Study of voltage stability in power system when connected wind turbine generators

โดย ก่อเกียรติ  อ๊อดทรัพย์

ปี 2552

บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์นี้เป็นการนำเสนอการศึกษาเสถียรภาพแรงดันในระบบไฟฟ้าที่เชื่อมโยงกับกังหันลมผลิตไฟฟ้า โดยใช้โปรแกรม UWPFLOW เป็นเครื่องมือหาค่าองค์ประกอบโหลดสูงสุดของระบบก่อนถึงสภาวะแรงดันพังทลาย วิทยานิพนธ์นี้นำเสนอระบบ IEEE 14 Bus เพื่อวิเคราะห์หาตำแหน่งการติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้า วิเคราะห์เสถียรภาพแรงดันไฟฟ้าในระบบที่เชื่อมโยงกับกังหันลมผลิตไฟฟ้าที่ใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าแตกต่างกัน 2 ชนิด ได้แก่ เครื่องกำเนิดไฟฟ้าเหนี่ยวนำแบบกรงกระรอก และ เครื่องกำเนิดไฟฟ้าเหนี่ยวนำแบบป้อนสองทาง ผลของความเร็วลมต่อเสถียรภาพแรงดันในระบบ และ การปรับปรุงเสถียรภาพแรงดันในระบบที่เชื่อมโยงกับกังหันลมผลิตไฟฟ้าโดยใช้อุปกรณ์ชดเชยกำลังไฟฟ้าชนิด SVC และ STATCOM

ผลการศึกษาของวิทยานิพนธ์พบว่าค่าองค์ประกอบโหลดสูงสุดของระบบ IEEE 14 Bus ก่อนติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้ามีค่าเท่ากับ 0.70398 p.u ตำแหน่งติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้าที่ทำให้ระบบมีเสถียรภาพสูงที่สุดคือ บัสที่ 14 ค่าองค์ประกอบโหลดสูงสุดของระบบเมื่อติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำหรับกังหันลมผลิตไฟฟ้าชนิดเหนี่ยวนำแบบกรงกระรอก และ เครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำหรับกังหันลมผลิตไฟฟ้าชนิดเหนี่ยวนำแบบป้อนสองทาง มีค่าเพิ่มขึ้น 4.24% และ 11.24% ตามลำดับ และ การติดตั้งอุปกรณ์ชดเชยกำลังไฟฟ้ายืดหยุ่นในระบบที่เชื่อมโยงกับกังหันลมผลิตไฟฟ้าพบว่า STATCOM สามารถเพิ่มเสถียรภาพแรงดันได้สูงกว่า SVC คือ มีค่าองค์ประกอบโหลดสูงสุดของระบบเพิ่มขึ้น 56.33% และ 53.28% เมื่อติดตั้งในระบบที่เชื่อมโยงกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำหรับกังหันลมผลิตไฟฟ้าชนิดเหนี่ยวนำแบบกรงกระรอก และ เครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำหรับกังหันลมผลิตไฟฟ้าชนิดเหนี่ยวนำแบบป้อนสองทาง ตามลำดับ   วิทยานิพนธ์นี้จึงมีประโยชน์โดยตรงต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้ากำลัง

Download : Study of voltage stability in power system when connected wind turbine generators