ผลกระทบของพระราชบัญญัติการขนส่งต่อเนื่อง หลายรูปแบบ พ.ศ. 2548 ที่เกิดจากหลักเกณฑ์ของอนุสัญญาว่าด้วยสัญญาเพื่อการขนส่งของระหว่างประเทศโดยทางทะเลทั้งหมดหรือบางส่วน ค.ศ. 2009

โดย อัญชลี จินตนา

ปีที่  5 ฉบับที่ 2 เดือน พฤษภาคม-สิงหาคม 2555

บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ของวิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาเปรียบเทียบหลักเกณฑ์ที่สำคัญเกี่ยวกับหน้าที่และความรับผิดผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องไม่ว่าเรื่องระยะเวลาของความรับผิด เหตุยกเว้นความรับผิด การจำกัดความรับผิดรวมถึงการใช้สิทธิเรียกร้อง เขตอำนาจศาลและอายุความในการฟ้องร้องตามพระราชบัญญัติการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ.2548 และอนุสัญญาว่าด้วยสัญญาเพื่อการขนส่งของระหว่างประเทศโดยทางทะเลทั้งหมดหรือบางส่วน ค.ศ. 2009 (Rotterdam Rules) โดยวิเคราะห์เปรียบเทียบให้เห็นถึงข้อได้เปรียบเสียเปรียบภายใต้หลักเกณฑ์ทั้งสองเพื่อประกอบการตัดสินใจแก่ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบ แต่เพียงผู้เดียวตลอดการขนส่งว่าหลักเกณฑ์ใดจะเป็นประโยชน์แก่ตนมากที่สุดในกรณีเกิดปัญหาความคาบเกี่ยวของขอบเขตการบังคับใช้โดยเฉพาะการขนส่งระหว่างประเทศภายใต้สัญญาขนส่งฉบับเดียวที่มีการขนส่งทางทะเลร่วมด้วย

จากการศึกษาพบว่า พระราชบัญญัติการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ. 2548 นั้นแม้จะมีฐานะเป็นเพียงกฎหมายภายในของประเทศ แต่ก็มีหลักเกณฑ์หลายเรื่องที่ทำให้เห็น ข้อได้เปรียบที่สำคัญไม่ว่าในเรื่องขอบเขตการบังคับใช้ที่เปิดกว้างสามารถครอบคลุมการขนส่งในทุกรูปแบบ ในเรื่องความรับผิดของผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องอันเนื่องจากการส่งมอบชักช้า ก็เป็นไปตามหลักเสรีภาพโดยการอาศัยความสมัครใจของคู่สัญญาเป็นสำคัญ นอกจากนี้ในเรื่องอายุความในการใช้สิทธิเรียกร้องที่แม้กำหนดไว้เพียง 9 เดือนก็เพื่อเร่งรัดให้มีการฟ้องร้องเพื่อที่ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องจะได้มีเวลาเหลือพอจะไปฟ้องไล่เบี้ยเอาจากผู้ขนส่งในรูปแบบต่างๆ ที่ตนได้ใช้บริการในการปฏิบัติตามสัญญาขนส่งต่อเนื่อง แต่ก็มีบางเรื่องที่ผู้เขียนเห็นว่าหลักเกณฑ์ยังไม่เหมาะสมเพียงพอ ควรอย่างยิ่งที่จะต้องแก้ไขเพิ่มเติมให้สมบูรณ์แบบและเป็นที่ยอมรับของสากลได้มากขึ้น

จากข้อสรุปดังกล่าว ผู้เขียนจึงมีข้อเสนอแนะที่จะแก้ไขหลักเกณฑ์ของพระราชบัญญัติการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ. 2548 โดยนำอนุสัญญาRotterdam Rules มาเป็นแม่แบบในการแก้ไขไม่ว่าในเรื่องข้อยกเว้นความรับผิดที่ควรเพิ่มเติมมาตรา 3 อีกประการคือการช่วยชีวิตหรือพยายามช่วยชีวิตในทะเล มาตรการที่เหมาะสมในการช่วยหรือพยายามช่วยทรัพย์สินในทะเลและมาตรการที่เหมาะสมที่จะหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการทำลายสิ่งแวดล้อมซึ่งเหล่านี้ถือเป็นเรื่องมนุษยธรรมที่ควรจะให้ความคุ้มครองแก่ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องและควรแก้ไขนิยามการส่งมอบชักช้าในมาตรา 21ให้รวบรัดง่ายต่อการปฏิบัติยิ่งขึ้นโดยให้เหลือเพียงกรณีที่มีการตกลงกำหนดเวลาส่งมอบไว้อย่างชัดแจ้งและผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องไม่ได้ส่งมอบของภายในกำหนดเวลานั้นเท่านั้นและในเรื่องจำนวนเงินการจำกัดความรับผิดในกรณีส่งมอบชักช้าที่ควรให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องมากขึ้นโดยกำหนดให้รับผิดเพียงไม่เกินค่าระวางแห่งสินค้าที่ส่งมอบชักช้าเท่านั้นและในเรื่องข้อยกเว้นการจำกัดความรับผิดก็ควรให้ความคุ้มครองเพิ่มเติมแก่ผู้ขนส่งจริง หรือบุคคลอื่นซึ่งกระทำการหรือดำเนินการใดๆตามหน้าที่ของผู้ขนส่งตามสัญญาขนส่ง บุคคลผู้กระทำตามคำสั่งหรือบุคคลที่ผู้ขนส่งได้เรียกร้องให้กระทำการหรืออยู่ในความควบคุมด้วยรวมถึงการให้ความสำคัญกับการใช้ข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์แทนเอกสารการขนส่งมากขึ้นด้วยการแก้ไขนิยามใบตราส่งต่อเนื่องให้หมายความรวมถึงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์อันเป็นการสร้างทางเลือกใหม่แก่คู่สัญญาให้ได้รับความสะดวกมากยิ่งขึ้น

DOWNLOAD : ผลกระทบของพระราชบัญญัติการขนส่งต่อเนื่อง หลายรูปแบบ พ.ศ. 2548 ที่เกิดจากหลักเกณฑ์ของอนุสัญญาว่าด้วยสัญญาเพื่อการขนส่งของระหว่างประเทศโดยทางทะเลทั้งหมดหรือบางส่วน ค.ศ. 2009