Rate of Adoption of Innovation: Case Study of Factors Correlating to Adoption Rate of Lotus Notes E-Mail in a Thai Telecommunications Company.
โดย ณรงค์เดช พรหมเกิด
ปี 2549
ในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันว่าการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในหน่วยงานเป็นปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมให้องค์กรมีการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ หน่วยงานหลายหน่วยงานจึงได้พยายามแสวงหาเครื่องมือด้านสารสนเทศมาใช้ในองค์กรด้วยจุดประสงค์ที่ต้องการให้องค์กรมีความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง แต่ปัญหาที่องค์กรจะต้องประสบคือจะทำอย่างไรที่จะจัดการให้การรับนวัตกรรมขององค์กรสามารถทำได้ด้วยความรวดเร็ว จากเหตุผลเรื่องความสามารถในการรับระบบมาใช้ของแต่ละองค์กรมีความแตกต่างกันจึงทำให้งานวิจัยนี้เกิดขึ้น งานวิจัยฉบับนี้เป็นการศึกษาถึงปัจจัยที่มีผลต่อความเร็วในการยอมรับนวัตกรรมขององค์กร โดยเป็นกรณีศึกษาความเร็วในการยอมรับระบบอีเมลล์ Lotus Notes ขององค์กรทางธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมในประเทศไทยงานวิจัยนี้เป็นการนำทฤษฏีเรื่องการยอมรับนวัตกรรมของ Rogers มาเป็นกรอบแนวคิดประกอบการทำวิจัย โดยในการทดสอบสมมุติฐานจะใช้วิธีทางสถิติเรื่องการเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยของตัวแปร 2 ตัวที่เป็นอิสระกัน(Independent-Sample T test) เพื่อทดสอบสมมุติฐานว่าเพศที่แตกต่าง ระดับการศึกษาที่แตกต่าง ระดับหน้าที่ความรับผิดชอบที่แตกต่างและหน้าที่ความรับผิดชอบที่เกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์ที่แตกต่างกัน มีผลต่อความเร็วในการยอมรับนวัตกรรมหรือไม่ นอกจากนั้นยังมีการทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร (Pearson Correlation Test) เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ของปัจจัยด้านคุณลักษณะของนวัตกรรมกับความเร็วในการยอมรับ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้สำหรับการศึกษาครั้งนี้มีจำนวน 140 ตัวอย่าง ผลจากการวิจัยพบว่าเพศและหน้าที่ความรับผิดชอบที่เกี่ยวข้องกับระบบคอมพิวเตอร์ที่แตกต่างกันทำให้ความเร็วในการยอมรับระบบแตกต่างกัน ส่วนระดับการศึกษาและระดับหน้าที่ในองค์กรที่แตกต่างไม่มีผลต่อความเร็วในการยอมรับระบบ และเมื่อพิจารณาถึงความสัมพันธ์ของคุณลักษณะทั้ง 5 ด้านของระบบ (ประกอบด้วย ประโยชน์ที่ได้รับเชิงเปรียบเทียบความสอดคล้องเข้ากันได้ ความซับซ้อน การมีโอกาสได้ทดลองใช้ และประโยชน์ที่ได้รับอย่างสัมผัสได้) กับความเร็วในการยอมรับระบบ จากการวิจัยพบว่าคุณลักษณะเรื่องความซับซ้อน การมีโอกาสได้ทดลองใช้และผลประโยชน์ที่ได้รับอย่างสัมผัสได้มีความสัมพันธ์กับความเร็วในการยอมรับระบบส่วนผลประโยชน์ที่ได้รับเชิงเปรียบเทียบและความสอดคล้องเข้ากันได้ไม่มีความสัมพันธ์กับความเร็วในการยอมรับระบบ คำแนะนำสำหรับการวิจัยในครั้งต่อไปเพื่อให้ได้ผลงานวิจัยที่มีประโยชน์และมีคุณค่าต่อสังคมโดยรวมมากยิ่งขึ้น อาจศึกษากรณีการยอมรับระบบสารสนเทศของสังคมอื่น ๆ การเพิ่มจำนวนประชากรให้มากขึ้น และการปรับคำถามในแบบสำรวจให้มีความเหมาะสมกับสังคมนั้น ๆ