Factors Affecting Thai Tourist’s Behavior: The case study of Bueng Chawak Suphanburi

โดย ศิริวรรณ ปิติวรรณ

ปี    2551

บทคัดย่อ (Abstract)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวไทย กรณีศึกษา บึงฉวากเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสุพรรณบุรี กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้เป็นนักท่องเที่ยวชาวไทยที่มีอายุ ตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปและเข้ามาเที่ยวใน บึงฉวากเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสุพรรณบุรี จำนวน 400 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ แบบสอบถามสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ t-test F-test (One – Way ANOVA) และวิเคราะห์ความแตกต่างรายคู่ด้วย LSD ทดสอบความสัมพันธ์ของ (Pearson Correlation) การแจกแจงแบบ (Chi-Square)
ผลการวิจัยพบว่า นักท่องเที่ยวที่เดินทางไปเที่ยว บึงฉวากเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย โดยส่วนใหญ่มีอายุ 25 – 34 ปี จบการศึกษาสูงสุดในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย/ปวช. โดยมีอาชีพ นิสิต/นักศึกษา มีรายได้ครัวเรือนต่อเดือน ต่ำกว่า 10,000 บาท และมีภูมิลำเนาอยู่ ภาคกลาง
ด้านแรงจูงใจแบบผลัก พบว่า นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ ให้ความสำคัญกับการมาท่องเที่ยวเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ ด้านแรงจูงใจแบบดึง พบว่า นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ ให้ความสำคัญกับความหลากหลายของจุดท่องเที่ยวภายในสถานที่ท่องเที่ยว
ด้านพฤติกรรมการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวไทย ในสถานที่ท่องเที่ยว บึงฉวากเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสุพรรณบุรี พบว่า นักท่องเที่ยวโดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวที่เคยเดินทางมาท่องเที่ยวแล้ว สำหรับจุดท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชมมากที่สุด ได้แก่ สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ คิดเป็นร้อยละ 49.25 โดยส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวไม่นิยมพักค้างคืน คิดเป็นร้อยละ 90นักท่องเที่ยวให้ระดับความคิดเห็นด้านแนวโน้มการกลับมาท่องเที่ยวในอนาคตอยู่ในระดับ มาและแนวโน้มการแนะนำให้มาท่องเที่ยว อยู่ในระดับ แนะนำแน่นอน
ผลการทดสอบสมมติฐาน พบว่า นักท่องเที่ยวที่มีเพศ แตกต่างกัน มีผลต่อพฤติกรรมการท่องเที่ยวด้านความถี่ในการเดินทางมาท่องเที่ยว แตกต่างกัน อย่างมีระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.05
นักท่องเที่ยวที่มีอายุ ที่แตกต่างกัน มีผลต่อพฤติกรรมการท่องเที่ยว ด้านความถี่ในการเดินทางมาท่องเที่ยว ด้านค่าใช้จ่ายโดยรวมในการมาท่องเที่ยวโดยประมาณ และด้านจำนวนบุคคลที่มาท่องเที่ยว แตกต่างอย่างมีระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.05
นักท่องเที่ยวที่มีภูมิลำเนา ที่แตกต่างกัน มีผลต่อพฤติกรรมการท่องเที่ยว ด้านความถี่ในการเดินทางมาท่องเที่ยว ด้านจำนวนบุคคลที่มาท่องเที่ยว และด้านแนวโน้มการกลับมาท่องเที่ยวในอนาคต แตกต่างกัน อย่างมีระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.01
แรงจูงใจแบบผลัก มีความสัมพันธ์ กับพฤติกรรมการท่องเที่ยว ด้านความถี่ในการเดินทางมาท่องเที่ยว ด้านจำนวนบุคคลที่มาท่องเที่ยว ด้านแนวโน้มการกลับมาท่องเที่ยวในอนาคต และด้านแนวโน้มการแนะนำให้มาท่องเที่ยว อย่างมีระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.05 และ 0.01
แรงจูงใจแบบดึง มีความสัมพันธ์ กับพฤติกรรมการท่องเที่ยว ด้านความถี่ในการเดินทางมาท่องเที่ยว ด้านค่าใช้จ่ายโดยรวมในการมาท่องเที่ยวโดยประมาณ ด้านแนวโน้มการกลับมาท่องเที่ยวในอนาคต และด้านแนวโน้มการแนะนำให้มาท่องเที่ยว อย่างมีระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.05และ 0.01
นักท่องเที่ยวที่มีพฤติกรรมด้านการมาท่องเที่ยวเป็นครั้งแรก หรือการท่องเที่ยวซ้ำที่แตกต่างกัน มีแรงจูงใจแบบดึง ด้านสินค้าและพนักงาน แตกต่างกัน อย่างมีระดับนัยสำคัญทางสถิติ0.05
กล่าวโดยสรุป ข้อมูลด้านประชากรศาสตร์ แรงจูงใจแบบผลักและแบบดึง ล้วนส่งผลต่อพฤติกรรมการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวไทยในบึงฉวากเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสุพรรณบุรี

DOWNLOAD : Factors Affecting Thai Tourist’s Behavior: The case study of Bueng Chawak Suphanburi