Managerial Accounting for Development Industry in Pathumthani Province

โดย จำรักษ์ ใจอุ่น

ปี     2551

บทคัดย่อ (Abstract)

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเครื่องมือทางการบัญชีบริหารที่นักบัญชีในกลุ่มอุตสาหกรรมในเขตจังหวัดปทุมธานีเลือกใช้เพื่อนำเสนอผู้บริหารในการพัฒนาธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมในสภาวะปัจจุบัน เพื่อศึกษาบทบาทของนักบัญชีบริหาร ของกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมในเขตจังหวัดปทุมธานีในสภาวะปัจจุบัน และเพื่อศึกษาปัญหาการนำเทคนิคการบัญชีบริหาร มาใช้ในธุรกิจอุตสาหกรรมในเขตจังหวัดปทุมธานีในสภาวะปัจจุบัน ประชากรและกลุ่มตัวอย่างอยู่ในกลุ่มธุรกิจอุตสากรรมในเขตจังหวัดปทุมธานี ส่วนมากเป็นผู้อำนวยการฝ่ายบัญชี ผู้จัดการฝ่ายบัญชีสมุห์บัญชี และนักบัญชีต้นทุนของอุตสาหกรรม จำนวน 204 ตัวอย่าง แต่ข้อจำกัดด้านระยะเวลาการวิจัยจึงได้รับการตอบแบบสอบถามกลับมา จำนวน 124 ตัวอย่าง แบ่งการวิเคราะห์ผลออกเป็น การวิเคราะห์เชิงพรรณนา และหาค่าความแตกต่างของตัวแปรที่มีผลต่อการใช้บัญชีบริหารเพื่อการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมในเขตจังหวัดปทุมธานี โดยวิธีทางสถิติ t-test และ F-test ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.05

ผลการศึกษาพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 59.7 มีอายุในช่วง40 ปีขึ้นไป ร้อยละ 50 การศึกษาระดับปริญญาตรีร้อยละ 65.3 และมีอายุการทำงานมากกว่า 10 ปีร้อยละ 59.7 เป็นบุคคลที่ทำงานในอุตสาหกรรมประเภทอุปกรณ์และอิเล็กโทรนิคส์มากที่สุดร้อยละ 21 โดยภาพรวมผู้ตอบแบบสอบถามนำเครื่องมือบัญชีบริหารมาใช้ในการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรม จังหวัดปทุมธานี อยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย 3.850) เครื่องมือบัญชีบริหารที่ใช้ในการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมสูงที่สุด คือด้านการจำแนกต้นทุนตามพฤติกรรมของต้นทุน รองลงมาคือด้านการใช้ความสัมพันธ์ระหว่างต้นทุน-จำนวน-กำไร และการตัดสินใจและข้อมูลที่นำมาใช้ในการตัดสินใจ

โดยรวมนักบัญชีบริหารมีบทบาทต่อการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมในจังหวัดปทุมธานี ในระดับมาก บทบาทส่วนใหญ่ คือ การจัดวางระบบบัญชีเพื่อจัดเก็บข้อมูลทางด้านบัญชีและการเงินรองลงมาคือ การวางแผนและบริหารภาษีอากร และการจัดทำข้อมูลทางการบัญชีเพื่อการประเมินผลการปฏิบัติงาน ผู้ตอบแบบสอบถามให้ความคิดเห็นว่ามีปัญหาและอุปสรรคในการนำบัญชีบริหารมาใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรม อยู่ในระดับ ปานกลาง ส่วนใหญ่พบว่า ปัญหาและอุปสรรคเป็นเพราะนโยบายของกิจการหรือการบริหารของฝ่ายบริหารเป็นอุปสรรค รองลงมาคือ ไม่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และไม่ได้รับความสนับสนุนจากผู้บริหารระดับสูง ด้านประชากรศาสตร์ทั้ง 5 ตัวแปร คือ เพศ อายุ ระดับการศึกษา อายุงาน และประเภทอุตสาหกรรม พบว่า ปัจจัยด้านเพศมีผลต่อการใช้บัญชีบริหารเพื่อการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติยิ่งและเครื่องมือบัญชีบริหารมีความสัมพันธ์กับปัญหาและอุปสรรคในการนำบัญชีบริหารไปใช้เพื่อการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

DOWNLOAD : Managerial Accounting for Development Industry in Pathumthani Province