Quality, Problems and Solutions in Accunting of Sub-District Health Promoting Hospitals in Sa Kaeo Province
โดย ธมลวรรณ วงษ์ภูธร
ปี 2560
บทคัดย่อ
การค้นคว้าอิสระครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) ระดับความรู้เกี่ยวกับการจัดทำบัญชีของผู้จัดทำบัญชี 2) คุณภาพการจัดทำบัญชี 3) ความสัมพันธ์ระหว่างความรู้ของผู้จัดทำบัญชีกับคุณภาพการจัดทำบัญชี และ 4) ปัญหาและแนวทางแก้ไขการจัดทำบัญชีของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จังหวัดสระแก้ว
การศึกษาครั้งนี้ ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงปริมาณร่วมกับการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามกับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานด้านการเงินและบัญชี จำนวน 110 คนและใช้การสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จังหวัดสระแก้ว จำนวน 3 แห่ง วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพโดยใช้การวิเคราะห์เนื้อหา ส่วนสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน Independent Sample t-test การวิเคราะห์ความแปรปรวน ทางเดียว ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน ณ ระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05
ผลการศึกษา พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีระดับความรู้การจัดทำบัญชีในภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง มีคุณภาพการจัดทำบัญชีโดยรวมระดับปานกลาง ระดับความรู้การจัดทำบัญชีมีความสัมพันธ์กับคุณภาพการจัดทำบัญชีในทิศทางเดียวกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05 และพบว่าการจัดทำบัญชีของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จังหวัดสระแก้ว มีประเด็นที่เป็นปัญหา ได้แก่ มีการฝากเงินสดในมือไม่ทันเวลา ทำให้เงินสดในมือเกินกว่าที่ระเบียบกำหนดไว้และช่วงสิ้นเดือนไม่ได้ปรับสมุดธนาคาร ส่วนแนวทางแก้ไข คือ แต่งตั้งเจ้าหน้าที่รับผิดชอบการรับเงินและนำเงินส่งธนาคารเพิ่มเติมโดยให้มีจำนวนอย่างน้อย 2 คน