The Production of Music Video by Using Low Key, High Key, Lighting Motion Staining and Slow Motion

จัดทำโดย ปัญญาพร ศาสตร์ยางกูร, กฤตเมธ แช่มปรีชา, ศรัญญา กระดาษทอง, เกศรา เหมมะรา และ ณัฎฐา มาประสพ

สาขา เทคโนโลยีการโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียง

ปีการศึกษา 2559


บทคัดย่อ (Abstract)

ปริญญานิพนธ์เล่มนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อจะศึกษา เทคนิคการจัดแสงแบบ Low Key เทคนิคการจัดแสงแบบ High Key เทคนิคการย้อมสีเฉพาะจุดแบบเคลื่อนไหวและเทคนิค Slow Motion เพื่อสื่อความหมายและอารมณ์ของตัวละคร

วิธีการศึกษาทำโดยการผลิตมิวสิควิดีโอเพลง เสพติดความเจ็บปวด ขับร้องโดยวง The Yers มีความยาวทั้งหมดประมาณ 5 นาที โดยการถ่ายทำด้วยกล้อง DSLR รุ่น 5D Mark III การตัดต่อใช้โปรแกรม Adobe Premiere Pro CC และโปรแกรม Davinci Resolve 12.5 เมื่องานสมบูรณ์แล้วจึงนำไปบันทึกลงแผ่น DVD จากนั้นนำผลงานมาทดสอบกับกลุ่มตัวอย่างโดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มดังนี้ 1) กลุ่มตัวแทนผู้รับสารที่มีช่วงอายุระหว่าง 18-25 ปี จำนวน 100 คน 2) จากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญประเมินจำนวน 3 คน ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตมิวสิควิดีโอ จำนวน 1 คน ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดแสง จำนวน 1 คน และผู้เชี่ยวชาญด้านการตัดต่อ จำนวน 1 คน หลังจากนั้นนำข้อมูลแบบสอบถามที่ได้มาทำการประเมินผล

ผลการศึกษาสรุปว่า การใช้เทคนิคการจัดแสงแบบ Low Key เทคนิคการจัดแบบ High Key  เทคนิคการย้อมสีเฉพาะจุดแบบเคลื่อนไหวและเทคนิคการปรับอัตราความเร็วภาพ Slow Motion ในมิวสิควิดีโอเพลง เสพติดความเจ็บปวด ขับร้องโดยวง The Yers นั้นมีผลประเมินอยู่ในเกณฑ์มาก ซึ่งผลการประเมินทั้งหมดมาจากกลุ่มตัวอย่างที่มีช่วงอายุระหว่าง 18-25 ปี จำนวน 100 คนและผลประเมินจากผู้เชี่ยวชาญทั้ง 3 คน


วัตถุประสงค์ของการศึกษา

  1. ศึกษาวิธีการจัดแสงแบบ Low Key ให้สื่ออารมณ์ถึงความสุข และการจัดแสงแบบ High Key ให้สื่ออารมณ์ถึงความเศร้า
  2. ศึกษาเทคนิคการย้อมสีเฉพาะจุดแบบเคลื่อนไหวและเทคนิค Slow Motion เพื่อสื่อความหมายและอารมณ์ของตัวละคร

ขอบเขตการศึกษา

การศึกษาครั้งนี้ผู้ศึกษาต้องการผลิตมิวสิควิดีโอโดยใช้เทคนิคการจัดแสงแบบ Low Key เทคนิคการจัดแสงแบบ High Key เทคนิคการย้อมสีเฉพาะจุดแบบเคลื่อนไหวและเทคนิคการปรับอัตราความเร็วภาพ Slow Motion เพื่อสื่อความหมายและอารมณ์ของตัวละคร ซึ่งมีความยาวทั้งหมดประมาณ 5 นาที ถ่ายทำด้วยกล้อง Canon EOS 5D Mark III บันทึกภาพลง Memory Card ในส่วนของขั้นตอน Production จะใช้เทคนิคการจัดแสงแบบ Low Key เทคนิคการจัดแสงแบบ High Key และเทคนิคการปรับอัตราความเร็วภาพ Slow Motion ในการถ่ายทำ และขั้นตอน Post Production จะใช้เทคนิคการย้อมสีเฉพาะจุดแบบเคลื่อนไหว โดยโปรแกรมที่ใช้ในการตัดต่อภาพและเสียงคือ Adobe Premiere Pro CC และโปรแกรม Davinci Resolve 12.5

สำหรับผลงานมิวสิควิดีโอที่จัดทำขึ้น โดยแบ่งกลุ่มประเมินออกเป็น 2 วิธี คือ 1. ประเมินผลเชิงปริมาณ เป็นกลุ่มตัวแทนผู้รับสาร รวมทั้งหมดเป็นจำนวน 100 คน โดยการตอบแบบสอบถามข้อคำถามที่กำหนดให้เกี่ยวกับมิวสิควิดีโอที่จัดทำขึ้น 2. ประเมินผลเชิงคุณภาพ เป็นกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเทคนิค แบบเจาะจง ด้วยข้อคำถามเฉพาะด้าน จำนวน 3 คน ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตมิวสิควิดีโอ 1 คน ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคการจัดแสง 1 คน และผู้เชี่ยวชาญด้านการตัดต่อ 1 คน โดยให้ผู้เชี่ยวชาญชมมิวสิควิดีโอและสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ ประเมินผลโดยรวบรวมแบบสอบถามแล้วผู้ศึกษาทำการสรุปผลการประเมิน

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

  1. มีความรู้ความเข้าใจการผลิตมิวสิควิดีโอโดยใช้เทคนิคการจัดแสงแบบ Low Key ให้สื่ออารมณ์ถึงความสุข และการจัดแสงแบบ High Key ให้สื่ออารมณ์ถึงความเศร้า
  2. สามารถผลิตมิวสิควิดีโอโดยใช้เทคนิคการย้อมสีเฉพาะจุดแบบเคลื่อนไหวและเทคนิค Slow Motion เพื่อใช้สื่อความหมายและอารมณ์ของตัวละคร

สรุปผลการศึกษา

ผลจากการศึกษาและจัดทำปริญญานิพนธ์เรื่องการผลิตมิวสิควิดีโอ โดยใช้เทคนิคการจัดแสงแบบ Low Key, High Key, ย้อมสีเฉพาะจุดแบบเคลื่อนไหวและเทคนิค Slow Motion สามารถสรุปได้ว่าหลังจากที่กลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่รับชมมิวสิควิดีโอมีการตีความหมายว่า การจัดแสงแบบ Low Key ในฉากที่ครอบครัวนั่งกินข้าวด้วยกัน และการจัดแสงแบบ High Key ในฉากที่ลูกใช้มีดแทงพ่อและฉากที่แม่มาเยี่ยมลูกในเรือนจำ มีความสัมพันธ์กับเรื่อง อารมณ์และความรู้สึก ซึ่งตรงตามการสื่อความหมายของผู้ผลิต อยู่ในเกณฑ์มาก ในส่วนของการใช้เทคนิคการย้อมสีเฉพาะจุดแบบเคลื่อนไหว เพื่อสื่อความหมายอยู่ในเกณฑ์มาก และเทคนิคการปรับอัตราความเร็วภาพ Slow Motion ในขั้นตอน Production เพื่อสื่อความหมายในการรับชม อยู่ในเกณฑ์มากที่สุด หลังจากที่กลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่ได้รับชมมิวสิควิดีโอ เพลงเสพติดความเจ็บปวด โดยวง The Yers ที่คณะผู้ศึกษาได้จัดทำขึ้นได้ทอดแทรกเรื่องราวของครอบครัวที่มีปัญหา ใช้อารมณ์ในการตัดสินใจจึงเป็นต้นเหตุของความขัดแย้งในครอบครัว มิวสิควิดีโอ เพลงเสพติดความเจ็บปวด โดยวง The Yers นี้จึงมีความเหมาะสมที่จะนำเสนอเพื่อเป็นตัวอย่างของครอบครัวที่ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล ให้กับกลุ่มเป้าหมายอายุระหว่าง 18-25 ปี

อภิปรายผลการศึกษา

ผลการศึกษาสามารถอภิปรายผลการศึกษาของกลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่ ได้ดังนี้

  1. การศึกษากลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่สรุปได้ว่า การใช้เทคนิคการจัดแสงแบบ Low Key ในฉากที่ครอบครัวนั่งกินข้าวด้วยกัน มีความเหมาะสมกับมิวสิควิดีโอเพลง เสพติดความเจ็บปวด โดยวง The Yers อยู่ในเกณฑ์ มาก คิดค่าเฉลี่ยเป็น 4.47 และการใช้เทคนิคการจัดแสงแบบ Low Key สามารถสื่อว่าครอบครัวมีความสุข ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ มาก คิดค่าเฉลี่ยเป็น 4.28 และการใช้เทคนิคการจัดแสงแบบ Low Key เป็นเทคนิคที่มีความน่าสนใจชวนให้ผู้ชมน่าติดตาม อยู่ในเกณฑ์ มาก คิดค่าเฉลี่ยเป็น 4.3 จากที่ได้กล่าวมาทั้งหมดเป็นส่วนของเทคนิคการจัดแสงแบบ Low Key ผลรวมทั้งหมดอยู่ในระดับเกณฑ์ มาก สอดคล้องกับแนวคิดจากเว็บไซต์ (www.niponku.blogspot.com เข้าถึงเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2559) ที่ได้กล่าวไว้ว่า การจัดแสงแบบโลว์คีย์ Low Key ว่าคือการจัดแสงในโทนมืด เน้นแสงสว่างเพียงบางจุดบรรยากาศโดยรวมจะดูมีเงามืดมาก หม่นมัว ทึมทึบ มักใช้กับภาพยนตร์ประเภทอาชญากรรมสยองขวัญ ลึกลับ สืบสวนสอบสวน เพื่อสร้างความตื่นเต้น น่าค้นหา หรือใช้สื่อถึงด้านมืดของตัวละคร จะใช้การจัดแสงแบบนี้เป็นหลัก
  2. การศึกษากลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่สรุปได้ว่า การใช้เทคนิคการจัดแสงแบบ High Key ในฉากที่ลูกใช้มีดแทงพ่อ มีความเหมาะสมกับมิวสิควิดีโอเพลง เสพติดความเจ็บปวด โดยวง The Yers อยู่ในเกณฑ์ มาก คิดค่าเฉลี่ยเป็น 4.05 และในฉากที่แม่มาเยี่ยมลูกในเรือนจำ มีความเหมาะสมกับมิวสิควิดีโอเพลง เสพติดความเจ็บปวด โดยวง The Yers อยู่ในเกณฑ์ มาก คิดค่าเฉลี่ยเป็น 4.13 และการใช้เทคนิคการจัดแสงแบบ High Key เป็นเทคนิคที่มีความน่าสนใจชวนให้ผู้ชมน่าติดตาม อยู่ในเกณฑ์ มาก คิดค่าเฉลี่ยเป็น 4.29 จากที่ได้กล่าวมาทั้งหมดเป็นส่วนของเทคนิคการจัดแสงแบบ High Key ผลรวมทั้งหมดอยู่ในระดับเกณฑ์ มาก สอดคล้องกับแนวคิดจากเว็บไซต์ (www.wizardd.exteen.com เข้าถึงเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2559) ที่ได้กล่าวไว้ว่า การจัดแสงแบบ High Key คือ การใช้ไฟที่สว่างเกือบเท่ากันหมด ภาพจะไม่มีเงาหรือมีเงาน้อยมาก เห็นชัดเจนหมดทุกส่วนของวัตถุและภาพจะดูแบน การจัดแสงแบบนี้จะให้ส่วนที่เป็นสีขาวมากภาพจะดูสว่างนุ่มนวลมีเงาน้อยหรือเงาจางที่สุดไม่สว่างจนรายละเอียดหายไปหมดภาพ โดยเทคนิคแบบ High Key จะเป็นภาพในความฝัน
  3. การศึกษากลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่สรุปได้ว่า การใช้เทคนิคการย้อมสีเฉพาะจุดแบบเคลื่อนไหว ในฉากที่พ่อถือซองบุหรี่ สามารถสื่อความหมายให้ผู้ชมเข้าใจ อยู่ในเกณฑ์มาก คิดค่าเฉลี่ยเป็น 4.29 และการใช้เทคนิคการย้อมสีเฉพาะจุดแบบเคลื่อนไหว มีความเหมาะสมกับมิวสิควิดีโอเพลง เสพติดความเจ็บปวด โดยวง The Yers อยู่ในเกณฑ์ มาก คิดค่าเฉลี่ยเป็น 4.27 และการใช้เทคนิคการย้อมสีภาพเฉพาะจุดแบบเคลื่อนไหว ทำให้มิวสิควิดีโอเสพติดความเจ็บปวด โดยวง The Yers มีความน่าสนใจ อยู่ในเกณฑ์ มาก คิดค่าเฉลี่ยเป็น 4.29 จากที่ได้กล่าวมาทั้งหมดเป็นส่วนของเทคนิคการย้อมสีเฉพาะจุดแบบเคลื่อนไหว ผลรวมทั้งหมดอยู่ในระดับเกณฑ์ มาก สอดคล้องกับแนวคิดของ อัมรินทร์ จันทรเวช (2548 : 80) ในแนวคิดและทฤษฏีเกี่ยวกับเทคนิคการย้อมสีภาพแบบเคลื่อนไหว ที่ได้กล่าวไว้ว่า การย้อมสีในปัจจุบันนิยมใช้กันเยอะมาก เพราะเป็นการสร้างสรรค์งานในรูปแบบใหม่ ที่ทำให้สามารถดึงดูดความสนใจจากคนดูได้ ช่วยสื่ออารมณ์ของตัวนักแสดง จะเห็นได้จากภาพยนตร์หลายๆเรื่องมีสีผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง แต่ทำให้ภาพที่ออกมานั้นดูสวยงามมากขึ้นและผู้ชมเองก็รู้สึกแปลกตากับสีที่เห็น เมื่อมองแล้วก็จะรู้สึกถึงสีที่เปลี่ยนไปจากเดิม ทำให้อารมณ์ในการรับชมเปลี่ยนแปลง
  4. การศึกษากลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่สรุปได้ว่า การใช้เทคนิคการปรับอัตราความเร็วภาพ Slow Motion ในฉากที่ขวดน้ำตกพื้น มีความเหมาะสมกับมิวสิควิดีโอเพลง เสพติดความเจ็บปวด โดยวง The Yers อยู่ในเกณฑ์ มากที่สุด คิดค่าเฉลี่ยเป็น 4.73 และการใช้เทคนิคการปรับอัตราความเร็วภาพ Slow Motion ในฉากที่แม่ตบบ่าร่ำราลูก มีความเหมาะสมกับมิวสิควิดีโอเพลง เสพติดความเจ็บปวด โดยวง The Yers อยู่ในเกณฑ์ มาก คิดค่าเฉลี่ยเป็น 4.21 และการใช้เทคนิคการปรับอัตราความเร็วภาพ Slow Motion เป็นเทคนิคที่มีความเหมาะสมกับมิวสิควิดีโอเพลง เสพติดความเจ็บปวด โดยวง The Yers อยู่ในเกณฑ์ มาก คิดค่าเฉลี่ยเป็น 4.27 ที่ได้กล่าวมาทั้งหมดเป็นส่วนของเทคนิคการปรับอัตราความเร็วภาพ Slow Motion ผลรวมทั้งหมดอยู่ในระดับเกณฑ์ มากและมากที่สุด สอดคล้องกับแนวคิดของ ชยพล สุทธิโยธิน (2548 : 832-833) ที่กล่าวไว้ว่า การถ่ายภาพเพื่อให้เกิดการเคลื่อนไหวโดยใช้เทคนิคพิเศษสามารถทำด้วยกล้อง โดยใช้กล้องที่ทำผลพิเศษได้ต้องเป็นกล้องที่สามารถเปลี่ยนตามความเร็ว (Speed) ได้ด้วย เช่นภาพช้า (Slow motion) ถ้าต้องการภาพที่เคลื่อนไหวบนจอให้มีการเคลื่อนไหวช้าๆ เพื่อดูรายละเอียดของการเคลื่อนไหวซึ่งต้องใช้กล้องที่มีความเร็วสูง เรียกว่า ไฮสปีดคาเมร่า (High speed camera) เมื่อนำมาฉายด้วยความเร็วปกติจะได้ภาพที่ดูช้าลงซึ่งการถ่ายภาพด้วยความเร็วสูงนี้ใช้เพื่อผลพิเศษหลายประการ เช่น เมื่อใช้หุ่นจำลองย่อส่วนลงมาจากของจริงซึ่งเป็นของใหญ่มาก ๆ ฉากที่ต้องการความละเอียดของการเคลื่อนไหว เช่น วิถีกระสุน การเหวี่ยงหมัดของนักมวย เพราะเมื่อดูแล้วจะส่งผลให้เกิดความรู้สึกร่วมได้ดี
  5. การศึกษากลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่สรุปได้ว่า ระดับความพึงพอใจเนื้อเรื่องของวิดีโอเพลง เสพติดความเจ็บปวด โดยวง The Yers มีความสอดคล้องกับเนื้อเพลงอยู่ในเกณฑ์มาก คิดค่าเฉลี่ยเป็น 4.29 และเนื้อเรื่องของเพลงเสพติดความเจ็บปวด โดยวง The Yers สามารถทำให้ผู้ชมเข้าใจอารมณ์ของตัวละคร อยู่ในเกณฑ์มาก คิดค่าเฉลี่ยเป็น 4.3 และตัวละครสามารถสื่อสีหน้าและอารมณ์เพื่อจะเล่าเรื่อง อยู่ในเกณฑ์มาก คิดค่าเฉลี่ยเป็น 4.41 และการเรียงลำดับภาพและการเชื่อมภาพ มีความต่อเนื่องน่าสนใจอยู่ในเกณฑ์ มาก คิดค่าเฉลี่ยเป็น 4.37 และมิวสิควิดีโอเพลงเสพติดความเจ็บปวด โดยวง The Yers สามารถถ่ายทอดความคิดสร้างสรรค์จินตนาการให้แก่ผู้รับสารได้อยู่ในเกณฑ์มาก คิดค่าเฉลี่ยเป็น 3.34 และมิวสิควิดีโอเพลงเสพติดความเจ็บปวด โดยวง The Yers มีความสมบูรณ์ทางด้านภาพ เสียงอยู่ในเกณฑ์มาก คิดค่าเฉลี่ยเป็น 3.38 จากที่ได้กล่าวมาทั้งหมดเป็นส่วนของความพึงพอใจหลังการรับชมมิวสิควิดีโอเพลงเสพติดความเจ็บปวด ผลรวมของทั้งหมดอยู่ในระดับเกณฑ์ มาก

ข้อเสนอแนะ

จากที่ได้ศึกษาปริญญานิพนธ์เรื่องการผลิตมิวสิควิดีโอ โดยใช้เทคนิคการจัดแสงแบบ Low Key, High Key, ย้อมสีเฉพาะจุดแบบเคลื่อนไหวและเทคนิค Slow Motion ผู้ศึกษาพบว่า ภาพรวมของ มิวสิควิดีโอถือว่าดี แต่ควรจะลองหาเรื่องราวใหม่ๆหรือมุมภาพที่น่าสนใจ ก็จะช่วยให้มิวสิควิดีโอนี้สมบูรณ์มากขึ้น เรื่องการจัดแสงแบบ Low Key ถ้าจะมืดก็มืดไปเลย เน้นเป็นจุดที่เราจะเล่า ส่วนที่เราไม่เน้นก็ควรตัดออก ถ้าเป็น การจัดแสงแบบ High Key ก็ควรจะให้เกิดจากแสงมากกว่าเปิดหน้ากล้องช่วย เน้นองค์ประกอบของแสงและภาพ


รับชมผลงาน