Tourism Behaviors and Information Awareness Affecting Ecotourism Component Management: Case Study of Lotus Museum, Pathum Thani Province

โดย สมชาย ศิริสูตร

ปี     2552

บทคัดย่อ

การค้นคว้าอิสระครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะทางประชากรศาสตร์ ลักษณะพฤติกรรมการท่องเที่ยว และลักษณะพฤติกรรมการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและบริการจากสื่อ ของนักท่องเที่ยวชาวไทยที่มีผลต่อการจัดองค์ประกอบการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ กรณีศึกษา พิพิธภัณฑ์บัวในเขตจังหวัดปทุมธานี เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการจัดองค์ประกอบการท่องเที่ยว ให้เป็นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศอย่างสมบูรณ์

ประชากรที่ใช้ในการศึกษา คือ นักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางมาเที่ยวในพื้นที่พิพิธภัณฑ์บัว และเคยได้ยินเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศมาก่อนจำนวน 400 คน โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการวิจัย ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างอย่างง่ายแบบตามสะดวก สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่า t-test ค่า F-test ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (r) ของเพียร์สัน ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์พหุคูณ (R) และ สมการถดถอยพหุคูณเชิงเส้น ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.05

ผลการค้นคว้าอิสระพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงมีอายุระหว่าง15 – 24 ปี สถานภาพโสด ระดับการศึกษา ม.ปลาย / ปวช. มีอาชีพหลักเป็นนักเรียน / นักศึกษา มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 5,000 บาทและต่ำกว่า และที่พักปัจจุบันอาศัยอยู่ในเขตจังหวัดภาคเหนือ ด้านลักษณะพฤติกรรมการท่องเที่ยวพบว่าแหล่งท่องเที่ยวที่จะเลือกเที่ยวเป็นอันดับแรกคือแหล่งธรรมชาติเชิงนิเวศ มีวัตถุประสงค์ในการท่องเที่ยวเพื่อทัศนศึกษา / ทำวิจัย / ปฏิบัติราชการ มีการจัดการเดินทางผ่านหน่วยงาน / โรงเรียน ใช้แบบแผนการเดินทางเป็นหมู่คณะกลุ่มใหญ่ขนาด 11 คนขึ้นไป ความถี่ในการเดินทางเป็นการเดินทางมาครั้งแรก โดยใช้รถทัวร์นำเที่ยวเป็นยานพาหนะในการเดินทาง มีค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวเฉลี่ยไม่เกิน 500 บาท / คน / วัน และใช้ระยะเวลาในการท่องเที่ยวไป-กลับ ภายใน 1 วัน ด้านลักษณะพฤติกรรมการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและบริการจากสื่อพบว่าประเภทสื่อที่ใช้รับข่าวสารการท่องเที่ยวมากที่สุดคือ โทรทัศน์ โดยการบริการและข่าวสารการท่องเที่ยวที่ต้องการรับรู้ผ่านสื่อ มากที่สุดคือ ข้อมูลเกี่ยวกับเบอร์โทรติดต่อของสถานที่ท่องเที่ยวแผนที่ท่องเที่ยวและแผนที่เส้นทาง มีระดับในการรับรู้ข่าวสารการท่องเที่ยวจากสื่อภาพรวมอยู่ในระดับมาก ผลการวิเคราะห์ความสัมพันธ์และความถดถอยพหุคูณพบว่า ประเภทสื่อ (X1) การบริการและข่าวสารการท่องเที่ยวที่ต้องการรับรู้ผ่านสื่อ (X2) ระดับในการรับรู้ข่าวสารการท่องเที่ยวจากสื่อ(X3) มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับระดับความคิดเห็นต่อการจัดองค์ประกอบการท่องเที่ยวเชิงนิเวศได้อย่างสมบูรณ์ของพิพิธภัณฑ์บัว (ŶT)โดยมีทิศทางเดียวกัน และสามารถนำมาสร้างเป็นสมการพยากรณ์ คือ ŶT = 2.012+0.119(X1)+0.286(X2)+0.112(X3) สามารถทำนายสมการได้ 30.40% และมีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์พหุคูณ (R) เท่ากับ 0.556 ผลการวิเคราะห์ค่าเฉลี่ยความคิดเห็นต่อการจัดองค์ประกอบการท่องเที่ยวเชิงนิเวศได้อย่างสมบูรณ์ในด้านภาพรวมของพิพิธภัณฑ์บัวอยู่ในระดับมีความเหมาะสมมาก จากผลการทดสอบสมมุติฐานพบว่า ที่พักอาศัยปัจจุบันและยานพาหนะที่ใช้ในการท่องเที่ยวแตกต่างกัน มีผลต่อระดับความคิดเห็นต่อการจัดองค์ประกอบการท่องเที่ยวเชิงนิเวศได้อย่างสมบูรณ์ในด้านภาพรวมของพิพิธภัณฑ์บัวแตกต่างกัน

DOWNLOAD : Tourism Behaviors and Information Awareness Affecting Ecotourism Component Management: Case Study of Lotus Museum, Pathum Thani Province