Establishment of lightness (L*) – whiteness (W) relationship of Thai
จัดทำโดย สยุมพร เสียงสัมพันธ์
สาขา เทคโนโลยีการพิมพ์
ปีการศึกษา 2558
บทคัดย่อ (Abstract)
การหาค่าความสัมพันธ์ระหว่าง Lightness (L*) กับ Whiteness (W) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการหาค่าความสัมพันธ์ระหว่าง Lightness (L*) กับ Whiteness (W) วิธีการศึกษาจะใช้แถบสีเทาที่มีความแตกต่างกัน 16 ระดับ เพื่อใช้เป็นสิ่งเร้าในการทดลองประเมินค่าความสว่าง Whiteness (W) ในการหาค่าความสัมพันธ์กับค่าความสว่าง L* ของแถบสีเทาที่ส่งผลต่อการรับรู้ โดยการทดลองจะทำการวัดค่า L* ของแถบทดสอบทั้ง 16 ระดับ และให้ผู้สังเกตประเมินค่าความสว่างของแถบสีเทาด้วยวิธี Elementary color naming ด้วยการประเมินเปอร์เซ็นต์ค่าความเป็นสีขาว W%และเปอร์เซ็นต์ค่าความเป็นสีดำ BK% ของแถบสีเทาด้วยวิธีการสุ่มและควบคุมความสว่างของห้องทดลองไว้ที่ 906.9 ลักซ์ และใช้ผู้สังเกตจำนวน 15 คน แต่ละคนมีการทำซ้ำ 5 ครั้ง
ผลการศึกษาพบว่า สมการแปลงค่าความสว่าง W% เป็น L* ด้วย W = 1.3936L* -27.633 และมีข้อเสนอแนะสำหรับการทดลองในครั้งต่อไปด้านการเพิ่มจำนวนผู้สังเกตให้มากขึ้น เนื่องจากการทดลองในลักษณะนี้เป็นการหาค่ามาตรฐานการมองเห็น ยิ่งใช้ผู้สังเกตมากเท่าไหร่ก็จะทำให้ได้ค่าที่น่าเชื่อถือมากขึ้น ประกอบกับการเพิ่มความแตกต่างของระดับสีเทาให้มากขึ้นทั้งโซนสีขาว และโซนสีดำ เป็นต้น
คำสำคัญ: แถบสีเทา, วิธีบอกองค์ประกอบค่าสี, ความสว่าง W, ความสว่าง L*, มาตรฐานการมองเห็น
วัตถุประสงค์ของการศึกษา
เพื่อศึกษาการหาค่าความสัมพันธ์ระหว่าง ความสว่าง lightness L* กับ whiteness (W)
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
- ได้รู้ถึงระดับค่าความสว่างที่มีความเหมาะสมกับการมองเห็นภายใต้แสงเดียวกัน
- ได้รู้ถึงความสัมพันธ์ระหว่าง lightness – whiteness ที่มีความเหมาะสมกับผู้สังเกต
ขอบเขตของการศึกษา
การหาค่าความสัมพันธ์ระหว่าง ความสว่าง Lightness L* กับ Whiteness (W) โดยในการศึกษาจะใช้แถบสีเทา (Grayscale) ที่มีระดับแตกต่างกัน 16 ระดับ ของ Munsell เพื่อใช้เป็นสิ่งเร้าในการทดลองประเมินค่าความสว่าง whiteness (W) ในการหาค่าความสัมพันธ์กับค่าความสว่าง L* ของแถบสีเทาที่ส่งผลต่อการรับรู้ โดยการทดลองจะทำการวัดค่า L* ของแถบทดสอบทั้ง 16 แถบ และให้ผู้สังเกตประเมินค่าความสว่างด้วยวิธี Elementary color naming ของแถบสีเทาด้วยวิธีการสุ่มและควบคุมความสว่างของห้องทดลองที่ 906.9 ลักซ์ และใช้ผู้สังเกตจำนวน 17 คน แต่ละคนมีการทำซ้ำ 5 ครั้ง
คำนิยามศัพท์เฉพาะ
- Lightness, L* ความสว่าง
- Whiteness, W ค่าความเป็นสีขาว
- Blackness, Bk ค่าความเป็นสีดำ
- B% เปอร์เซ็นต์ของค่าความเป็นสีดำ
- W% เปอร์เซ็นต์ของค่าความเป็นสีขาว
- Elementary Color Naming Method วิธีการประเมินค่าสี
- NCS ระบบสีเอ็นซีเอส
- Illuminometer เครื่องวัดค่าความสว่าง
- Spectrodensitometer เครื่องวัดค่าความเป็นสี
- Grayscale แถบสีเทา
สรุปผล
การศึกษาเรื่อง “การหาค่าความสัมพันธ์ระหว่าง lightness (L*) กับ whiteness (W%)” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะศึกษาหาค่าความสัมพันธ์ระหว่างความสว่าง L* กับ W% จากการทดลองได้กำหนดค่าความสว่างภายในห้องทดลองไว้ที่ 906.9 ลักซ์ ตลอดการทดลองทั้ง 5 ซ้ำ โดยแถบสีเทาจะมีระดับความสว่างที่แตกต่างกันทั้งหมด 16 ระดับ และให้ผู้สังเกตประเมินค่าความสว่างของแผ่นทดสอบด้วยวิธี Elementary color naming ด้วยการประเมินค่าความเป็นสีขาว W% และค่าความเป็นสีดำ BK% จากผลการทดลองสามารถสรุปผลได้ ดังนี้
- ค่าความสว่าง W% และ L* มีความสัมพันธ์ในลักษณะเส้นตรงด้วยสมการ y = 1.3936 x – 27.633 ในขณะที่ y คือค่าความสว่าง W% และ x คือค่าความสว่าง L* ด้วยสมการดังกล่าวเราก็สามารถแปลงค่าการรับรู้ความสว่างที่รับรู้เป็นค่า L* เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในงานด้านต่างๆ เช่น การแต่งภาพให้มีความสว่างเหมือนกับที่เรามองเห็น เป็นต้น
- ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน SD ของผู้สังเกตแต่ละคนทั้ง 15 คน แสดงค่าเบี่ยงเบนที่น้อยซึ่งก็แสดงว่าผู้สังเกตมีการประเมินค่าความสว่างที่ใกล้เคียงกันในแต่ละครั้ง ทำให้ผลการทดลองที่ได้มีความน่าเชื่อถือ และในการทดลองผู้สังเกตส่วนใหญ่จะมีอายุอยู่ในช่วง 20-25 ปี และส่วนใหญ่เป็นผู้สังเกตที่ไม่มีความรู้ทางด้านการทดลองทางจิตวิทยาฟิสิกส์มาก่อน
- เมื่อนำผลการทดลองในครั้งนี้มาเปรียบเทียบกับผลการทดลองที่ผ่านมาของจันทร์ประภา และคณะฯ และกับระบบสี NCS พบว่ามีแนวโน้มในทิศทางเดียวกัน แต่มีข้อสังเกตที่ผลการทดลองในครั้งนี้จะแสดงการรับรู้ความสว่างของแถบสีเทาที่สูงกว่าของ NCS ผลการทดลองที่ได้ในครั้งนี้ทำให้ทราบความสัมพันธ์ระหว่างค่าความสว่างที่เรารับรู้ W% กับค่า L* ทำให้สามารถที่จะแก้ไขภาพที่ต้องการให้มีค่าความสว่างที่ใกล้เคียงกับที่เรารับรู้ได้
ข้อเสนอแนะ
- ควรมีการเพิ่มจำนวนผู้สังเกตให้มากขึ้น เพื่อให้ได้ความเที่ยงตรงของข้อมูลที่ได้จากทดลอง
- ควรมีการศึกษาการรับรู้ความสว่างในผู้สังเกตที่มีช่วงอายุที่แตกต่างกัน เช่น ข่วงอายุวัยรุ่น วัยกลางคน หรือผู้สูงอายุ เป็นต้น เพื่อทราบถึงความเปลี่ยนแปลงในการรับรู้ความสว่างที่ส่งผลมาจากอายุ
- ระดับความสว่างแถบสีเทา ควรมีการเพิ่มให้มีความระดับความขาว และความดำที่มากขึ้น เพื่อให้ได้ข้อมูลการรับรู้ที่จะเป็นขอบเขตของการรับรู้ความสว่างของการรับรู้ของมนุษย์ได้