The Study of the Success of Continually WorkingAdjustment KAIZEN in Case Study of SONY Technology, Ltd. Company.
โดย ภูวนาถ เทพศุภร
ปี 2549
บทคัดย่อ (Abstract)
การค้นคว้าอิสระครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อความสำเร็จของการปรับปรุงการทำงานอย่างต่อเนื่องด้วยวิธี Kaizen, ความพึงพอใจของพนักงานที่มีต่อการปรับปรุงการทำงานอย่างต่อเนื่องด้วยวิธี Kaizen และศึกษาถึงปัญหาอุปสรรคในการปรับปรุงการทำงานอย่างต่อเนื่องด้วยวิธี Kaizen ของพนักงานบริษัท โซนี่ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด (อยุธยาเทคโนโลยีเซ็นเตอร์) ผู้ค้นคว้าใช้กรอบแนวคิดหาความแตกต่างระหว่างข้อมูลทั่วไปและความสำเร็จของการปรับปรุงการทำงานอย่างต่อเนื่องด้วยวิธี Kaizen และหาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรระหว่างปัจจัยที่เกี่ยวข้องในการปรับปรุงการทำงานอย่างต่อเนื่องด้วยวิธี Kaizen มาใช้ในองค์การและความสำเร็จของการปรับปรุงการทำงานอย่างต่อเนื่องด้วยวิธี Kaizen โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงปริมาณ โดยมีแบบสอบถามวัดระดับความคิดเห็นตามแบบมาตราส่วนประเมินค่าแบบลิเคอร์ท เป็นการวัดระดับมาตรฐานอัตรภาค ใช้สถิติเชิงพรรณนาและเชิงอนุมานด้วย t-test, One wayANOVA, LSD และวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ของตัวแปรด้วยค่าสถิติสหสัมพันธ์อย่างง่ายของเพียร์สัน
ผลการศึกษาพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามเป็นเพศชาย คิดเป็นร้อยละ 50.74 และเป็นเพศหญิง คิดเป็นร้อยละ 49.26 ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 21-30 ปี คิดเป็นร้อยละ 62.87 การศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย / ปวช. คิดเป็นร้อยละ 35.66 อายุการทำงานน้อยกว่าหรือเท่ากับ 5 ปี คิดเป็นร้อยละ 61.03 มีประสบการณ์ที่ทำกิจกรรม Kaizen 2-3 ปี คิดเป็นร้อยละ 43.75 ตำแหน่งงานระดับพนักงานปฏิบัติงาน คิดเป็นร้อยละ 60.66 ผลการวิเคราะห์ในเรื่องความคิดเห็นเกี่ยวกับปัจจัยที่เกี่ยวข้องในการปรับปรุงการทำงานอย่างต่อเนื่องด้วยวิธี Kaizen มาใช้ในองค์การ ประกอบด้วย ด้านความรู้เกี่ยวกับการปรับปรุงการทำงานอย่างต่อเนื่องด้วยวิธี Kaizen ด้านการสื่อสารภายในองค์การด้านการสนับสนุนจากผู้บริหาร และด้านการมีส่วนร่วมของพนักงาน พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามมีความคิดเห็นอยู่ในระดับมาก ส่วนความสำเร็จของการปรับปรุงการทำงานอย่างต่อเนื่องด้วยวิธีKaizen โดยภาพรวม พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มีความคิดเห็นอยู่ในระดับมากประกอบด้วย กิจกรรม Kaizen สามารถช่วยลดต้นทุนในกระบวนการผลิตทั้งในด้านเวลาและค่าใช้จ่าย และกิจกรรม Kaizen สามารถสร้างความพึงพอใจในการปฏิบัติงานมากขึ้น ส่วนกิจกรรมKaizen สามารถช่วยลดขั้นตอนในการปฏิบัติงาน มีความคิดเห็นอยู่ในระดับมากที่สุด
ผลการทดสอบสมมุติฐาน พบว่าเพศที่ต่างกันมีผลต่อความสำเร็จของการปรับปรุงการทำงานอย่างต่อเนื่องด้วยวิธี Kaizen ไม่แตกต่างกัน ส่วนอายุ ระดับการศึกษา ประสบการณ์ทำงานในบริษัทฯ ประสบการณ์ทำงานที่เกี่ยวข้องกับการทำกิจกรรม Kaizen และตำแหน่งงาน ที่ต่างกันมีความคิดเห็นต่อความสำเร็จของการปรับปรุงการทำงานอย่างต่อเนื่องด้วยวิธี Kaizen แตกต่างกันอย่างมีระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05
ผลการทดสอบความสัมพันธ์ พบว่าปัจจัยที่เกี่ยวข้องในการปรับปรุงการทำงานอย่างต่อเนื่องด้วยวิธี Kaizen มาใช้ในองค์การ ได้แก่ ความรู้เกี่ยวกับการปรับปรุงการทำงานอย่างต่อเนื่องด้วยวิธี Kaizen การสื่อสารภายในองค์การ การสนับสนุนจากผู้บริหาร และการมีส่วนร่วมของพนักงาน มีความสัมพันธ์กับความสำเร็จของการปรับปรุงการทำงานอย่างต่อเนื่องด้วยวิธี Kaizenโดยมีความสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกัน จากการทดสอบสมมุติฐานพบว่า ปัจจัยในด้านต่าง ๆ มีความสัมพันธ์กับความสำเร็จของการปรับปรุงการทำงานอย่างต่อเนื่องด้วยวิธี Kaizen โดยมีความสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกัน
Comments are closed.