The factors that Influence for Success of Total Quality Management (TQM) Case study: Chromalloy (Thailand) Ltd.
โดย เพ็ญสุภา สุขประเสริฐ
ปี 2550
บทคัดย่อ (Abstract)
การค้นคว้าอิสระครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อความสำเร็จของการจัดการคุณภาพทั่วทั้งองค์กร (TQM) ศึกษาถึงปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จของการจัดการคุณภาพทั่วทั้งองค์กร (TQM) กรณีศึกษา บริษัทครอมัลลอย(ประเทศไทย) จำกัด ผู้ศึกษาใช้กรอบแนวคิดหาความแตกต่างระหว่างปัจจัยทางด้านประชากรศาสตร์และความสำเร็จของการจัดการคุณภาพทั่วทั้งองค์กร (TQM) และหาความสัมพันธ์ของตัวแปรระหว่างปัจจัยที่เกี่ยวข้องในการจัดการคุณภาพทั่วทั้งองค์กร (TQM) และความสำเร็จของการจัดการคุณภาพทั่วทั้งองค์กร (TQM) โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงปริมาณ โดยมีแบบสอบถามวัดระดับความคิดเห็นตามแบบมาตราส่วนประเมินค่าแบบ linkert เป็นการวัดระดับมาตรวัดอันตรภาค ใช้สถิติเชิงพรรณนาและเชิงอนุมานด้วย t-test, One way ANOVA,LSD และวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ของตัวแปรด้วยค่าสถิติสหสัมพันธ์อย่างง่ายของเพียร์สัน
ผลการศึกษาพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามเป็นเพศชาย คิดเป็นร้อยละ 58.8 และเป็นเพศหญิงคิดเป็นร้อยละ 41.2 ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 21-30 ปี คิดเป็นร้อยละ 43.9 การศึกษาระดับอนุปริญญา/ปวส คิดเป็นร้อยละ 51.3 ประสบการณ์การทำงาน 4-5 ปี คิดเป็นร้อยละ 42.8 ตำแหน่งงานพนักงานปฏิบัติการ คิดเป็นร้อยละ 90.4 ผลการวิเคราะห์ในเรื่องความคิดเห็นเกี่ยวกับปัจจัยที่เกี่ยวข้องในการจัดการคุณภาพทั่วทั้งองค์กร (TQM) ประกอบด้วย การให้ความสำคัญกับลูกค้า การทำงานเป็นทีมและการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามมีความคิดเห็นอยู่ในระดับมากที่สุด ส่วนความสำเร็จของการจัดการคุณภาพทั่วทั้งองค์กร (TQM) โดยภาพรวมพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มีความคิดเห็นอยู่ในระดับมากที่สุด ประกอบด้วย การจัดการคุณภาพทั่วทั้งองค์กร (TQM) ทำให้สินค้ามีคุณภาพสูงมากขึ้น ช่วยลดของเสียจากกระบวนการผลิต ช่วยทำให้ส่งมอบสินค้าได้ทันเวลาและช่วยลดต้นทุนด้านการผลิต
จากวัตถุประสงค์ที่ต้องการศึกษาถึงปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จของการจัดการคุณภาพทั่วทั้งองค์กร (TQM) พบว่า ปัจจัยทางด้านประชากรศาสตร์ในด้านเพศที่แตกต่างกันมีผลต่อความสำเร็จของการจัดการคุณภาพทั่วทั้งองค์กร (TQM) ไม่แตกต่างกัน ส่วนอายุ ระดับการศึกษา ประสบการณ์การทำงาน ที่แตกต่างกันมีความคิดเห็นต่อความสำเร็จของการจัดการคุณภาพทั่วทั้งองค์กร (TQM) ไม่แตกต่างกันเช่นเดียวกัน ส่วนตำแหน่งงานที่แตกต่างกันมีความคิดเห็นต่อความสำเร็จของการจัดการคุณภาพทั่วทั้งองค์กร (TQM) ไม่แตกต่างกันในด้านทำให้สินค้ามีคุณภาพมากขึ้น ส่งมอบสินค้าได้ทันเวลาและลดต้นทุนด้านการผลิต ส่วนตำแหน่งที่แตกต่างกันจะมีความคิดเห็นต่อความสำเร็จของการจัดการคุณภาพทั่วทั้งองค์กร(TQM) ทำให้ลดของเสียจากกระบวนการผลิตแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05
และปัจจัยที่เกี่ยวข้องในการจัดการคุณภาพทั่วทั้งองค์กร (TQM) ได้แก่ ปัจจัยทางด้านการให้ความสำคัญกับลูกค้า การทำงานเป็นทีม และการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง มีความสัมพันธ์กับความสำเร็จของการจัดการคุณภาพทั่วทั้งองค์กรและมีความสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกัน แสดงให้เห็นว่าปัจจัยต่างๆ ข้างต้นมีส่วนส่งเสริมในการจัดการคุณภาพทั่วทั้งองค์กร (TQM) ให้ประสบผลสำเร็จไม่ว่าจะเป็นในด้านช่วยทำให้สินค้ามีคุณภาพสูงขึ้นลดของเสียจากกระบวนการผลิต ส่งมอบสินค้าได้ทันเวลา และลดต้นทุนด้านการผลิต ยกเว้นปัจจัยทางด้านการให้ความสำคัญกับลูกค้า ในส่วนของบริษัทมีระบบการจัดการข้อร้องเรียนของลูกค้าจะไม่มีความสัมพันธ์กับความสำเร็จของการจัดการคุณภาพทั่วทั้งองค์กร (TQM) ที่ทำให้สินค้ามีคุณภาพสูงขึ้น ส่งมอบสินค้าได้ทันเวลา และลดต้นทุนด้านการผลิต