Design of electronic dolly for cinematography

จัดทำโดย ธนาวุฒิ เกิดโภค, สรศักย์ ตั้งบรรเจิดวณิช, เพชรชมพู สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ และนฤดล บุญแก่น

ปีการศึกษา 2555


บทคัดย่อ (Abstract)

การออกแบบอุปกรณ์ดอลลี่ในระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า ผู้จัดทำได้ทำการศึกษาข้อมูลและกำหนดคุณสมบัติของอุปกรณ์ดอลลี่ในระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า จากนั้นนำข้อมูลทั้งหมดไปปรึกษากับวิศวกรผู้เชี่ยวชาญทำการเขียนแบบและนำแบบมาสร้างอุปกรณ์ดอลลี่ในระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า เมื่อได้อุปกรณ์ดอลลี่ที่เสร็จสมลูรณ์แล้ว คณะผู้จัดทำได้ทำการทดสอบการทำงานของอุปกรณ์ให้ได้คุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ จากนั้นนำอุปกรณ์ดอลลี่ในระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าไปประเมินประสิทธิภาพโดยผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้งานอุปกรณ์ดอลลี่จำนวน 9 ท่าน

ผลการศึกษาพบว่า อุปกรณ์ดอลลี่ในระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าที่ออกแบบขึ้นเป็นดอลลี่รูปแบบ Focus dolly สามารถเคลื่อนที่ได้ด้วยความเร็วสม่ำเสมอ รองรับน้ำหนักได้ไม่น้อยกว่า 300 กิโลกรัม ปรับระดับความเร็วได้ และใช้ได้กับรางตรงและรางโค้ง ซึ่งอุปกรณ์ดอลลี่ในระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าสามารถใช้งานได้จริงในการถ่ายทำภาพยนตร์ ตรงตามวัตถุประสงค์ของผู้จัดทำ


วัตถุประสงค์

  1. เพื่อออกแบบดอลลี่ในระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า
  2. เพื่อประเมินประสิทธิภาพของดอลลี่ในระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าที่ออกแบบขึ้น

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

  1. ได้ต้นแบบดอลลี่ที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า
  2. สามารถนำต้นแบบดอลลี่ที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า ไปพัฒนาต่อเพื่อการผลิตอุปกรณ์ในวงการอุตสาหกรรมได้จริง

ขอบเขตการศึกษา

เพื่อออกแบบดอลลี่ในรูปแบบ Focus dolly หรือที่เรียกอีกอย่างนึงว่า Flat dolly ที่สามารถขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า โดยสามารถปรับระดับความเร็วได้ มีความเร็วคงที่เฉลี่ย 5-8 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้ในการถ่ายทำภาพยนตร์ในฉากที่มีความเร็วในการเคลื่อนกล้องไม่สูงมากนัก เช่น เคลื่อนกล้องตามคนเดิน คนขี่จักรยาน เป็นต้น อุปกรณ์สามารถรองรับน้ำหนักได้ไม่ต่ำกว่า 300 กิโลกรัม สามารถเดินหน้าถอยหลังได้ และสามารถใช้งานได้กับรางตรงและรางโค้ง

ประเมินผลโดยให้มืออาชีพได้ทดลองใช้ดอลลี่ในระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าจำนวน 9 ท่าน ทดลองใช้และประเมินประสิทธิภาพของอุปกรณ์ดอลลี่ในระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า โดยการใช้แบบสอบถามแบบปลายเปิด


สรุปผลการศึกษา

ส่วนที่ 1 สรุปผลการออกแบบอุปกรณ์ดอลลี่ระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า

จากผลการศึกษาพบว่า ในการออกแบบอุปกรณ์ดอลลี่ระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า ประกอบไปด้วยขั้นตอนดำเนินการ 4 ขั้นตอน ได้แก่ การออกแบบ การเขียนแบบ การสร้างอุปกรณ์ และการทดสอบ

การทำงานของอุปกรณ์ โดยอุปกรณ์ดอลลี่ในระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าที่ผู้ศึกษาออกแบบขึ้นนั้น เป็นดอลลี่รูปแบบ Focus Dolly สามารถรองรับน้ำหนักได้ไม่น้อยกว่า 300 กิโลกรัม ปรับระดับความเร็วในการเคลื่อนที่ได้ ซึงสามารถคงความเร็วในแต่ละระดับได้อย่างสม่ำเสมอ โดยที่อุปกรณ์สามารถคงความเร็วในแต่ละระดับให้มีความสม่ำเสมอในระยะประมาณครึ่งฟุตหลังจากออกตัว สามารถเดินหน้าถอยหลังได้ และสามารถใช้งานได้กับรางตรงและรางโค้ง ในส่วนของข้อปรับปรุงในอุปกรณ์ดอลลี่ในระบบขับเคลื่อนไฟฟ้านั้น ยังมีในเรื่องของอุปกรณ์ดอลลี่ในระบบขับเคลื่อนไฟฟ้ายังไม่สามารถใช้งานในการถ่ายทำภาพยนตร์ที่มีการเก็บเสียงได้ เนื่องจากตัวอุปกรณ์มีเสียงดังมากเกินไป ซึ่งจะต้องแก้ไขโดยการเปลี่ยนไปใช้ระบบสายพานในการขับเคลื่อนเพลาแทนการใช้โซ่และเฟือง และยังพบปัญหาในการออกตัวที่ยังมีการกระชากและการเบรคที่ยังไม่สามารถหยุดการเคลื่อนที่ของอุปกรณ์ได้ตามที่กำหนด ซึ่งจะต้องปรับเปลี่ยนแก้ไขและติดตั้งเบรคเพิ่มเข้าไปในอุปกรณ์ เพื่อให้การใช้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ส่วนที่ 2 สรุปผลการประเมินประสิทธิภาพของอุปกรณ์ดอลลี่ในระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า

ผลการวิเคราะห์เนื้อหาจากการประเมินประสิทธิภาพของอุปกรณ์ดอลลี่ในระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าจากผู้เชี่ยวชาญทั้ง 9 ท่าน ประกอบด้วยประเด็นหลัก 3 ข้อ ได้แก่

  1. ความแตกต่างของภาพที่ได้จากการใช้อุปกรณ์ดอลลี่ระบบขับเคลื่อนไฟฟ้ากับการใช้อุปกรณ์ดอลลี่ระบบขับเคลื่อนอนาล็อค
  2. ประสิทธิภาพในการรักษาระดับความเร็วและความเสถียรในการใช้งาน
  3. อุปกรณ์ดอลลี่ในระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า สามารถนำไปใช้งานได้จริงในการถ่ายทำภาพยนตร์

พบว่า การใช้งานอุปกรณ์ดอลลี่ในระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าให้ผลของภาพที่นุ่มนวลแตกต่างจากการใช้อุปกรณ์ดอลลี่ระบบขับเคลื่อนอนาล็อคเล็กน้อย ประสิทธิภาพในการรักษาระดับความเร็วเป็นที่น่าพอใจ มีความสม่ำเสมอ อีกทั้งยังสามารถปรับระดับความเร็วได้ เหมาะสำหรับการนำไปใช้ถ่ายทำภาพยนตร์ในฉากที่มีความเร็วในการเคลื่อนกล้องไม่สูงมาก เช่น การเคลื่อนกล้องตามคนเดิน คนขี่จักรยาน เป็นต้น และเหมาะสำหรับงานที่ไม่ต้องการรายละเอียดเรื่องเสียงในการถ่ายทำ อุปกรณ์ดอลลี่ระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าสามารถนำมาใช้ได้จริงในการถ่ายทำภาพยนตร์ แต่ยังไม่สมบูรณ์เท่าไรนัก เนื่องจากพบปัญหาจากการทำงานของตัวอุปกรณ์ที่มีเสียงค่อนข้างดัง การออกตัวจะมีการกระชากและไม่สามารถหยุดได้ตรงตามตำแหน่งที่กำหนดเท่าที่ควร จำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม

อภิปรายผล

จากผลการศึกษาทำให้สรุปได้ว่า การออกแบบอุปกรณ์ดอลลี่ในระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าสามารถนำมาใช้งานได้จริง สามารถรักษาระดับความเร็วได้สม่ำเสมอ แม้ว่าจะใช้งานต่อเนื่องเป็นเวลานาน ซึ่งสอดคล้องกับคำกล่าวของ วิเชฎฐ์ กองงาม (สัมภาษณ์, 2555) ที่กล่าวว่า ปัญหาของดอลลี่ที่ใช้ระบบอนาล็อคในปัจจุบัน มักจะเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนอุปกรณ์ ซึ่งความเร็วสม่ำเสมอในตลอดระยะเวลาการถ่ายทำมีจำกัดตามพละกำลังของผู้ควบคุม ผลที่เกิดขึ้นคือจะทำให้ภาพที่ได้มีช่วงจังหวะการเคลื่อนที่ที่ไม่สม่ำเสมอ หากระยะเวลาในการใช้ดอลลี่มีต่อเนื่องเป็นเวลานาน ก็จะทำให้ผู้ควบคุมเกิดความเมื่อยล้าและควบคุมอุปกรณ์ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับความเห็นของผู้เชี่ยวชาญทั้งหมดจากการสอบถามจากคำถามข้อที่ 2 ซึ่งเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการรักษาระดับความเร็วและความเสถียรในการใช้งาน โดยเห็นว่าอุปกรณ์ดอลลี่ในระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าสามารถรักษาความเร็วในการเคลื่อนที่ได้อย่างสม่ำเสมอ

ทั้งนี้สิ่งสำคัญที่ทำให้การออกแบบอุปกรณ์ดอลลี่ในระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า ได้รับการผลประเมินประสิทธิภาพไปในทางที่ดีก็คือ การใช้วัสดุในการสร้างอุปกรณ์ที่มีราคาถูกกว่าอุปกรณ์ดอลลี่ไฟฟ้าที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน ซึ่งสอดคล้องกับคำกล่าวของ วิเชฎฐ์ กองงาม (สัมภาษณ์, 2555) ที่กล่าวว่า ในปัจจุบันการใช้ดอลลี่ไฟฟ้ามีข้อจำกัดเรื่องราคาที่ค่อนข้างสูง ส่งผลให้ราคาในการเช่าอุปกรณ์สูงขึ้นตามไปด้วย อีกทั้งยังมีความคงทนแข็งแรง สามารถรองรับน้ำหนักได้ดี ซึ่งสอดคล้องกับคำกล่าวของ ชูศักดิ์ ตั้งบรรเจิดวณิช (สัมภาษณ์, 2555) ที่กล่าวว่า ดอลลี่ เป็นอุปกรณ์เสริมสำหรับการถ่ายทำภาพยนตร์ ที่รองรับน้ำหนักของกล้อง ตากล้อง และผู้ช่วยตากล้อง
โดยรวมแล้วการออกแบบอุปกรณ์ดอลลี่ระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าในครั้งนี้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผู้ศึกษา และสามารถนำไปพัฒนาต่อได้ในอนาคต

ข้อเสนอแนะในการใช้อุปกรณ์

  1. อุปกรณ์ดอลลี่ในระบบขับเคลื่อนไฟฟ้ายังไม่สามารถใช้งานในการถ่ายทำภาพยนตร์ที่มีการเก็บเสียงได้ เนื่องจากตัวอุปกรณ์มีเสียงดังมากเกินไป ซึ่งจะต้องแก้ไขโดยการเปลี่ยนไปใช้ระบบสายพานในการขับเคลื่อนเพลาแทนการใช้โซ่และเฟือง
  2. พบปัญหาในการออกตัวที่ยังมีการกระชากและการเบรคที่ยังไม่สามารถหยุดการเคลื่อนที่ของอุปกรณ์ได้ตามที่กำหนด ซึ่งจะต้องปรับเปลี่ยนแก้ไขและติดตั้งเบรคเพิ่มเข้าไปในอุปกรณ์

ข้อเสนอแนะในการศึกษาครั้งต่อไป

  1. ควรพัฒนาด้านการใช้วัสดุในการสร้างที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  2. ควรเพิ่มตัวช่วยในการบันทึกความเร็วในการใช้งานในแต่ละครั้ง เพื่อสามารถนำไปใช้ในครั้งต่อไปได้