Perception Intergrated Marketing CommunicationInfluencing to Use Service of National Science Museum,Khlong 5, Khlong Luang, Pathum Thani

โดย สุจริต พลเรือง

ปี     2549

บทคัดย่อ (Abstract)

          การศึกษาวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาข้อมูลทั่วไปของผู้ใช้บริการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ระดับการรับรู้เครื่องมือการสื่อสารทางการตลาดแบบผสมผสาน(IMC) ของผู้ใช้บริการ รวมทั้งศึกษาลักษณะการใช้บริการ และ แนวโน้มการใช้บริการ ที่มีต่อองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการสำรวจผู้ใช้บริการ จำนวน 400 ชุด สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลคือ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตราฐาน สถิติที่ใช้ทดสอบสมมติฐาน ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สันเพื่อทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างสองตัวแปร การวิเคราะห์ความแตกต่างของค่าเฉลี่ยประชากร 2 กลุ่ม (Independent Sample t-test) และการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียวของประชากรมากกว่า 2 กลุ่มขึ้นไป (One Way ANOVA) หากพบความแตกต่างจะทดสอบความแตกต่างเป็นรายคู่โดยใช้วิธี LSD (Least Significant Difference)
          ผลจากการศึกษาวิจัย พบว่า ผู้ใช้บริการที่ตอบแบบสอบถามในครั้งนี้ เป็น เพศหญิงมากกว่า เพศชาย ระดับการศึกษาขั้นสูงสุดส่วนใหญ่คือระดับปริญญาตรี ส่วนมากมี อาชีพรับราชการ และเข้ามาใช้บริการโดยเดินทางมาส่วนตัว ผู้ใช้บริการให้ระดับการรับรู้ในเรื่องของเครื่องมือสื่อสารทางการตลาดในการใช้บริการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติมากที่สุด คือการใช้ผลิตภัณฑ์เป็นสื่อ รองลงมาคือ การจัดแสดงงาน และ การจัดกิจกรรมพิเศษ ตามลำดับ ด้านความถี่ในการใช้บริการ ส่วนใหญ่จะใช้บริการเพียงครั้งเดียวในรอบปี ในด้านเหตุผลการใช้บริการมากที่สุด คือ การใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ สำหรับระดับความรู้ที่ได้รับจากการใช้บริการด้าน
วิชาการมากที่สุด คือนิทรรศการวิทยาศาสตร์ภูมิปัญญาไทย ในชั้นที่ 6 ส่วนระดับการเข้าร่วมกิจกรรมเสริมศึกษา มากที่สุด คือ การชมการแสดงทางวิทยาศาสตร์ (Science Show) ในชุดวิทยาศาสตร์มหัศจรรย์ สำหรับแนวโน้มการใช้บริการ อีก 6 เดือนข้างหน้า พบว่าผู้ใช้บริการมีแนวโน้มจะมาใช้บริการอีก และคาดว่าจะแนะนำบุคคลอื่นให้มาใช้บริการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติเช่นกัน การทดสอบสมมติฐาน พบว่า เพศ ไม่มีความแตกต่างกับในการใช้บริการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ในด้านเหตุผล ด้านวิชาการและกิจกรรมเสริมศึกษาส่วนอาชีพมีความแตกต่างกันในการใช้บริการทั้งสามด้าน อายุและการศึกษา มีความแตกต่างกันในด้านเหตุผลการใช้บริการ และด้านวิชาการ ส่วน ลักษณะการเข้ามาใช้บริการมีความแตกต่างกันในด้านกิจกรรมเสริมศึกษา เครื่องมือการสื่อสารทางการตลาดแบบผสมผสาน (IMC) ได้แก่ การโฆษณา การประชาสัมพันธ์ การใช้ยานพาหนะเคลื่อนที่ การตลาดทางตรง การส่งเสริมการขาย การจัดกิจกรรมพิเศษ การจัดสัมมนา การจัดทำค่ายวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ การใช้ผลิตภัณฑ์เป็นสื่อ และคู่มือ มีความสัมพันธ์กับการใช้บริการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ใน ด้านวิชาการ และด้านกิจกรรมเสริมศึกษา เท่านั้น ส่วน การจัดกิจกรรมพิเศษ การจัดทำค่ายวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์การใช้ผลิตภัณฑ์เป็นสื่อ และคู่มือ มีความสัมพันธ์กับการใช้บริการทั้งสามด้านคือด้านเหตุผลการใช้บริการ ด้านวิชาการและด้านกิจกรรมเสริมศึกษา

DOWNLOAD