Production Process Analysis for Tendency to Reduce Defect Case Study: Glass Disc Production Company

โดย เอกรินทร์ แผ้วพลสง

ปี     2550

บทคัดย่อ (Abstract)

งานวิจัยครั้งนี้ มีความมุ่งเน้นเพื่อศึกษาถึงประเภทของเสีย ปริมาณของเสีย และปัจจัยต่างๆที่ทำให้เกิดของเสียเพิ่มขึ้นในกระบวนการผลิต ของบริษัทผู้ผลิตกระจกแผ่นดิสก์แห่งหนึ่ง โดยการเก็บรวบรวมข้อมูลแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1) ข้อมูลที่ได้เป็นจำนวนและประเภทของเสีย 2) ข้อมูลที่ได้เป็นการนำประเภทของของเสียที่เกิดมากที่สุดมาค้นหาสาเหตุว่าเกิดขึ้นจากอะไร โดยแบ่งออกเป็น 4ปัจจัย ได้แก่ ปัจจัยด้านพนักงาน ปัจจัยด้านเครื่องจักร ปัจจัยด้านวัตถุดิบ และปัจจัยด้านวิธีการทำงานและ 3) ข้อมูลที่ได้เป็นความคิดเห็นที่ได้จากการสัมภาษณ์ผู้บริหารและหัวหน้างานที่เกี่ยวข้อง

กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา คือ พนักงานของบริษัทผู้ผลิตกระจกแผ่นดิสก์แห่งหนึ่งจำนวนทั้งสิ้น 171 คน แบ่งเป็นกลุ่มตัวอย่างที่ใช้แบบสอบถาม จำนวน 160 คน และกลุ่มตัวอย่างที่ใช้แบบสัมภาษณ์ จำนวน 11 คน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลจากแบบสอบถาม คือ การแจกแจงความถี่ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียวผลการศึกษา แบ่งเป็น 3 ส่วน
1. การวิเคราะห์และค้นหาประเภทของเสียที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิต พบว่า ของเสียที่เกิดขึ้นมีทั้งหมดมี 14 ประเภท คือ 1) รอยขีดข่วน (สั้น)(SCR) 2) เสียหายจากมือคน เช่น การจับชิ้นงาน,ชิ้นงานชนกัน (HD) 3) รอยขีดข่วน (ยาว)(LS) 4) รอยบิ่นที่เส้นรอบวง (CHP(OD)) 5) รอยบิ่นที่เส้นรอบวงใน (CHP(ID)) 6) ขอบชิ้นงานเสียหาย (ED) 7) คราบสกปรกบนชิ้นงาน เช่น ฝุ่น Slurry(CONT) 8) มีจุดขนาดเล็กกระจายบนชิ้นงาน (PNT 1) 9) มีจุดขนาดเล็กเป็นกระจุกบนชิ้นงาน
(PNT 2) 10) ขอบชิ้นงานเสียหาย (Rough) 11) คราบ (STN) 12) ชิ้นงานเกิดรอยร้าว สึกกร่อนด้านใน(Crk) 13) ชิ้นงานเกิดรอยแตกร้าว (Brk) และ 14) ขอบชิ้นงานเสียหาย (Snake) โดยประเภทของเสียที่มีปริมาณมากที่สุด ได้แก่ รอยขีดข่วน (สั้น) (SCR)
2. การวิเคราะห์ข้อมูลจากแบบสอบถาม เพื่อค้นหาปัจจัยต่าง ๆ ของกระบวนการผลิตที่มีผลทำให้เกิดของเสียประเภทรอยขีดข่วน (สั้น) (SCR) พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มีการศึกษาในระดับม.ปลาย หรือเทียบเท่า คิดเป็นร้อยละ 57.50 โดยพนักงานที่มีระดับการศึกษาแตกต่างกันมีผลต่อการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัจจัยต่างๆ ที่ก่อให้เกิดของเสียประเภทรอยขีดข่วน (สั้น)(SCR) ไม่แตกต่างกัน และส่วนใหญ่มีระยะเวลาในการปฏิบัติงาน 3 เดือน ถึง 1 ปี คิดเป็นร้อยละ51.88 โดยพนักงานที่มีระยะเวลาในการปฏิบัติงานแตกต่างกันมีผลต่อการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัจจัยต่างๆ ที่ก่อให้เกิดของเสียประเภทรอยขีดข่วน (สั้น) (SCR) แตกต่างกัน สำหรับปัจจัยต่างๆของกระบวนการผลิตที่มีผลทำให้เกิดของเสียประเภทรอยขีดข่วน (สั้น) (SCR) ในปริมาณมากที่สุดแบ่งเป็น 3 ปัจจัย คือ 1) ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อปริมาณของเสียประเภทรอยขีดข่วน (สั้น) (SCR)อย่างมาก และควรต้องรีบดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วน 2) ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อปริมาณของเสียประเภทรอยขีดข่วน (สั้น) (SCR) ปานกลาง และต้องดำเนินการพิจารณาหาทางแก้ไข และป้องกันและ 3) ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อปริมาณของเสียประเภทรอยขีดข่วน (สั้น) (SCR) น้อย และต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
3. การวิเคราะห์ข้อมูลจากแบบสัมภาษณ์ เพื่อเป็นข้อมูลเพิ่มเติมในการประกอบการศึกษาวิเคราะห์ โดยนำปัจจัยที่มีผลกระทบต่อปริมาณของเสียประเภทรอยขีดข่วน (สั้น) (SCR) อย่างมากและควรต้องรีบดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วน และปัจจัยที่มีผลกระทบต่อปริมาณของเสียประเภทรอยขีดข่วน (สั้น) (SCR) ปานกลาง และต้องดำเนินการพิจารณาหาทางแก้ไข และป้องกัน เป็นประเด็นหลักในการตั้งคำถามในการสัมภาษณ์ พบว่า ข้อมูลที่ได้สามารถอภิปรายผลได้เป็น 2 กลุ่ม ที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันในบางปัจจัย คือ กลุ่มผู้บริหารระดับสูง ประกอบด้วย ผู้ช่วยผู้จัดการ วิศวกรอาวุโส และวิศวกรกระบวนการ และกลุ่มหัวหน้างานที่เป็นผู้รับผิดชอบและควบคุมการปฏิบัติงานของพนักงานในแต่ละกระบวนการโดยตรง ดังนี้
3.1 ความเห็นสอดคล้องกัน ได้แก่ พนักงานมีการหยิบจับชิ้นงานในการหยิบเข้าหยิบออกชิ้นงานเข้าเครื่องไม่ถูกต้อง ในกรณีการจับชิ้นงานไม่ตรงช่องของ Carrier พนักงานไม่มีการตรวจสอบสภาพวัตถุดิบหรืออุปกรณ์สำหรับใช้ในกระบวนการผลิตหลังจากการเบิกจ่าย วิธีการจัดเก็บวัตถุดิบและอุปกรณ์สำหรับใช้ในกระบวนการผลิตในแต่ละรายการยังไม่เหมาะสม และคู่มือในการปฏิบัติงานไม่สามารถอธิบายการทำงานได้ครบถ้วน
3.2 ความเห็นที่ไม่ตรงกัน ได้แก่ สาเหตุที่พนักงานมีการหยิบจับชิ้นงานในการหยิบเข้าหยิบออกเข้าเครื่องไม่ถูกต้องในกรณีการหยิบลากชิ้นงานขณะนำงานออกจากเครื่อง แผนการซ่อมบำรุงเครื่องจักร และเมื่อพนักงานอ่านคู่มือในการปฏิบัติงานแล้ว สามารถปฏิบัติงานได้ทันที

การวิเคราะห์กระบวนการผลิตเพื่อเป็นแนวทางในการลดของเสียกรณีศึกษา บริษัทผู้ผลิตกระจกแผ่นดิสก์