อำนาจดำเนินคดีอาญาของผู้เสียหายในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่:ศึกษาเฉพาะคดีที่ขึ้นศาลยุติธรรมปกติ
โดย จิรพันธ์ แก้วประดิษฐ์
ปีที่ 5 ฉบับที่ 2 เดือน พฤษภาคม-สิงหาคม 2555
บทคัดย่อ
การดำเนินคดีอาญาในประเทศไทยนั้นถือหลักการดำเนินคดีอาญาโดยรัฐเป็นหลัก แต่ในขณะเดียวกันก็ให้อำนาจแก่เอกชนที่เป็นผู้เสียหายในคดีอาญามีอำนาจดำเนินคดีอาญาได้ด้วยตนเอง ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 28 ได้บัญญัติให้บุคคลผู้มีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาลไว้ คือ พนักงานอัยการและผู้เสียหาย โดยให้สิทธิแก่ผู้เสียหายในการฟ้องคดีอาญาได้เช่นเดียวกับพนักงานอัยการ ซึ่งอำนาจในการฟ้องคดีอาญาของผู้เสียหายดังกล่าวเป็นอำนาจที่มีอยู่อย่างกว้างขวางและเป็นอิสระแยกต่างหากจากการฟ้องคดีของพนักงานอัยการ ไม่ว่าจะเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัวหรือคดีความผิดอาญาแผ่นดิน โดยเฉพาะในคดีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการซึ่งเป็นคดีความผิดอาญาแผ่นดิน จากการศึกษาพบว่าการที่กฎหมายบัญญัติให้ผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องคดีอาญาด้วยตนเองได้ก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับอำนาจดำเนินคดีอาญา ของผู้เสียหายในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการอย่างมาก เช่น ปัญหาในเรื่องการวินิจฉัยความหมายของผู้เสียหายที่มีความเห็นทางกฎหมายแตกต่างกันออกเป็นสองแนวทางด้วยกันหรือปัญหาในเรื่องของการฟ้องซ้ำหากว่าผู้เสียหายฟ้องคดีอาญาโดยไม่สุจริต จนเป็นเหตุให้ศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปเป็นเหตุให้พนักงานอัยการฟ้องคดีอาญาในเรื่องนั้นๆอีกไม่ได้ ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายต่อคดีอาญาของรัฐและส่งผลกระทบ กระเทือนต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง หรือปัญหาในการดำเนินคดีอาญาโดยผิดวัตถุประสงค์อันเป็นการขัดต่อหลักการบริหารกระบวนการยุติธรรมทางอาญา
ในคดีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการนี้โดยส่วนใหญ่ประเทศที่ยึดถือหลักการดำเนินคดีอาญาโดยรัฐเป็นหลัก เช่น ฝรั่งเศส เยอรมัน ล้วนแต่ให้รัฐเป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิดทั้งสิ้น ผู้เสียหายจะฟ้องคดีอาญาเองโดยตรงไม่ได้ เพราะถือว่าเป็นความผิดอาญาที่ร้ายแรง อันอาจก่อให้เกิดความกระทบกระเทือนเสียหายแก่ประชาชนและระบบราชการได้ แต่ของไทยบุคคลผู้มีอำนาจฟ้องคดีอาญาในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการนั้น ได้ให้อำนาจผู้เสียหายเป็นผู้ฟ้องคดีได้ และหากพิจารณาถึงเจตนารมณ์ของการบัญญัติกฎหมาย ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการที่มีวัตถุประสงค์จะคุ้มครองความบริสุทธิ์แห่งอำนาจรัฐหรือตำแหน่งหน้าที่แล้ว เป็นที่แน่ชัดว่ารัฐเท่านั้นที่เป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด แต่ในทางปฏิบัติศาลฎีกาได้วินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานมาโดยตลอดว่า ความผิดในหมวดนี้เป็นความผิดอาญาต่อรัฐ ซึ่งรัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้อง แต่ถ้าเอกชนคนใดได้รับความเสียหายเป็นพิเศษเนื่องจากการกระทำความผิดในหมวดนี้ก็ถือว่าเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาได้เช่นกัน ดังนั้น ผู้เขียนจึงเสนอแนะให้มีมาตรการควบคุมอำนาจดำเนินคดีอาญาของผู้เสียหายในความผิดหมวดนี้โดยให้พนักงานอัยการเข้าไปควบคุมดูแลการดำเนินคดีอาญาของผู้เสียหายตั้งแต่ผู้เสียหายนำคดีเข้าสู่ศาล และให้มีมาตรการในการควบคุมการกลั่นกรองคดีอาญาของผู้เสียหายโดยศาลอย่างรัดกุมและมีประสิทธิภาพ