A Study of Attitudes Towords Development and Training of Cargo Terminal Operations Department (FA) Employees at Thai Airways International Public Company Limited

โดย สถิตย์ บุญมี

ปี     2550

บทคัดย่อ (Abstract)

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบทัศนคติของพนักงาน ฝ่ายปฏิบัติการคลังสินค้า (FA) บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ในเรื่องการพัฒนาและการฝึกอบรม เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาบุคลากรของฝ่ายฯ ให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันโดยศึกษาทัศนคติ 5 ด้าน คือ ด้านนโยบายการฝึกอบรม ด้านวัตถุประสงค์ของการฝึกอบรม ด้านกระบวนการของการจัดฝึกอบรม ด้านประโยชน์ของการฝึกอบรม และด้านทัศนคติหลังการฝึกอบรมรวมทั้งศึกษาเปรียบเทียบทัศนคติหลังการฝึกอบรม ที่มีความสัมพันธ์กับทัศนคติของพนักงานต่อการพัฒนาการฝึกอบรมทั้ง 4 ด้าน กลุ่มตัวอย่าง คือ พนักงานประจำระดับปฏิบัติการ (ระดับ 1-7) ฝ่ายปฏิบัติการคลังสินค้า (FA) บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 307 คน ใช้การสุ่มแบบแบ่งชั้นจำแนกตามสัดส่วนหน่วยงาน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถาม การประมวลผลข้อมูล โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติ SPSS/PC V.13 (Statistical Package for the SocialScience for Windows) สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การเปรียบเทียบความแตกต่าง (T-test) การวิเคราะห์ค่าความแปรปรวนทางเดียว(ANOVA) เมื่อพบความแตกต่างใช้การทดสอบรายคู่โดยวิธีของ Least-Significant Difference(LSD) และค่าสถิติสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์อย่างง่ายของเพียร์สัน (Pearson Product MomentCorrelation Coefficent)
ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
ข้อมูลส่วนบุคคลของพนักงาน พบว่า พนักงานส่วนใหญ่เป็นเพศชาย อายุ 30-40 ปีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี ระดับเงินเดือน 25,001-35,000 บาท ตำแหน่งงานระดับ 3-4 หน่วยงานที่สังกัด กองคลังสินค้าการบินไทยและสายการบินพันธ์มิตร (FX) อายุงาน 5-15 ปี และส่วนใหญ่เคยผ่านการฝึกอบรม 5-10 ครั้ง

ผลการวิจัยทัศนคติต่อการพัฒนาและการฝึกอบรม ทั้ง 5 ด้าน พบว่า พนักงานให้ความสำคัญในระดับมาก เรียงตามลำดับได้แก่ ด้านนโยบายของการฝึกอบรม ด้านวัตถุประสงค์ของการฝึกอบรม ด้านทัศนคติหลังการฝึกอบรม ด้านประโยชน์ของการฝึกอบรม และด้านกระบวนการของการจัดฝึกอบรม

ผลวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อทดสอบสมมติฐาน พบว่า ปัจจัยด้านเพศแตกต่างกัน มีทัศนคติแตกต่างกันเฉพาะรายข้อ คือ การเลื่อนตำแหน่งพิจารณาจากหลักสูตรที่ได้รับการฝึกอบรม ปัจจัยด้านอายุ มีทัศนคติแตกต่างกัน ด้านเดียวคือ วัตถุประสงค์ของการฝึกอบรม ปัจจัยด้านวุฒิการศึกษามีทัศนคติแตกต่างกัน 2 ด้าน คือ นโยบายของการฝึกอบรม และ วัตถุประสงค์ของการฝึกอบรม ปัจจัยด้านเงินเดือน มีทัศนคติแตกต่างกัน 4 ด้าน คือ นโยบายการฝึกอบรม วัตถุประสงค์ของการฝึกอบรมกระบวนการของการจัดฝึกอบรม และทัศนคติหลังการฝึกอบรม ปัจจัยด้านหน่วยงานที่สังกัดมีทัศนคติไม่แตกต่างกันทั้ง 5 ด้าน ปัจจัยด้านอายุงาน มีทัศนคติแตกต่างกัน 4 ด้าน คือ นโยบายการฝึกอบรม วัตถุประสงค์ของการฝึกอบรม กระบวนการของการจัดฝึกอบรม และทัศนคติหลังการฝึกอบรม ปัจจัยด้านเคยผ่านการฝึกบรม มีทัศนคติแตกต่างกัน 4 ด้าน คือ นโยบายการฝึกอบรมวัตถุประสงค์ของการฝึกอบรม ประโยชน์ของการฝึกอบรม และทัศนคติหลังการฝึกอบรม

ผลการเปรียบเทียบความสัมพันธ์ของทัศนคติหลังการฝึกอบรมต่อการพัฒนาและการฝึกอบรม พบว่า ทัศนคติหลังการฝึกอบรมมีความสัมพันธ์ ระดับสูง 3 ด้าน คือ ประโยชน์ของการฝึกอบรม วัตถุประสงค์ของการฝึกอบรม และกระบวนการของการจัดฝึกอบรม ตามลำดับ ส่วนความสัมพันธ์ ระดับปานกลาง คือ ด้านนโยบายการฝึกอบรม ซึ่งทั้ง 4 ด้านมีความสัมพันธ์เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
ข้อเสนอแนะ
ควรมีการประชาสัมพันธ์ให้พนักงานได้ทราบมากขึ้น กระตุ้นให้พนักงานเห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ของการฝึกอบรม ควรจัดทำหลักสูตรให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับกลุ่มพนักงานใน แต่ละระดับพื้นความรู้ ความต้องการของแต่ละหน่วยงาน ควรส่งเสริมให้พนักงานได้มีโอกาสได้เข้ารับการฝึกอบรมอย่างทั่วถึงทุกคน และควรมีการติดตามประเมินผลงานของผู้เข้ารับการฝึกอบรมว่าประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว ได้มีการนำความรู้ที่ได้จากการฝึกอบรมไปพัฒนาหน่วยงานมากน้อยเพียงใด

DOWNLOAD