Overlapping Study in the Transitional Period of Digital Radio in Thailand

ผู้วิจัย กุลกนิษฐ์  ทองเงา

ประจำปีงบประมาณ 2558


บทคัดย่อ

การศึกษาวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อวิทยุกระจายเสียงถึงความเหลื่อมล้ำที่จะเกิดขึ้นเมื่อเกิดการเปลี่ยนผ่านวิทยุดิจิทัลในประเทศไทย ประกอบด้วย ด้านการบริหารธุรกิจ ผู้บริโภค กระบวนการผลิต และการออกอากาศ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องในด้านสื่อวิทยุกระจายเสียง โดยใช้วิธีการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง (Purposive Sampling)  จำนวนทั้งสิ้น 60 คน ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญที่เป็นนักวิชาการด้านสื่อวิทยุกระจายเสียง จำนวน 30 คน และผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นผู้ผลิตรายการวิทยุกระจายเสียง จำนวน 30 คน ในการวิเคราะห์ข้อมูลใช้ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการวิจัยพบว่า ผู้เชี่ยวชาญเห็นด้วยกับความเหลื่อมล้ำเมื่อเกิดการเปลี่ยนผ่านวิทยุดิจิทัลในประเทศไทยทั้ง 4 ด้าน อยู่ในระดับมาก โดยให้ความสำคัญกับด้านของการบริหารธุรกิจเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ ด้านผู้บริโภค ด้านการออกอากาศ และลำดับสุดท้ายคือ ด้านของกระบวนการผลิต และจากผลการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ สรุปได้ว่า วิทยุดิจิทัล เป็นเรื่องใหม่ในประเทศไทยจึงอาจยังไม่มีความพร้อมเข้าสู่การเป็นวิทยุดิจิทัลในขณะนี้ ซึ่งการเปลี่ยนผ่านเป็นดิจิทัลนับว่าเป็นการเข้าสู่ความเป็นสากล แต่ควรมีการช่วยเหลือให้กับผู้ประกอบการวิทยุกระจายเสียงโดยเฉพาะสถานีที่มีทุนน้อยให้ได้รับการเตรียมตัวอย่างทั่วถึงและครอบคลุมทั้งประเทศ

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

เพื่อศึกษาความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อวิทยุกระจายเสียงถึงความเหลื่อมล้ำที่จะเกิดขึ้นเมื่อเกิดการเปลี่ยนผ่านวิทยุดิจิทัลในประเทศไทย ประกอบด้วย ด้านการบริหารธุรกิจ ผู้บริโภค กระบวนการผลิต และการออกอากาศ

ขอบเขตของการวิจัย

  1. ประชากร การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาโดยการออกแบบสอบถามผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการและผู้ผลิตรายการวิทยุกระจายเสียงในประเทศไทย
  2. กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยนี้เพื่อศึกษามุ่งเน้นบุคลากรที่เกี่ยวข้องในด้านสื่อวิทยุกระจายเสียงเป็นหลักโดยใช้วิธีการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง (Purposive Sampling)  จำนวนทั้งสิ้น 60 คน ได้แก่
    1. นักวิชาการด้านสื่อวิทยุกระจายเสียง จำนวน 30 คน
    2. ผู้ผลิตรายการวิทยุกระจายเสียง จำนวน 30 คน
  3. ศึกษาเฉพาะความเหลื่อมล้ำในด้านการบริหารธุรกิจ ผู้บริโภค กระบวนการผลิต และการออกอากาศ

นิยามศัพท์เฉพาะ

  1. วิทยุดิจิทัล คือ การนำเอาคลื่นสัญญาณอนาล็อกที่มีลักษณะเป็นคลื่นซายน์ (sine wave) มาแปลงเป็นคลื่นสี่เหลี่ยม (Square Wave) ในรูปของตัวเลขฐานสอง (Binary Digits) โดยกำหนดให้มีค่าเป็น 0 ขณะไม่มีสัญญาณ และมีค่าเป็น 1 ขณะมีสัญญาณ สัญญาณดิจิตอลจึงไม่ต่อเนื่องกัน ขนาดของสัญญาณจะมีค่าคงที่อยู่ระยะหนึ่งแล้วจึงเปลี่ยนค่าไป สัญญาณดิจิตอลที่เปลี่ยนไปนั้นจะมีลักษณะเป็นการเหนี่ยวนำทางไฟฟ้าแบบเปิด/ปิด อัตราการเหนี่ยวนำทางไฟฟ้าเพื่อส่งข้อมูลรูปรหัสตัวเลขฐานสองนี้เรียกว่า “บิท เรท” (Bit Rate)
  2. การผลิตรายการวิทยุกระจายเสียง คือ การผลิตรายการรูปแบบต่าง ๆ ประกอบด้วย รายการสารคดี รายการข่าว รายการตอบปัญหา รายการละคร รายการสนทนา รายการสัมภาษณ์ รายการอภิปราย รายการพูดคุย รายการบรรยายเหตุการณ์ รายการนิตยสารทางอากาศ รายการเพลง รายการปกิณกะ และรายการสาระละคร ที่ทำการออกอากาศในระบบดิจิทัล
    1. รายการสารคดี(Documentary หรือ Feature Programme)  คือ รายการที่นำเสนอเรื่องราวที่เป็นจริงหรือมีพื้นฐานอยู่บนข้อเท็จจริง ไม่ใช่จากเรื่องที่แต่งขึ้นหรือจากนวนิยาย ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องจะเป็นเรื่องที่ผูกพันกับเหตุการณ์และบุคคลจริง โดยนำเสนอด้วยภาพและเสียงบรรยายตลอดรายการ ไม่ต้องมีผู้ดำเนินรายการปรากฏตัวเพื่อคอยพูดเกริ่นนำ หรือเชื่อมโยงรายการ
    2. รายการข่าว(News Programme)  คือ รายการที่นำเสนอเหตุการณ์ เรื่องราว ข้อเท็จจริง ที่น่าสนใจ มีความสดใหม่ มีผลกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ โดยใช้วิธีการนำเสนอทั้งในลักษณะของการประกาศ การอ่านคำบรรยายข่าวโดยผู้ประกาศข่าว
    3. รายการตอบปัญหา (Quiz Programme)  คือ รายการที่จัดให้มีการแข่งขันกันระหว่างผู้ร่วมรายการด้วยการโทรศัพท์เข้ามาเล่นเกมส์หรือตอบปัญหาที่ผู้จัดรายการกำหนดขึ้นภายใต้เงื่อนไขของกฎและกติกาที่กำหนดไว้ล่วงหน้า ฝ่ายชนะจะได้รับรางวัลเป็นเงินหรือของรางวัลที่มีมูลค่าจำนวนมาก ในขณะที่ผู้แพ้จะได้รับเงินหรือของรางวัลตอบแทน โดยมีผู้ดำเนินรายการเป็นผู้อธิบายชี้แจงกติกาคอยดำเนินการและควบคุมการแข่งขันให้เกิดความสนุกสนานและยุติธรรม
    4. รายการละคร (Radio Drama Programme หรือ Radio Play)  คือ รายการที่นำเสนอเรื่องราวโดยใช้การแสดงตามบทบาทในเรื่องราวที่แต่งขึ้นหรือดัดแปลงจากเรื่องจริง เพื่อสื่อความหมายเกี่ยวกับสาระ ข้อคิด คติเตือนใจและความบันเทิงไปสู่ผู้ฟัง โดยอาศัยองค์ประกอบคือ เสียง ดนตรีประกอบ และเทคนิคพิเศษเพื่อให้เรื่องราวมีความสมจริง ฟังแล้วมีอารมณ์ร่วมและเกิดความรู้สึกคล้อยตาม
    5. รายการสนทนา(Conversational Programme) คือ รายการที่มีคนมาพูดคุยกัน 2-3 คน โดยมีคนหนึ่งเป็นผู้ดำเนินรายการ ส่วนบุคคลที่เหลือจะเป็นผู้ร่วมสนทนา ผู้ดำเนินรายการจะทำหน้าที่นำการสนทนาและคอยควบคุมการสนทนาให้เป็นไปตามขอบเขตและวัตถุประสงค์ของรายการคอยเชื่อมโยงประเด็นการสนทนา เพื่อไม่ให้ผู้ฟังเกิดความสับสนกับประเด็นที่สนทนา ผู้ดำเนินการสนทนาอาจร่วมแสดงความคิดเห็นด้วยการพูดคุยกับผู้ร่วมรายการในขณะเดียวกันก็จะต้องคอยพูดคุยกับผู้ชมรายการด้วย โดยเฉพาะในช่วงต้น  ที่ต้องเปิดประเด็นการสนทนาและช่วงท้ายที่ต้องสรุปประเด็นการสนทนา
    6. รายการสัมภาษณ์ (Interview Programme) เป็นรายการซึ่งมีบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป มาซักถามเรื่องราว ปัญหา ข้อข้องใจให้ผู้ฟังฟัง โดยมีผู้สัมภาษณ์ (Interviewer) 1 หรือ 2 คน เป็นผู้ถาม ส่วนผู้ให้คำสัมภาษณ์ซึ่งเป็นผู้ตอบคำถามหรือผู้ถูกสัมภาษณ์ (Interviewee) จะมีกี่คนก็ได้ สุดแล้วแต่ความเหมาะสมของเวลาในรายการและเนื้อหาที่จะสัมภาษณ์ว่าควรจะเชิญใครมาสัมภาษณ์บ้าง
    7. รายการอภิปราย (Discussion Programme) เป็นรายการพูดคุยอีกลักษณะหนึ่ง คือ ไม่ใช่การพูดคุยกับผู้ฟังโดยตรง แต่เป็นการพูดคุยออกความคิดเห็นกันในหัวข้อใดหัวข้อหนึ่ง หรือเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่ผู้มาร่วมอภิปรายนั้นต่างความคิดเห็นต่างทัศนะกัน จึงมาร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การแสดงความคิดเห็นจะเป็นไปทีละคน อย่างมีระเบียบโดยมีผู้ดำเนินการอภิปรายเป็นผู้ควบคุมให้รายการดำเนินไปตามแนวและขอบเขตที่วางไว้ ผู้ดำเนินการอภิปรายจะทำหน้าที่เพียงผู้นำการอภิปรายและเน้นหรือสรุปความคิดเห็นของผู้ร่วมอภิปรายในโอกาสอันควรเท่านั้น แต่จะไม่ร่วมอภิปรายด้วยเหมือนรายการสนทนา
    8. รายการพูดคุย  (Straight Talk Programme)  คือ รายการพูดคุยกับผู้ฟังโดยตรง (คือรายการที่มีผู้พูดเพียงคนเดียว พูดให้ผู้ฟังฟังโดยตรงนั่นเอง ไม่ใช่เป็นการพูดคุยกับคนอื่นให้ผู้ฟังฟัง)
    9. รายการนิตยสารทางอากาศ (Magazine Programme) คือ รายการที่มีหลายรส หลายเรื่อง หลายรูปแบบรวมกันอยู่ในรายการเดียวกัน
    10. รายการบรรยายเหตุการณ์ (Commentary) เป็นการรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและรายงานในขณะที่เหตุการณ์นั้นกำลังเกิดขึ้น หรือเหตุการณ์นั้นกำลังดำเนินอยู่ แล้วผู้บรรยายถ่ายทอดเหตุการณ์นั้นเป็นผู้บรรยายหรือเล่าถ่ายทอดให้ฟัง โดยอาจมีเสียงประกอบจริงจากสถานที่เกิดเหตุนั้นด้วย เป็นการบรรยายสิ่งที่เห็นและบางครั้งมีการวิจารณ์เพื่อให้ผู้ฟังพลอยเห็นภาพตามไปด้วย เราเรียกผู้บรรยายเหตุการณ์นั้นว่า “Commentator”
    11. รายการเพลง (Music Programme) รายการเพลงเป็นรายการที่มีความสำคัญและได้รับความสนใจจากผู้ฟังอย่างมาก ซึ่งความสนใจและความนิยมได้มีมานานแล้ว รายการเพลงเป็นรายการที่มุ่งให้ความบันเทิงอย่างแท้จริง  โดยมีข่าวประกอบบ้างเล็กน้อย
    12. รายการปกิณกะ (Variety Programme) เป็นรายการที่ประสมรายการหลายรูปแบบรวมอยู่ในรายการเดียวกันที่เรียกว่า “combination” แต่ไม่ใช่การประสมแบบนิตยสารทางอากาศ เพราะไม่มีการเชื่อมโยงต่อเนื่อง (transition หรือ link) แต่เป็นเพียงการเสนอเนื้อหาและรูปแบบหลาย ๆ รูปแบบมาผสมปนเปกัน มีแต่ความหลากหลาย แต่ไม่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวหรือเอกภาพ
    13. รายการสาระละคร (Docu-Drama Programme) บางครั้งเรียกว่า “สาระนิยาย” เป็นรูปแบบรายการที่นิยมทำกันเพื่อมุ่งให้ความรู้และความบันเทิงพร้อม ๆ กัน เป็นรายการที่ใช้รูปแบบของละครวิทยุผสมกับรูปแบบสารคดี โดยช่วงแรกจะเสนอรายการด้วยรูปแบบของละคร ในเนื้อหาของละครอาจจะยกประเด็นปัญหามาโต้ตอบกันด้วยเทคนิคของละครวิทยุ โดยการผูกเรื่องให้ผู้ฟังตระหนักว่าสิ่งนั้นคือปัญหา สาเหตุของปัญหาเป็นอย่างไร
  3. ความเหลื่อมล้ำที่จะเกิดขึ้นของวิทยุกระจายเสียงในด้านต่าง ๆ ดังนี้
    1. ด้านกระบวนการการผลิต คือ ขั้นตอนการผลิตรายการวิทยุกระจายเสียง อุปกรณ์เทคโนโลยีในการผลิตและการลงทุนในการผลิต
    2. ด้านกระบวนการออกอากาศวิทยุกระจายเสียง คือ กระบวนการออกอากาศ และการลงทุนเทคโนโลยีการออกอากาศ
    3. ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อวิทยุกระจายเสียง คือ นักวิชาการ ผู้ผลิตรายการวิทยุกระจายเสียง
    4. นักวิชาการด้านสื่อวิทยุกระจายเสียง คือ อาจารย์ผู้สอนสาขานิเทศศาสตร์ สาขาเทคโนโลยีเทคนิคศึกษา สาขาเทคโนโลยีสื่อสารมวลชนที่ทำการสอนมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี
    5. ผู้ผลิตรายการด้านสื่อวิทยุกระจายเสียง คือ ผู้บริหาร ผู้กำกับรายการ พนักงาน เจ้าหน้าที่บริษัทด้านสื่อวิทยุกระจายเสียงที่ปฏิบัติงานมาไม่น้อยกว่า 2 ปี

ประโยชน์ของการวิจัย

  1. เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการเตรียมความพร้อมขององค์กร หน่วยงานหรือผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเมื่อประเทศไทยก้าวเข้าสู่วิทยุดิจิทัล
  2. เพื่อเป็นข้อมูลในการปรับปรุงแก้ไข หรือ นำไปเป็นนโยบายพัฒนาให้กับวงการวิทยุกระจายเสียงในด้านการบริหารธุรกิจ ผู้บริโภค กระบวนการผลิต และการออกอากาศ เมื่อเปลี่ยนเป็นวิทยุดิจิทัล

สรุปผล อภิปรายผลและข้อเสนอแนะ

การสรุปผล อภิปรายผลและข้อเสนอแนะในการศึกษาวิจัยเรื่อง การศึกษาความเหลื่อมล้ำของการเปลี่ยนผ่านวิทยุดิจิทัลในประเทศไทย โดยผู้วิจัยได้แบ่งการสรุปผลไว้ตามลำดับ ดังต่อไปนี้

สรุปผลการวิจัย

  1. ผลการวิเคราะห์ข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถามการวิเคราะห์ข้อมูลทั่วไป จากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นบุคลากรที่มีความเกี่ยวข้องในด้านสื่อวิทยุกระจายเสียงโดยใช้วิธีการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง (Purposive Sampling) จำนวน 60 คน พบว่ากลุ่มตัวอย่างเป็นเพศชายและเพศหญิงจำนวนเท่ากัน ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 39 – 45 ปี จำนวน 14 คน รองลงมามีอายุ 46 – 52 ปี จำนวน 12 คน วุฒิการศึกษาส่วนใหญ่อยู่ในระดับปริญญาตรี จำนวน 28 คน รองลงมาคือ ระดับปริญญาโท จำนวน 19 คน ประกอบอาชีพในหน่วยงานรัฐบาล จำนวน 23 คน รองลงมา คือ ประกอบกิจการส่วนตัว จำนวน 19 คน และผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มีประสบการณ์ในการทำงาน 10 ปีขึ้นไป จำนวน 25 คน
  2. ผลการวิเคราะห์ความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อวิทยุกระจายเสียงต่อความเหลื่อมล้ำการเปลี่ยนผ่านวิทยุดิจิทัลในประเทศไทย ประกอบด้วย ด้านการบริหารธุรกิจ ด้านผู้บริโภค ด้านกระบวนการผลิต และด้านการออกอากาศพบว่า ในภาพรวมผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่าหากมีการเปลี่ยนผ่านวิทยุดิจิทัลในประเทศไทยอาจส่งผลให้เกิดประเด็นของความเหลื่อมล้ำได้ โดยส่งผลกระทบในด้านของการบริหารธุรกิจมากที่สุด รองลงมาคือ ด้านผู้บริโภค และน้อยที่สุดคือ ด้านของกระบวนการผลิต เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า ผู้เชี่ยวชาญให้ความสำคัญสูงที่สุดต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีและอิเล็กทรอนิกส์มีแนวโน้มเติบโตมากยิ่งขึ้น รองลงมาคือ ผู้บริโภคสามารถเลือกรับฟังรายการจากสถานีวิทยุต่างๆ ได้หลากหลาย และ ผู้บริโภคส่วนใหญ่ในประเทศยังไม่มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับวิทยุดิจิทัล สำหรับประเด็นที่ผู้เชี่ยวชาญยังไม่แน่ใจที่สุดคือเมื่อมีการเปลี่ยนผ่านเป็นวิทยุดิจิทัลแล้วขั้นตอนกระบวนการผลิตรายการจะมีความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้นหรือไม่
  3. ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อวิทยุกระจายเสียงต่อความเหลื่อมล้ำการเปลี่ยนผ่านวิทยุดิจิทัลในประเทศไทยโดยจากสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ได้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม เป็นแนวทางในการแก้ไขความเหลื่อมล้ำการเปลี่ยนผ่านวิทยุดิจิทัลในประเทศไทย โดยสรุปออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการบริหารธุรกิจ ด้านผู้บริโภค ด้านกระบวนการผลิต และด้านการออกอากาศ ดังนี้
    1. ข้อเสนอแนะด้านบริหารธุรกิจ ควรมีการส่งเสริมให้ความรู้เรื่องวิทยุดิจิทัลให้ประชาชนได้ทราบมากขึ้น เนื่องจากผู้ที่เปิดรับฟังวิทยุกระจายเสียงส่วนใหญ่จะอยู่ตามชุมชนท้องถิ่นส่วนเรื่องของการบริหารธุรกิจควรแยกความชัดเจนของการลงทุนในธุรกิจวิทยุกระจายเสียงให้มีความชัดเจน ทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับท้องถิ่น โดยเฉพาะระดับภูมิภาคและระดับท้องถิ่นไม่ควรให้มีการประมูล หรือแบ่งระดับการประมูล เพราะจะเห็นได้ว่าผู้ประกอบการในระดับภูมิภาคมีต้นทุนในการดำเนินการต่ำไม่สมดุลกับรายรับที่จะเข้ามานอกจากนี้ควรส่งเสริมด้านเทคโนโลยีเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน จึงจะทำให้การบริหารสื่ออิเล็กทรอนิกส์พัฒนาได้ อย่างไรก็ตามธุรกิจงานด้านการสื่อสาร เป็นงานที่มีความเสี่ยงและต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากกว่าจะประสบผลสำเร็จ ดังนั้นจึงควรเน้นย้ำเรื่องของการผูกขาด หากมีการแข่งขันกันแล้ว วิทยุกระจายเสียงที่มีขนาดเล็กก็ไม่สามารถไปแข่งขันได้ เนื่องจากไม่มีเงินทุน
    2. ข้อเสนอแนะด้านผู้บริโภค วิทยุดิจิทัลนับเป็นเรื่องใหม่สำหรับประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้ทำสื่อวิทยุกระจายเสียง หรืออยู่ในกลุ่มผู้ใช้สื่อวิทยุกระจายเสียง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องพยายามทำให้ผู้บริโภคได้ทราบข้อเท็จจริงและประโยชน์จากสื่อวิทยุดิจิทัลต้องมีการประชาสัมพันธ์และอภิปรายให้กับผู้บริโภคได้เข้าใจ โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นชนชั้นแรงงาน และบางภาคส่วนที่ยังไม่ทราบและไม่สนใจ ประกอบกับผู้บริโภคมีความหลากหลายกลุ่ม ต่างเพศ ต่างวัย ซึ่งจะต้องทำการศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมและใช้วิธีการที่หลากหลายในการเข้าถึงกลุ่มคนเหล่านั้นนอกจากทำความเข้าใจกับกลุ่มผู้บริโภคแล้วต้องสร้างความเข้าใจกับกลุ่มผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงด้วยเพราะยังมีความไม่เข้าใจเกี่ยวกับวิทยุดิจิทัลอยู่มากทั้งนี้อาจส่งผลต่อการเตรียมการในอนาคต และปัจจุบันการรับฟังของกลุ่มลูกค้าก็เริ่มลดลงเนื่องจากมีสื่ออื่นๆ เข้ามาแข่งขันมากขึ้น เช่น ทีวีดิจิทัล, Social Media เป็นต้น
    3. ข้อเสนอแนะด้านกระบวนการผลิต เมื่อมีการพัฒนาเทคโนโลยีเกิดขึ้นทำให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งที่ทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดี คือ มีความเสถียรเชื่อถือได้ ทำให้มีความชัดเจนดีขึ้นและมีความรวดเร็วในกระบวนการผลิต สามารถทำงานได้ทุกที่ ทุกเวลาทันต่อเหตุการณ์ ส่วนข้อเสีย อาจจะทำให้คนลืมความรู้สึกและบรรยากาศสมัยเก่า ทำให้คนหรือเด็กลืมวัฒนธรรมโบราณ ทำให้เด็กรู้สิ่งที่ไม่น่ารู้ ทำให้เด็กไม่ทันต่อเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในสมัยใหม่ หรือเปิดรับสื่อมากเกินไปจนขาดการกลั่นกรอง เนื่องจากเทคโนโลยีปัจจุบันสามารถทำให้ใครก็ได้ที่อาจขาดจรรยาบรรณสื่อผลิตสื่อเสียงออกมาเผยแพร่ได้หลายช่องทาง ถ้าขาดการควบคุมที่ดีงานที่ผลิตออกมาก็จะด้อยคุณภาพนอกจากนี้ด้านกระบวนการผลิตนั้นต้องมีการเตรียมการต่าง ๆ อย่างมากเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสู่ระบบดิจิทัล ต้องลงทุนเรื่องระบบส่งสัญญาณ ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา การขอสัมปทาน ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มภาระมากขึ้น
    4. ข้อเสนอแนะด้านการออกอากาศ การเตรียมการเรื่องวิทยุดิจิทัลต้องสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและควรเตรียมความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงรวมทั้งวางแผนรับมือไว้ด้วย ทั้งนี้ทุกอย่างเป็นเรื่องต้องศึกษาหาข้อมูลคงต้องให้ กสทช. ช่วยจัดงบประมาณฝึกอบรม หรือไม่ก็มีค่าเดินทางช่วยเหลือผู้เข้าฝึกอบรมด้วยวิทยุดิจิทัล เป็นเรื่องใหม่ในประเทศไทยจึงอาจยังไม่มีความพร้อมเข้าสู่การเป็นวิทยุดิจิทัลในขณะนี้ อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนเป็นดิจิทัลนับว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ควรมีการช่วยเหลือให้กับวิทยุกระจายเสียงระดับท้องถิ่นในการไม่ต้องประมูล เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้คนในระดับท้องถิ่นอยู่ได้โดยไม่ถูกนายทุนครอบครองสื่อทั้งหมด

อภิปรายผลการวิจัย

จากผลวิจัยเรื่อง การศึกษาความเหลื่อมล้ำของการเปลี่ยนผ่านวิทยุดิจิทัลในประเทศไทย โดยกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ ผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้และมีความเกี่ยวข้องในด้านสื่อวิทยุกระจายเสียงจำนวนทั้งสิ้น 60 คน แบ่งเป็น นักวิชาการด้านสื่อวิทยุกระจายเสียง จำนวน 30 คน และผู้ผลิตรายการวิทยุกระจายเสียง จำนวน 30 คน

จากผลการศึกษาพบว่าผู้เชี่ยวชาญทั้ง 2 กลุ่มมีความคิดเห็นต่อประเด็นของความเหลื่อมล้ำการเปลี่ยนผ่านวิทยุดิจิทัลในประเทศไทยด้านของการบริหารธุรกิจมากที่สุดโดยต่างเห็นด้วยกับข้อคำถามที่ว่าอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและอิเล็กทรอนิกส์มีแนวโน้มเติบโตมากยิ่งขึ้น อยู่ในระดับมาก  (X ̅ = 4.35 , S.D. = 0.61) สอดคล้องกับการศึกษาของ กุลกนิษฐ์ ทองเงา (2556 : 67) ที่พบว่าปัจจุบันวิทยุกระจายสียงระบบ Digital เป็นที่แพร่หลายทั้งใน ยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลี และนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2015 (พ.ศ. 2558) เป็นต้นไป สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union หรือ ITU)  ได้ประกาศให้ประเทศสมาชิกทุกประเทศ ส่งวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ระบบ Digital ดังนั้นทุกประเทศจึงต้องเตรียมรองรับคำประกาศดังกล่าว รวมทั้งประเทศไทยซึ่งเป็นสมาชิกของ ITU และยังสอดคล้องกับบทความวิชาการของ        อิสรีย์  ประดิษฐ์ธีระ (2555) ได้ศึกษา ความเหลื่อมล้ำของระบบโทรทัศน์ดิจิทัลในประเทศไทยกับการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบโทรทัศน์ดิจิทัลของประชาคมอาเซียน พบว่า ผลกระทบต่อบริบทเศรษฐกิจที่มีการแข่งขันอย่างเสรีของสถานีโทรทัศน์ ผู้ประกอบการด้านการผลิตรายการ ก่อให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีการบริการรูปแบบใหม่ๆ เป็นผลให้เกิดอุตสาหกรรมการผลิตเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่จะกลายเป็นการประกอบการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในอนาคตต่อไป

ความคิดเห็นต่อความเหลื่อมล้ำด้านผู้บริโภคเป็นอันดับสอง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญให้ความคิดเห็นทั้งแง่บวกและแง่ลบ โดยเห็นว่าสามารถเลือกรับฟังรายการจากสถานีวิทยุต่างๆ ได้หลากหลาย อยู่ในระดับมาก (X ̅ = 4.33 , S.D. = 0.60)  และผู้บริโภคส่วนใหญ่ในประเทศยังไม่มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับวิทยุดิจิทัล อยู่ในระดับมาก (X ̅ = 4.33 , S.D. = 0.72) สอดคล้องบทความวิชาการของ สาโรจน์ แววมณี (2556) ได้ศึกษาและเรียบเรียงเรื่อง การเปลี่ยนผ่านสู่การกระจายเสียงวิทยุระบบดิจิทัลของประเทศไทย พบว่า ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลนี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ระดับ คือ ความเหลื่อมล้ำระดับแรก หมายถึง ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยี และความเหลื่อมล้ำระดับที่สอง หมายถึง ความเหลื่อมล้ำด้านปริมาณและความเข้มข้นของการใช้เทคโนโลยี (Ana Gargallo-Castel, Luisa Esteban-Salvador, Javier Pe’rez-Sanz; 2010: 2-3) สำหรับประเทศไทย ผู้ให้บริการและผู้รับบริการกิจการกระจายเสียง ทั้งวิทยุและโทรทัศน์ ที่เป็นการบริการชุมชน มีความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลทั้งสองระดับ มากกว่าผู้ให้บริการและผู้รับบริการกิจการกระจายเสียงที่เป็นการบริการสาธารณะและธุรกิจ เนื่องจากส่วนใหญ่มีระดับการศึกษาและฐานะทางเศรษฐกิจด้อยกว่า และส่วนใหญ่ก็อาศัยอยู่ในเขตชนบท ทำให้โอกาสในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้น้อยกว่าคนกลุ่มอื่นในสังคม

ความคิดเห็นต่อความเหลื่อมล้ำด้านการออกอากาศเป็นอันดับสาม โดยส่วนใหญ่เห็นด้วยกับประเด็นที่ต้องใช้เวลาในการเตรียมตัวเพื่อศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้งานอุปกรณ์เทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่ในระดับมาก (X ̅ = 4.33 , S.D. = 0.72) สืบเนื่องจากการวางแผนสำหรับการให้บริการวิทยุกระจายเสียงในระบบดิจิทัล ในงานสัมมนา Talking Turkey Digital conference ณ Beykent University, Taksim Campus เมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี (2558) โดยประเทศไทยเตรียมแผนการเปลี่ยนผ่านวิทยุกระจายเสียงไปสู่ระบบดิจิทัล แบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ

ระยะแรก: สำนักงาน กสทช. ร่วมกับบริษัทแอลเอส เทลคอม จำกัด (LStelcom) ได้ดำเนินการศึกษาในช่วงปี 2013-2015 และได้จัดทำแผนความถี่วิทยุสำหรับกิจการวิทยุกระจายเสียงระบบ เอฟ.เอ็ม. ระบบ เอ.เอ็ม. และระบบดิจิทัล ซึ่งแผนที่ได้จัดทำขึ้นสามารถนำมาใช้ประกอบการปรับปรุงแผนความถี่วิทยุกระจายเสียงระบบ เอฟ.เอ็ม. และระบบ เอ.เอ็ม. ที่มีใช้ในปัจจุบันและใช้เป็นหลักการเพื่อเป็นแนวทางสำหรับการจัดทำแผนความถี่วิทยุสำหรับกิจการวิทยุกระจายเสียงระบบดิจิทัล โดยผลการศึกษาเห็นว่าควรเลือกมาตรฐาน DAB+ mode

ระยะที่สอง: แผนการให้ผู้เชี่ยวชาญจากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ทำการศึกษาเพิ่มเติมในส่วนของผลกระทบทางเทคนิคและวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายของการดำเนินการในส่วนของ Digital Radio เพื่อเป็นการยืนยันผลการศึกษาของบริษัทแอลเอส เทลคอม จำกัด (ที่จัดทำในช่วงแรก) เพื่อให้สามารถดำเนินการให้มีสัญญาณครอบคลุมพื้นที่ร้อยละ 95 ของจำนวนประชากร โดยช่วงของการทดลองทดสอบ (Trial period) ยังไม่ได้กำหนดระยะเวลาเป็นที่ชัดเจน แต่นโยบายจะให้เป็นการพิจารณาใบอนุญาตผู้ที่ขอเข้าร่วมการทดลองทดสอบคราวละ 2 ปีจนกว่าตลาดจะมีความพร้อม

ทั้งนี้ จากการศึกษาของ LS telcom เห็นว่า ประเทศไทยควรมีพื้นที่ครอบคลุมสัญญาณในพื้นที่ที่เป็นชุมชนเมือง บริเวณจังหวัดใหญ่ และครอบคลุมพื้นที่บริเวณท้องถนน (Highway) เพราะค่าใช้จ่ายสำหรับการดำเนินการในส่วนของวิทยุจะสูงกว่าการดำเนินการในส่วนของโทรทัศน์มากโดยเปรียบเทียบได้จากการดำเนินการของโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลที่สามารถมีพื้นที่ครอบคลุมสัญญาณร้อยละ 50 จาก 39 เสา แต่หากเป็นกรณีของวิทยุกระจายเสียงถ้าต้องการพื้นที่ครอบคลุมสัญญาณร้อยละ 50 ผลการศึกษาเห็นว่าจำเป็นต้องติดตั้งเสาจำนวนประมาณ 240 เสา ดังนั้นผู้ประกอบการหรือผู้ปฏิบัติงานจำเป็นต้องศึกษาและเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

ความคิดเห็นต่อความเหลื่อมล้ำด้านกระบวนการผลิตเป็นอันดับสุดท้าย โดยให้ความเห็นเกี่ยวกับความคมชัดของภาพและเสียงช่วยดึงดูดความสนใจของผู้ฟังเพิ่มมากขึ้น อยู่ในระดับมาก (X ̅ = 3.63 , S.D. = 1.39) และ ต้องใช้เงินลงทุนในการผลิตรายการเพิ่มมากขึ้น อยู่ในระดับมาก (X ̅ = 3.60 , S.D. = 1.46) กล่าวได้ว่าทั้งสองประเด็นมีความเชื่อมโยงกันโดยการส่งสัญญาณระบบดิจิทัลนั้นมีคุณสมบัติที่ดี คือ ความคมชัดของเสียง ปราศจากการรบกวน และสามารถส่งได้หลายรายการในแถบความถี่เดียวกัน ในการกระจายเสียงวิทยุระบบดิจิทัล สถานีวิทยุต้องปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ต่างๆ จากระบบอนาล็อกเป็นระบบดิจิทัล ส่วนด้านเครื่องรับก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนเป็นระบบดิจิทัลด้วยเช่นเดียวกัน (www.hq.prd.go.th) ซึ่งความคมชัดของสัญญาณการออกอากาศที่ดีจะส่งผลต่อความพึงพอใจและอรรถรสในการรับฟังเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามเนื้อหาในการนำเสนอต้องน่าสนใจและมีแนวโน้มในการแข่งขันสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สอดคล้องกับบทสรุปของงานวิจัยเรื่อง การคิดสร้างสรรค์รายการวิทยุกระจายเสียงในยุคดิจิทัล:กรณีศึกษา สถานีวิทยุ SEED 97.5 พัชราพร ดีวงษ์ (2557) กล่าวว่า ในโลกยุคดิจิทัลที่ทำให้ผู้ฟังสามารถเข้าถึงเนื้อหาของรายการวิทยุได้มากขึ้น ปัจจุบันผู้ฟังสามารถฟังวิทยุออนไลน์ได้ตลอดเวลาผ่านมือถือยุคใหม่หรือสมาร์ทโฟน (Smart Phone) อีกทั้งในอนาคตอันใกล้รูปแบบของวิทยุดิจิทัลกำลังจะเกิดขึ้นทำให้ผู้ประกอบการด้านวิทยุกระจายเสียงต้องเผชิญหน้ากับคู่แข่งใหม่ๆ ที่มีมากขึ้นทั้งคู่แข่งในสื่อวิทยุกระจายเสียง และสื่อประเภทอื่นๆ ด้วยเช่นกัน นอกจากนั้นผู้ผลิตรายการวิทยุควรตระหนักและวางแผนการผลิตรายการอย่างรอบคอบภายใต้การสร้างสรรค์เนื้อหารายการวิทยุให้มีความแปลกใหม่แตกต่างจากรายการอื่นที่มีเนื้อหารายการประเภทเดียวกัน มีเนื้อหาที่ทันสมัยและทันต่อเหตุการณ์สามารถเข้าถึงผู้ฟังได้ทุกเพศทุกวัยเข้าใจและควบคุมคุณภาพของเนื้อหารายการโดยไม่คำนึงถึงแต่กำไรแต่ต้องสร้างสมดุลระหว่างกำไรและจรรยาบรรณของสื่อด้วยการผลิตรายการที่มีคุณค่าและมีประโยชน์ต่อสังคม เพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจและตอบสนองความต้องการของผู้ฟังต่อไปในอนาคต

ข้อเสนอแนะสำหรับการวิจัยครั้งต่อไป

  1. ควรมีการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบรายได้จากการโฆษณาของสถานีวิทยุกระจายเสียงโดยแบ่งเป็นคลื่นในเขตกรุงเทพฯ และคลื่นในระดับภูมิภาค
  2. ควรมีการศึกษาวิจัยความพึงพอใจต่อการรับฟังรายการวิทยุในทุก ๆ พื้นที่ ทุก ๆ จังหวัด
  3. ควรมีการศึกษาวิจัยทัศนคติของเนื้อหารายการวิทยุทุก ๆ ประเภททั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด
  4. ควรมีการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบข้อดี ข้อเสียเกี่ยวกับรูปแบบการออกอากาศวิทยุกระจายเสียงระบบแอนะล็อค กับระบบดิจิทัล