อำนาจศาลยุติธรรมในการจำกัดสิทธิอุทธรณ์ฎีกา: ศึกษากรณีระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่าด้วยการไม่รับคดีซึ่งข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงที่อุทธรณ์หรือฎีกาจะไม่เป็นสาระอันควรแก่การพิจารณาพิพากษา พ.ศ. 2551

โดย ฐิวาพร สุชล

ปีที่   5 ฉบับที่ 2 เดือน พฤษภาคม-สิงหาคม 2555

บทคัดย่อ
ปัญหาความล่าช้าในการพิจารณาคดี หรือ ปัญหาคดีความล้นศาลฎีกา เป็นปัญหาที่มีความสำคัญ และสะสมมานาน ในปัจจุบันศาลฎีกามีคดีอาญาค้างพิจารณาอยู่ในศาลฎีกามากกว่า 10,000 คดี ต่อปี ส่งผลเสียหายแก่คู่ความที่ต้องรอผลของคำพิพากษา ซึ่งโทษในคดีอาญาย่อมมีความรุนแรงกว่าคดีแพ่ง ผลของคำพิพากษามีผลทั้งต่อตัวโจทก์และจำเลย จึงทำให้ต้องเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ เพื่อป้องกันมิให้อัตราคดีที่ค้างพิจารณาในศาลฎีกาเพิ่มสูงขึ้น

กรณีศาลฎีกาออกระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่าด้วยการไม่รับคดีซึ่งข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงที่อุทธรณ์หรือฎีกาจะไม่เป็นสาระอันควรแก่การพิจารณาพิพากษา พ.ศ. 2551 โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 219 วรรค 2 ตอนท้าย ที่ให้อำนาจศาลฎีกาสามารถ ออกระเบียบที่ประชุมใหญ่ได้ วิทยานิพนธ์นี้จึงมุ่งศึกษา ระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาฯดังกล่าวว่า กรณีการใช้อำนาจศาลฎีกาในการออกระเบียบให้มีผลบังคับใช้เช่นเดียวกับกฎหมายจะกระทำได้หรือไม่และวิเคราะห์ปัญหาเกี่ยวกับการบังคับใช้ระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาฯ นี้

ผลจากการศึกษาพบว่า ระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาฯควรมีฐานะเป็นเพียงข้อกำหนดที่ใช้ภายในศาลเท่านั้น ไม่สามารถนำมาบังคับใช้กับประชาชนเป็นการทั่วไปได้เนื่องจาก เป็นการจำกัดสิทธิอุทธรณ์ ฎีกา ซึ่งควรเป็นอำนาจของกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติหรือกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จึงทำให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนในการใช้สิทธิทางศาลมีผลให้คดีไม่สามารถขึ้นสู่ศาลได้ทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย

การออกกฎหมายที่จำกัดสิทธิอุทธรณ์ฎีกาของประชาชน ควรเป็นอำนาจของรัฐสภา ซึ่งเป็นการตรากฎหมายโดยฝ่ายนิติบัญญัติตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ดังนี้ กฎ ระเบียบ ข้อบังคับของศาลเช่น ระเบียบศาลยุติธรรมต่างๆ จะต้องอยู่ภายในขอบเขตอำนาจของกฎหมายแม่บทที่ให้เพิ่มเติมรายละเอียดของกฎหมายนั้น จะใช้อำนาจดังกล่าวออกกฎหมายให้มีสถานะเทียบเท่ากับอำนาจรัฐสภาหรือกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติมิได้

ผู้เขียนมีข้อเสนอแนะให้มีการนำระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาฯ มาบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อมีผลใช้บังคับและมีสถานะเช่นเดียวกันกับกฎหมาย และจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงหลักเกณฑ์ในระเบียบที่ประชุมใหญ่ฯเพื่อให้สอดคล้องเหมาะสมกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาโดยกำหนดหลักเกณฑ์ความหมายใน “ข้อที่ไม่เป็นสาระแห่งคดี” ที่ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาจะไม่รับไว้พิจารณาพิพากษาให้ชัดเจน และควรกำหนดแนวทางการวินิจฉัยให้เป็นหลักปฏิบัติอย่างเดียวกันด้วย

DOWNLOAD : อำนาจศาลยุติธรรมในการจำกัดสิทธิอุทธรณ์ฎีกา: ศึกษากรณีระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่าด้วยการไม่รับคดีซึ่งข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงที่อุทธรณ์หรือฎีกาจะไม่เป็นสาระอันควรแก่การพิจารณาพิพากษา พ.ศ. 2551