Guideline to Develop Tourism Market at Ubonratchathani Province

โดย รัชนีย์ พัฒนะราช

ปี     2552

บทคัดย่อ (Abstract)

การศึกษาวิจัยเรื่อง “แนวทางการพัฒนาตลาดการท่องเที่ยวจังหวัดอุบลราชธานี” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมการท่องเที่ยว ความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาการท่องเที่ยวจังหวัดอุบลราชธานี ความต้องการพัฒนาตลาดการท่องเที่ยวจังหวัดอุบลราชธานี และความสามารถทางการแข่งขันในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อจัดทำข้อมูลแนวทางการพัฒนาตลาดการท่องเที่ยวจังหวัดอุบลราชธานี กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา คือ กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวไทยจำนวน 420 คนบุคลากรภาครัฐ จำนวน 315 คน บุคลากรภาคเอกชน จำนวน 121 ราย และผู้นำชุมชนและประชาชน จำนวน 420 คน การวิเคราะห์ข้อมูลใช้ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ในส่วนของการทดสอบสมมติฐานใช้การทดสอบความแตกต่างระหว่างค่าเฉลี่ยของประชากร 2 กลุ่มที่เป็นอิสระต่อกัน (Independent Sample t-test) และการทดสอบค่าความแปรปรวนของค่าเฉลี่ยด้วยค่าเอฟ (F-test) โดยมีค่านัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05

ผลการวิจัยพบว่า นักท่องเที่ยวชาวไทยส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง อายุระหว่าง 21 – 30 ปี มีภูมิลำเนาอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นนักเรียน / นักศึกษา สถานภาพโสด มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่ำกว่าหรือเท่ากับ 5,000 บาท สำหรับพฤติกรรมการท่องเที่ยว พบว่า นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการพักผ่อน / การท่องเที่ยวโดยเดินทางท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดนักขัตฤกษ์และเดินทางท่องเที่ยวกับครอบครัว / ญาติ แบบไปเช้า – เย็นกลับ โดยชอบการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ชื่นชอบกิจกรรมการถ่ายรูปและชมวิวทิวทัศน์ มีค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวไม่เกิน 3,000 บาท ซึ่งสื่อบุคคล(ปากต่อปาก) สามารถเข้าถึงนักท่องเที่ยวได้ดี ในส่วนของบุคลากรภาครัฐที่ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นเพศชาย อายุระหว่าง 31 – 40 ปี มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 5,001 – 10,000 บาท และบุคลากรภาคเอกชนที่ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ประกอบธุรกิจร้านขายสินค้าและของที่ระลึก มีระยะเวลาดำเนินธุรกิจ 6 – 15 ปี มีจำนวนพนักงานต่ำกว่า 20 คน และในส่วนของผู้นำชุมชนและประชาชนที่ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงอายุระหว่าง 21 – 30 ปี การศึกษาระดับประถมศึกษามีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่ำกว่าหรือเท่ากับ 3,000 บาท ในด้านความคิดเห็นต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวของผู้ตอบแบบสอบถามทั้ง 4 กลุ่ม พบว่า มีความคิดเห็นต่อการพัฒนาด้านทรัพยากรการท่องเที่ยวด้านการบริหารจัดการทรัพยากรการท่องเที่ยว และด้านกิจกรรมและกระบวนการให้การศึกษาภายในแหล่งท่องเที่ยวโดยภาพรวมทั้ง 3 ด้านอยู่ในระดับดี ส่วนความต้องการพัฒนาตลาดการท่องเที่ยวจังหวัดอุบลราชธานีพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามทั้ง 4 กลุ่มมีความต้องการพัฒนาตลาดการท่องเที่ยวโดยภาพรวมอยู่ในระดับมากโดยกลุ่มนักท่องเที่ยวมีความต้องการพัฒนาในระดับมากด้านวัฒนธรรมและภูมิปัญญา การบริการของร้านค้าและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และกิจกรรมการท่องเที่ยวและแหล่งท่องเที่ยว ส่วนบุคลากรภาครัฐและบุคลากรภาคเอกชนมีความต้องการพัฒนาตลาดการท่องเที่ยวในระดับมาก ด้านการปรับปรุงคุณภาพสื่อให้ความรู้เกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยว การดูแลความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว การประสานงานกันระหว่างภาครัฐและประชาชนในการกำหนดกฎระเบียบและคุณภาพของการท่องเที่ยว และผู้นำชุมชนและประชาชนมีความต้องการพัฒนาตลาดการท่องเที่ยวในระดับมากด้านการอบรมพัฒนาฝีมือแรงงานผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น (OTOP) และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการในการรักษาและสืบสานเอกลักษณ์แก่ชุมชน

ผลการทดสอบสมมติฐานของนักท่องเที่ยว พบว่า นักท่องเที่ยวชาวไทยมีการศึกษา อาชีพและสถานภาพแตกต่างกันมีแนวโน้มกลับมาท่องเที่ยวจังหวัดอุบลราชธานีแตกต่างกัน ส่วนนักท่องเที่ยวชาวไทยมีเพศ อายุ การศึกษา รายได้เฉลี่ยต่อเดือนแตกต่างกันมีความคิดเห็นต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวจังหวัดอุบลราชธานีแตกต่างกัน และนักท่องเที่ยวชาวไทยมีอายุ การศึกษา อาชีพและสถานภาพแตกต่างกันมี ความต้องการพัฒนาตลาดการท่องเที่ยวจังหวัดอุบลราชธานีแตกต่างกันในส่วนของการทดสอบสมมติฐานของบุคลากรภาครัฐ พบว่า บุคลากรภาครัฐมีอายุแตกต่างกันมีความคิดเห็นต่อการบริหารจัดการทรัพยากรการท่องเที่ยวของจังหวัดอุบลราชธานีด้านบุคลากรแตกต่างกัน และมีความต้องการพัฒนาตลาดการท่องเที่ยวจังหวัดอุบลราชธานีแตกต่างกัน และการทดสอบสมมติฐานของบุคลากรภาคเอกชนและผู้นำชุมชนและประชาชน พบว่า บุคลากรภาคเอกชนมีประเภทกิจการแตกต่างกันมีความต้องการพัฒนาตลาดการท่องเที่ยวของจังหวัดอุบลราชธานีแตกต่างกัน และผู้นำชุมชนและประชาชนมีเพศแตกต่างกันมีความคิดเห็นต่อการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวจังหวัดอุบลราชธานีแตกต่างกัน ผู้นำชุมชนและประชาชนที่มีอายุแตกต่างกันมีความคิดเห็นต่อการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและโครงสร้างพื้นฐานการบริการและสิ่งอำนวยความสะดวกของจังหวัดอุบลราชธานีแตกต่างกัน ผู้นำชุมชนและประชาชนที่มีการศึกษาและรายได้เฉลี่ยต่อเดือนแตกต่างกันมีความคิดเห็นต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวด้านทรัพยากรการท่องเที่ยวและการบริหารจัดการทรัพยากรการท่องเที่ยวจังหวัดอุบลราชธานีแตกต่างกัน และผู้นำชุมชนและประชาชนที่มีเพศ อายุการศึกษา และรายได้เฉลี่ยต่อเดือนแตกต่างกันมีความต้องการพัฒนาตลาดการท่องเที่ยวของจังหวัดอุบลราชธานีแตกต่างกัน

แนวทางในการพัฒนาตลาดการท่องเที่ยวจังหวัดอุบลราชธานี คือ ควรมีการสร้างมาตรฐานคุณภาพของสินค้าและการบริการทางการท่องเที่ยว มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการบริการและสิ่งอำนวยความสะดวกในแหล่งท่องเที่ยวให้ดีขึ้น มีการส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านเกี่ยวกับการท่องเที่ยวร่วมกัน ควรมีการส่งเสริมการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง มีการพัฒนาคุณภาพสินค้า ของฝาก และของที่ระลึกให้ได้มาตรฐาน มีการส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเพื่อเป็นการสร้างรายได้และเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่น และควรมีการส่งเสริมวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นโดยส่งเสริมให้ประชาชนที่มีความรู้ถ่ายทอดภูมิปัญญาสู่คนรุ่นหลังต่อไป

DOWNLOAD