเรื่องให้กระชับขึ้นได้ การใช้ระยะเวลานานอาจทำให้ผู้ชมรู้สึกเบื่อหน่ายก่อนที่ภาพยนตร์จะจบ ซึ่งสอดคล้องกับ รักศานต์ วิวัฒน์สินอุดม (2546) ที่กล่าวว่า ภาพยนตร์สั้นมักมีความยาวตั้งแต่ 1-30 นาที ขึ้นอยู่กับความพอดีและลงตัว ความพอดี หรือความลงตัว อยู่ที่หนังสามารถตอบสนองเรื่องราวได้อย่างน่าพอใจหรือยัง ความยาวจึงขึ้นอยู่กับผู้กำกับที่จะตัดสินใจว่า การเล่าเรื่องเกินพอดี หรือขาดความพอดีหรือไม่ ซึ่งการขาดความพอดี หรือการเกินความพอดี จะส่งผลให้หนังอืดอาดยืดยาด หรือหนังเร็วจนเรื่องขาดหายไปทำให้ดูไม่รู้เรื่อง สำหรับหนังของมือใหม่มักมีข้อบกพร่อง คือ กังวลว่า คนดูจะไม่รู้เรื่อง จึงมักพูดมาก จนน่าเบื่อ หรือความอ่อนประสบการณ์ทำให้ไม่สามารถแตกช็อตให้คนดูเข้าใจเรื่องได้ จึงกลายเป็นหนังที่ห้วนและดูไม่รู้เรื่อง
  4. การดำเนินเรื่องและการเปิดปิดเรื่องสร้างความประทับใจ มีการเปิดเรื่องโดยเนื้อหาที่กว้างสามารถทำได้ดี มีการใช้ผู้เชี่ยวชาญมาเล่าถึงปัญหา และมีการสัมภาษณ์นักท่องเที่ยว ทำให้ผู้ชมสามารถเข้าใจถึงเนื้อหาได้ง่ายขึ้น การปิดเรื่องมีการใช้คำคมมาสรุปตอนท้ายเรื่อง เป็นการทิ้งท้ายด้วยแง่คิด ซึ่งสอดคล้องกับ บังอร อึ้งประเสริฐ (2553 : 26) ที่กล่าวว่า การดำเนินเรื่องของรายการสารคดีต้องมีความต่อเนื่องกลมกลืนกัน สามารถใช้รูปแบบการนำเสนอที่มีความหลากหลายไม่ว่าจะเป็นตัวละคร การสัมภาษณ์ การพูดคุยและใช้เพลงประกอบ เป็นต้น ในตอนจบของเรื่องจะสรุปทิ้งท้ายให้แง่คิดแก่ผู้ชมตามวัตถุประสงค์ของเรื่องที่ตั้งเอาไว้ สิ่งที่สำคัญที่สุดของรายการสารคดีก็คือทุกอย่างที่นำเสนอมานั้นต้องมีพื้นฐานมาจากความเป็นจริงทั้งสิ้น
  5. เทคนิคการตัดต่อ ในช่วงที่ต้องการเล่าเรื่องแบบช้า ๆ มีการใช้การเชื่อมภาพแบบจางซ้อน ในตอนจบช่วงและเริ่มช่วงใหม่มีการใช้ภาพจางเข้าและจางออก และในช่วงที่ต้องการเล่าเรื่องที่ตื่นเต้นมีการใช้ภาพแทนสายตาทำให้คนดูรู้สึกถึงอารมณ์ของตัวละครมากยิ่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับ วรรณี สำราญเวทย์ (2554 : 85-87) ที่กล่าวว่า ภาพจางเข้า (Fade in) เป็นการปรากฏภาพจากความมืดแล้วค่อย ๆ มองเห็นเป็นภาพชัดเจนในที่สุด นิยมใช้ภาพจางเข้าในตอนเริ่มต้นของภาพยนตร์ทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์บันเทิงหรือภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นจากเรื่องจริง เพื่อเป็นการแนะนำภาพยนตร์และทำหน้าที่คล้ายกับการเปิดม่านการแสดงภาพยนตร์นั่นเอง ช่วงความยาวของภาพจางเข้าจะมีผลต่ออารมณ์ของภาพยนตร์ด้วย ภาพยนตร์ชีวิตที่เศร้าสะเทือนใจอาจใช้ภาพจางเข้านานถึง 1 นาทีก็ได้ ในขณะที่ภาพยนตร์ตลกภาพยนตร์โฆษณาอาจใช้ภาพจางเข้าสั้นเพียง 6 เฟรมเท่านั้น
  6. องค์ประกอบโดยรวมของสารคดีและความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ ภาพยนตร์มีการนำเสนอวัตถุประสงค์ในการผลิต เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ คือ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ธรรมชาติรวมถึงการอนุรักษ์สัตว์ป่า ซึ่งสอดคล้องกับ ธัญญา สังขพันธานนท์ (2548 : 152) กล่าวว่า สารคดีประเภทนี้จะมีเนื้อหาหลักในการนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยชี้ให้คุณประโยชน์และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ ตลอดจนการอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ดิน น้ำ ป่า ภูเขา หรือการตีแผ่ให้เห็นปัญหาและวิกฤติทางด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันสารคดีประเภทนี้ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เห็นได้จากมีการนำเสนอในนิตยสาร เช่น วารสาร อ.ส.ท. เป็นต้น

จากการผลิตภาพยนตร์ “ภาพยนตร์สารคดีเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสัตว์ป่า” อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา โดยใช้การตัดต่อภาพด้วยโปรแกรมAdobe Premiere Pro CS6 จากการประเมินผลของผลงานภาพยนตร์สารคดี โดยนักท่องเที่ยวสามารถอภิปรายผลได้ ดังนี้

  1. เมื่อท่านได้ชมภาพยนตร์สารคดีเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสัตว์ป่าแล้ว ท่านมีความรู้สึกอยากอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสัตว์ป่ามากน้อยเพียงใด
    ผลการศึกษากลุ่มตัวอย่างพบว่า นักท่องเที่ยวมีความรู้สึกอยากอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสัตว์ป่าอยู่ในเกณฑ์ ดี ค่าเฉลี่ยคะแนน 4.40 แสดงว่า นักท่องเที่ยวให้คะแนนความรู้สึกอยากอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสัตว์ป่าอยู่ในระดับมาก
  2. เมื่อท่านได้ชมภาพยนตร์สารคดีเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสัตว์ป่าแล้ว ท่านมีความรู้สึกไม่อยากให้อาหารสัตว์ป่ามากน้อยเพียงใด
    ผลการศึกษากลุ่มตัวอย่างพบว่า นักท่องเที่ยวมีความรู้สึกไม่อยากให้อาหารสัตว์ป่าอยู่ในเกณฑ์ ดี ค่าเฉลี่ยคะแนน 4.33 แสดงว่า นักท่องเที่ยวให้คะแนนความรู้สึกไม่อยากให้อาหารสัตว์ป่าอยู่ในระดับมาก
  3. เมื่อท่านได้รับชมภาพยนตร์สารคดีเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสัตว์ป่าแล้ว ท่านมีความรู้สึกว่าไม่อยากทิ้งขยะมากน้อยเพียงใด
    ผลการศึกษากลุ่มตัวอย่างพบว่า นักท่องเที่ยวไม่อยากทิ้งขยะอยู่ในเกณฑ์ ดี ค่าเฉลี่ยคะแนน 4.06 แสดงว่า นักท่องเที่ยวให้คะแนนความรู้สึกไม่อยากทิ้งขยะอยู่ในระดับมาก
  4. เมื่อท่านได้รับชมภาพยนตร์สารคดีเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสัตว์ป่าแล้ว ท่านเห็นความสำคัญของลิงกังมากน้อยเพียงใด
    ผลการศึกษากลุ่มตัวอย่างพบว่า นักท่องเที่ยวเห็นความสำคัญของลิงอยู่ในเกณฑ์ ดี ค่าเฉลี่ยคะแนน 4.00 แสดงว่า นักท่องเที่ยวให้คะแนนเห็นความสำคัญของลิงอยู่ในระดับมาก
  5. เมื่อท่านได้รับชมภาพยนตร์สารคดีเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสัตว์ป่าแล้ว ท่านได้ความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์มากน้อยเพียงใด
    ผลการศึกษากลุ่มตัวอย่างพบว่า นักท่องเที่ยวได้รับความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์อยู่ในเกณฑ์ ปานกลาง ค่าเฉลี่ยคะแนน 3.96 แสดงว่า นักท่องเที่ยวให้คะแนนได้รับความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์อยู่ในระดับปานกลาง
  6. เมื่อท่านได้รับชมภาพยนตร์สารคดีเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสัตว์ป่าแล้ว ท่านได้แง่คิดมากน้อยเพียงใด
    ผลการศึกษากลุ่มตัวอย่างพบว่า นักท่องเที่ยวได้รับแง่คิดอยู่ในเกณฑ์ ดี ค่าเฉลี่ยคะแนน 4.36 แสดงว่า นักท่องเที่ยวให้คะแนนได้รับแง่คิดอยู่ในระดับมาก
  7. เมื่อท่านได้รับชมภาพยนตร์สารคดีเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสัตว์ป่าแล้ว ท่านจะทำตามกฎระเบียบของอุทยานฯมากน้อยเพียงใด
    ผลการศึกษากลุ่มตัวอย่างพบว่า นักท่องเที่ยวทำตามกฎระเบียบของอุทยานฯ อยู่ในเกณฑ์ดี ค่าเฉลี่ยคะแนน 4.36 แสดงว่า นักท่องเที่ยวให้คะแนนทำตามกฎระเบียบของอุทยานฯ อยู่ในระดับมาก

ข้อเสนอแนะในภาพยนตร์สารคดี

ในการผลิตภาพยนตร์สารคดีเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสัตว์ป่าครั้งต่อไป ผู้ศึกษามีข้อเสนอแนะดังนี้

  1. สารคดีควรมีความร่วมสมัย ควรมีความคิดที่แตกต่างออกไปจากสารคดีรูปแบบเดิมๆเพื่อดึงดูดความสนใจของผู้ชม
  2. ควรมีการนำผู้เชี่ยวชาญมากล่าวถึงประเด็นต่างๆ เพราะจะทำให้ดูน่าเชื่อถือมากขึ้น
  3. สารคดีควรมีเนื้อหาที่กระชับ และน่าสนใจ