By ทำนอง ชิดชอบ, กิตติศักดิ์ ร่วมพัฒนา และ ประทีป ดวงแว่ว

Year 2013

The 14th TSAE National Conference and the 6th TSAE International Conference : TSAE 2013. p.198-205

 

Abstract

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาระบบโลจิสติกส์และต้นทุนโลจิสติกส์ข้าวหอมมะลิอินทรีย์ 2) ศึกษาการจัดการทางการตลาดและส่วนเหลื่อมการตลาดข้าวหอมมะลิอินทรีย์ 3) นำเสนอแนวทางการลดต้นทุนโลจิสติกส์และการจัดระบบโลจิสติกส์ข้าวหอมมะลิอินทรีย์โดยเชื่อมโยงทางด้านการตลาดในระบบโซ่อุปทาน ใช้วิธีการศึกษาโดยใช้แบบสัมภาษณ์เชิงลึกร่วมกับการศึกษาเชิงสำรวจกับกลุ่มเกษตรกรและกลุ่มสหกรณ์การเกษตรที่ปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์จำนวน 93 ราย ตามกระบวนการขั้นตอนการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์และการวิเคราะห์ต้นทุนโลจิสติกส์โดยใช้ต้นทุนฐานกิจกรรม ผลการศึกษาพบว่า ห่วงโซ่อุปทานของข้าวหอมมะลิอินทรีย์มีลักษณะที่แตกต่างจากห่วงโซ่อุปทานข้าวทั่วไปคือ มีขั้นตอนที่สั้นกว่าโดยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในโซ่อุปทานได้พบกันหมดตลอดห่วงโซ่อุปทานต้นทุนโลจิสติกส์ของเกษตรกรพบว่า มีต้นทุนรวมคิดเป็นร้อยละ 75.62 ของต้นทุนการผลิตทั้งหมดระดับไร่นา โดยแบ่งต้นทุนโลจิสติกส์เป็น 3 ส่วนคือ 1) ต้นทุนกิจกรรมการเคลื่อนย้ายแปลงนา คิดเป็นร้อยละ 44.90 ซึ่งเป็นต้นทุนที่สูงที่สุด 2) ต้นทุนกิจกรรมการขนส่งและหาปัจจัยการผลิตคิดเป็นร้อยละ 29.71 และ 3) ต้นทุนกิจกรรมการบริหารคลังสินค้าคิดเป็นร้อยละ 25.39 ส่วนต้นทุนโลจิสติกส์ในระดับโรงสีมีต้นทุนรวมคิดเป็นร้อยละ 54.43 ของต้นทุนการผลิตรวมทั้งหมด มีระบบการจัดการตลาด 3 รูปแบบ คือ 1) การจัดการตลาดภายใต้สัญญาและการรวบรวมข้าวจากเกษตรกรและจำหน่ายต่อให้บริษัทผู้ส่งออก 2) การจัดการตลาดภายใต้สัญญาและการรวบรวมข้าวจากเกษตรกรเพื่อสีแปรรูปส่งออกต่างประเทศโดยตรงภายใต้นโยบาย Fair Trade 3) การจัดการตลาดโดยการรวบรวมซื้อข้าวและผลผลิตจากกลุ่มเกษตรกรตามโครงการนโยบายของรัฐโดยมีส่วนเหลื่อมการตลาดของผู้ที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทานสูงกว่าข้าวทั่วไป ประมาณร้อยละ 18 จากผลการศึกษาทำให้ทราบโครงสร้างระบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทานของข้าวหอมมะลิอินทรีย์และต้นทุนโลจิสติกส์ข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ซึ่งจะนำไปสู่แนวทางการลดต้นทุนซึ่งแนวทางการลดต้นทุนโลจิสติกส์ที่สหกรณ์การเกษตรทำได้ คือการสร้างเครือข่ายสมาชิกผู้ผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ เพื่อนำไปสู่การวางแผนการผลิตและการจำหน่าย ซึ่งมีรูปแบบการจัดการระบบโลจิสติกส์โดยเชื่อมโยงทางด้านการตลาดดังนี้ 1) รูปแบบระบบการส่งเสริมการผลิตแบบเกษตรพึ่งตนเอง 2) รูปแบบระบบการส่งเสริมการผลิตแบบ Cluster และ 3) รูปแบบระบบการส่งเสริมการผลิตเพื่อการค้าแบบครบวงจร

Download: การศึกษาระบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทานข้าวหอมมะลิอินทรีย์ของสหกรณ์การเกษตรในหกจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ